กยท.และ MRB ผนึกกำลังลงนามความร่วมมือ การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราและด้านเศรษฐกิจให้ยั่งยืน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประเทศไทย และ กระทรวงการเพาะปลูกและสินค้าโภคภัณฑ์ (Ministry of Plantation and Commodities) โดย Malaysian Rubber Board (MRB) ประเทศมาเลเซีย ลงนามความร่วมมือในเวทีการประชุมระดับนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราและด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้ยั่งยืน ณ เมืองปูตราจายา ประเทศมาเลเซีย
ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผู้นำรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซีย มีนโยบายในการพัฒนาด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศในด้านยางพารา ในฐานะประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลก และประเทศมาเลเซียเป็นผู้นำในการผลิตอุตสาหกรรมถุงมือยางและส่งออกในตลาดโลก เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมยางพาราของทั้งสองประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย และกระทรวงการเพาะปลูกและสินค้าโภคภัณฑ์ (Ministry of Plantation and Commodities)
โดย Malaysian Rubber Board (MRB) ได้มีการเจรจาและดำเนินการลงนามความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราและด้านเศรษฐกิจให้ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริม การพัฒนา การวิจัยและการบริหารจัดการผลผลิตให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากล ตลอดจนการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และหวังว่าทั้งสองประเทศจะเป็นผู้นำอาเซียนในการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมยางพาราให้เกิดความมั่นคงและ ยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานสินค้ายางพารา
“ประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เป็นกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติของโลก และมีความได้เปรียบในพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีในด้านการค้าชายแดน ซึ่งมาเลเซีย ยังมีความต้องการนำเข้าผลผลิตยางธรรมชาติจากประเทศไทยค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำยางสดและน้ำยางข้น เฉลี่ยปีละ 300,000 ตัน ในการนำเข้าสู่อุตสาหกรรมถุงมือยาง และอุตสาหกรรมอื่นๆ ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างประเทศของทั้งสองหน่วยงาน จะเป็นการขับเคลื่อนในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน และ ที่สำคัญช่วยส่งเสริมและยกระดับสินค้ายางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ให้สามารถเติบโตและขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เช่นกัน”
นายสุขทัศน์ ต่างวิริกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า การยางแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านยางพาราทั้งระบบของประเทศไทย และ Malaysia Rubber Board (MRB) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านยางพาราของประเทศมาเลเซีย ได้มีการเจรจาหารือร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนการค้าไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการยางแห่งประเทศไทย(ดร.เพิก เลิศวังพง) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเพาะปลูกและสินค้าโภคภัณฑ์มาเลเซีย (Datuk Seri Johari Abdul Ghani) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 และคณะผู้บริหารของ Malaysia Rubber Board ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อเจรจาและสร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการผลผลิตยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการอุตสาหกรรมในการสร้างความมั่นคงในระยะยาว เพื่อประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค
ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวกับยางพาราในด้านการผลิตและอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าประเภทน้ำยางสดและน้ำยางข้น ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกหลักของสินค้าดังกล่าวให้กับประเทศมาเลเซียสำหรับป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมถุงมือยาง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมาเลเซียเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี และปัจจุบัน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมถุงมือยางให้มีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
โดยคาดว่า ประเทศมาเลเซียจะมีการใช้ปริมาณยางธรรมชาติในอุตสาหกรรมถุงมือยางที่เพิ่มมากขึ้นและเน้นการตรวจสอบย้อนกลับของแหล่งที่มาของสินค้าตามความต้องการของโลก (Demand Driven) จึงเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับสินค้ายางพารา พร้อมทั้ง ช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง และมีความสามารถการบริหารจัดการผลผลิตที่มีคุณภาพให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ความพยายามของทั้งการยางแห่งประเทศไทย และ Malaysia Rubber Board (MRB) ได้สัมฤทธิ์ผลในการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (MOU : FOR DEVELOPMENT OF RUBBER INDUSTRY AND ECONOMIC COOPERATION) โดยขอขอบคุณรัฐบาลไทย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย และ ดาโต๊ะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซีย ให้เกียรติเป็นสักขีพยานในความร่วมมือครั้งนี้
ภายใต้การเยือนและการเจรจาของการประชุมระดับนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ กยท. พร้อมเดินหน้าร่วมกับ MRB ในการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายด้านความมั่นคงและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของสินค้ายางพาราให้เป็นรูปธรรม โดยทั้งสองฝ่ายจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อให้การลงนามความร่วมมือบันทึกความเข้าใจระหว่างสองหน่วยงานบรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป”