การทางพิเศษฯ จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Opinion hearing) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
วันนี้ (16 ธันวาคม พ.ศ. 2567) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Opinion hearing) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ข้อมูลสาระสำคัญของโครงการแก่นักลงทุน ประเมินความสนใจและสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะจากนักลงทุนและผู้เกี่ยวข้อง
นำไปประกอบการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยมี นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ (ยุทธศาสตร์และแผน) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นประธานในเปิดการสัมมนา ณ ห้องคาร์ลตัน แกรนด์ บอลรูม ชั้น 9 โรงแรมคาร์ลตัน กรุงเทพฯ สุขุมวิท
นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ (ยุทธศาสตร์และแผน) กล่าวว่า โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมและแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้เดินทางยิ่งขึ้น
แนวเส้นทางโครงการเป็นรูปแบบทางยกระดับตามแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดปลายของทางพิเศษศรีรัช ส่วน D ในปัจจุบัน เป็นทางยกระดับ 2 ฝั่ง แบ่งทิศทาง (ไป-กลับ) ทิศทางละ 2 ช่องจราจร ตั้งอยู่บริเวณเกาะกลางระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และทางบริการ ทั้ง 2 ฝั่ง (ทิศเหนือ-ทิศใต้) มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกผ่านทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์
จากนั้นทางยกระดับด้านทิศเหนือจะเบี่ยงลงมารวมกับทางยกระดับด้านทิศใต้เป็นโครงสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 8.95 กิโลเมตร ผ่านทางแยกต่างระดับทับช้าง ก่อนจะแยกโครงสร้างเป็น 2 ฝั่งของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณจุดตัดถนนร่มเกล้า จากนั้นจะแยกออกจากทางหลักขนาด 2 ช่องจราจร เลี้ยวขวาเข้าเชื่อมทางเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ และทางหลักจะมุ่งหน้าผ่านทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ
จากนั้นลดระดับลงบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 15.8 กิโลเมตร โดยมีจุดเข้า-ออกโครงการ 3 จุด คือ 1) จุดเริ่มต้นโครงการ บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ 2) จุดเชื่อมต่อทางเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ 3) จุุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณหน้า สจล. และมีด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษตั้งอยู่บนโครงสร้างทางยกระดับทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออก บริเวณทางแยกต่างระดับร่มเกล้า โดยจัดเก็บค่าผ่านทางระบบเปิด แบบใช้พนักงาน (MTC) และแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ETC) ร่วมกัน
สำหรับ มูลค่าการลงทุนของโครงการ ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง ค่าออกแบบ ค่าควบคุมงาน รวมทั้งหมดประมาณ 20,701 ล้านบาท โดยมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) ของโครงการ เท่ากับ ร้อยละ 14.04 และผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) ของโครงการ เท่ากับ ร้อยละ 5.86
ทั้งนี้ กทพ. เห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของเอกชนในการดำเนินโครงการ ทางพิเศษ จึงเปิดโอกาสให้เอกชน เข้าร่วมทุนในโครงการ โดยรัฐจะรับผิดชอบงาน จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเอกชนจะรับผิดชอบงานออกแบบ และก่อสร้างงานโยธาของโครงการ รวมทั้งติดตั้งงานระบบทางพิเศษ รวมถึงดำเนินงานและบำรุงรักษา พร้อมจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง และบริหารจัดการ
ในวันนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่การทางพิเศษฯ ได้จัดการสัมมนาขึ้น เพื่อให้ภาคธุรกิจเอกชน กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มนักลงทุน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และสมาคมการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ เพื่อที่การทางพิเศษฯ จะได้นำความคิดเห็นของทุกภาคส่วนไปประกอบการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป