PQS ผนึกพันธมิตรลุยจัดงาน Field Day สกลนคร 31 ต.ค.นี้ เดินหน้าถ่ายทอดเทคโนโลยีหวังเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง
พรีเมียร์ ควอลิตี้ สตาร์ช รวมพันธมิตร 'คูโบต้า-อายิโนะโมะโต๊ะ -หน่วยงานภาครัฐ -สถาบันการศึกษา -ภาคีที่เกี่ยวข้อง' เร่งสนับสนุนการปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกร 'เปิดงาน Field Day วันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่' ดีเดย์ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ที่จังหวัดสกลนคร หวังส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักถึงการผลิตมันสำปะหลังคุณภาพ
พร้อมจัดกิจกรรมประกวดหัวมันสำปะหลัง-นิทรรศการสินค้า-โชว์นวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ตั้งเป้าหมายเกษตรกรเข้าร่วมปีนี้ไม่ต่ำกว่า 230 ราย เพื่อเสริมสร้างฐานการผลิตมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ
นายรัฐวิรุฬห์ ชาญจึงถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรีเมียร์ ควอลิตี้ สตาร์ช จำกัด (มหาชน) หรือ PQS ผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลังชั้นพิเศษ (Premium Grade) และแป้งดัดแปร (Modified Starch) เปิดเผยว่าในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 บริษัทจะจัดงาน Field Day หรืองาน 'วันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลใหม่'ณ ลานอเนกประสงค์ PQS 2012 สกลนคร
ในการจัดงาน Field Day ที่จังหวัดสกลนครครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของ PQS นับตั้งแต่ก่อตั้งโรงงานเมื่อปี 2555 โดยมีพันธมิตรตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมกับบริษัทมากถึง 20 หน่วยงานด้วยกัน โดยมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษา ขณะที่ภายในงาน Field Day
นอกจากบูทของ PQS แล้ว จะมีหน่วยงานที่เป็นพันธมิตรธุรกิจมาร่วมเปิดบูท ประกอบด้วย บริษัท คูโบต้า ประเทศไทย จำกัด บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท Sojitz จำกัด และ และศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สกลนคร รวมทั้งได้รับเกียรติจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง มาเป็นประธานในการเปิดงาน และยังได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องของจังหวัดสกลนครด้วย
“วัตถุประสงค์ในการจัดงาน Field Day ในครั้งนี้ หลักๆ ก็เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสกลนครกับบริษัทมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมความสนใจให้เกษตรกรตระหนักถึงการผลิตมันสำปะหลังคุณภาพ และผนึกกำลังภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการปลูกมันอย่างจริงจัง เนื่องจากมันสำปะหลังของภาคอีสานถือเป็น พืชเศรษฐกิจที่สำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ” นายรัฐวิรุฬห์กล่าว
สำหรับ ธีมและกิจกรรมภายในงาน หลักๆ จะมี 4 ส่วนด้วยกัน เพื่อให้เกษตรกรมีส่วนร่วมด้วย คือการจัดประกวดมันสำปะหลัง โดยเกณฑ์ตัดสินวัดจากมูลค่าของหัวมัน (น้ำหนัก % เชื้อแป้ง และราคาซื้อขาย ณ วันนั้น) ขณะที่ในส่วนฐานเรียนรู้ จะแบ่งออกเป็น 4 ฐาน ประกอบด้วย ฐานการจัดการศัตรูพืชและโรคพืช และการปรับปรุงดิน โดยส่วนราชการของสำนักงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทีมนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านงานอารักขาพืชและการพัฒนาที่ดิน ฐานพันธุ์สำปะหลัง
โดยคณาจารย์และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฐานเครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับการผลิตมันสำปะหลังแบบครบวงจร โดยบริษัทตัวแทนจำหน่ายคูโบต้าประจำเขตพื้นที่ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของคูโบต้าจากส่วนกลาง และฐานการจัดการและเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังและธนาคารต้นไม้ โดย PQS ส่วนการจัดนิทรรศการสินค้า จะมีทั้งส่วนการผลิตของทาง PQS นิทรรศการของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผลิตผลและองค์ความรู้จากภาคีเครือข่ายและเกษตรกร ขณะที่โซนนวัตกรรมเครื่องจักรกล จะจัดแสดงนวัตกรรมและเครื่องทุ่นแรงฟาร์มสำหรับการปลูกมันสำปะหลัง
“การจัดงาน Field Day ในวันที่ 31 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 ของ PQS หลังจากเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 เราได้จัดงาน Field Day ที่จังหวัดมุกดาหารไปแล้ว ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากเกษตรกรและพันธมิตรรวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่ายภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ขณะที่มีเกษตรกรเข้าร่วมงานมากกว่า 300 ราย ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะมีเกษตรกรที่เป็นพันธมิตรที่ส่งมอบมันสำปะหลังให้กับบริษัทเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 230 ราย”นายรัฐวิรุฬห์กล่าว
กลุ่มบริษัท PQS เป็นผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลัง และ แป้งมันสำปะหลังโมดิฟายด์ ด้วยวัตถุดิบหัวมันสำปะหลังที่มีคุณภาพจากพื้นที่ในจังหวัดสกลนครและพื้นที่ใกล้เคียง และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตแป้งมันสำปะหลังมาร่วม 20 ปี ที่ PQS ได้ทำหน้าที่ต่อเนื่องจากมันสำปะหลังในไร่ของพี่น้องเกษตรกร ช่วยกันนำเงินตรากลับเข้าสู่ประเทศ โดยสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัทกว่าปีละ 75,000 ตัน เพื่อส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 80 และพร้อมมุ่งมั่นเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องในระดับอาเซียนต่อไป
เพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถด้านการผลิตมันสำปะหลัง ทางกลุ่มบริษัท PQS พร้อมทั้งภาคีจึงได้ร่วมผนึกจุดแข็งและนวัตกรรมเพื่อเสนอแนวทางที่จะนำไปสู่การเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน ร่วมสร้างพื้นที่เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการใช้เครื่องจักรการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต ส่งเสริมให้มีการใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมถึงความรู้ในการบริหารจัดการแปลงอย่างถูกวิธีต่อช่วงอายุต่างๆของการปลูกมันสำปะหลัง และระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม จนเป็นวัตถุดิบมันสำปะหลังที่มีคุณภาพ
การจัดงานครั้งนี้ มี PQS ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยง ผนึกกำลังระหว่างเกษตรกร หน่วยงานรัฐ ภาคีภาคเอกชน ผ่านกระบวนการสาธิตการใช้เครื่องจักรกลเกษตร และด้านนวัตกรรมในการจัดการระบบการเพาะปลูกมันที่เหมาะสม เป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกร
และได้มีวัตถุดิบคุณภาพดีที่พอเพียงต่อการผลิตแป้งมันสำปะหลังของไทย และภาคีความร่วมมือนี้ ยังคงมุ่งมั่นรวมพลังยืนหยัดร่วมกันกับพี่น้องเกษตรกรเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้ยั่งยืนต่อไป