ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ วัตถุประสงค์ และขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการของสหกรณ์แต่ละประเภทที่จะรับจดทะเบียน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ วัตถุประสงค์ และขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการของสหกรณ์แต่ละประเภทที่จะรับจดทะเบียน พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ เป็นการกำหนดลักษณะของสหกรณ์ที่จะรับจดทะเบียนวัตถุประสงค์ และขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์แต่ละประเภท ที่ออกตามความในมาตรา 33/1 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ดังนี้
1. กำหนดลักษณะของสหกรณ์ที่จะรับจดทะเบียน วัตถุประสงค์ และขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์แต่ละประเภท โดยแบ่งเป็น 7 หมวด สรุปดังนี้
1) หมวด 1 สหกรณ์การเกษตร จัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบอาชีพหลักทางเกษตรกรรม ภายในพื้นที่อำเภอเดียวกัน เว้นแต่มีเหตุอันสมควร อาจจัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบอาชีพหลักทางเกษตรกรรมซึ่งอยู่ต่างพื้นที่กันได้ โดยมีวัตถุประสงค์ที่กำหนด เช่น ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ การผลิต การค้า การบริการ และอุตสาหกรรมทางการเกษตรอันจำเป็นในการประกอบอาชีพและการดำรงชีพ แก้ไขปัญหาและพัฒนาการประกอบอาชีพ ส่งเสริมการออม ส่งเสริมและเผยแพร่อาชีพเกษตรกรรม หัตถกรรม และอุตสาหกรรมในครัวเรือนหรือการประกอบอาชีพอย่างอื่นที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม และดำเนินกิจการภายใต้ขอบเขตที่กำหนด เช่น จัดหาทุน ฝากเงิน จัดให้มีเงินกู้ สินเชื่อ จัดให้มีบริการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการทางการเกษตร
2) หมวด 2 สหกรณ์ประมง จัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบอาชีพหลักทางการประมงที่เกี่ยวกับการจับสัตว์น้ำ การเลี้ยงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยมีวัตถุประสงค์ที่กำหนด เช่น ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ การผลิต การค้า และการบริการอันจำเป็นในการประกอบอาชีพหลักทางการประมงและการดำรงชีพ แก้ไขปัญหาและพัฒนาการประกอบอาชีพ ส่งเสริมการออม ส่งเสริมและเผยแพร่อาชีพการประมง อุตสาหกรรมในครัวเรือนหรือการประกอบอาชีพอย่างอื่นที่เกี่ยวกับการประมง และดำเนินกิจการภายใต้ขอบเขตที่กำหนด เช่น จัดหาทุน ฝากเงิน จัดให้มีเงินกู้ สินเชื่อ จัดให้มีบริการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการทางการประมง
3) หมวด 3 สหกรณ์นิคม จัดตั้งขึ้นในเขตนิคมสหกรณ์ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ หรือในพื้นที่ที่หน่วยงานภาครัฐกำหนด เพื่อให้สมาชิกได้รับที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ที่กำหนด เช่น แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินเพื่อใช้ในการทำกินและเป็นที่อยู่อาศัย รวมทั้งพัฒนาการประกอบอาชีพของสมาชิก ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ การผลิต การค้า และการบริการ อันจำเป็นในการประกอบอาชีพหลักและการดำรงชีพ ส่งเสริมการออมของสมาชิก และดำเนินกิจการภายใต้ขอบเขตที่กำหนด เช่น จัดหาทุน ฝากเงิน ครอบครองและจัดที่ดินให้สมาชิกใช้เป็นที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพโดยการเช่า หรือการเช่าซื้อ พัฒนาหมู่บ้าน การคมนาคม บริการสาธารณะต่างๆ ตลอดจนพัฒนาที่ดิน เพื่อให้เกิดความสะดวกและเหมาะสมในการใช้งาน
4) หมวด 4 สหกรณ์ร้านค้า จัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของคณะบุคคลเพื่อจัดหาและรวบรวมสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของสมาชิกเพื่อจำหน่าย โดยต้องไม่มีลักษณะเป็นธุรกิจขายตรงหรือธุรกิจอื่นในลักษณะเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์ที่กำหนด เช่น แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าอันจำเป็นร่วมกัน ส่งเสริมและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมธุรกิจการค้า และดำเนินกิจการภายใต้ขอบเขตที่กำหนด เช่น จัดหาทุน ฝากเงิน จัดให้มีเงินกู้ สินเชื่อ ให้บริการเป็นตัวแทนของผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน
5) หมวด 5 สหกรณ์บริการ จัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของผู้มีอาชีพหลักอย่างเดียวกัน หรือผู้ที่มีความต้องการรับบริการด้านเดียวกัน ดังต่อไปนี้
ก. ผู้มีอาชีพหลักอย่างเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกัน นอกเหนือจากผู้ประกอบอาชีพหลักทางเกษตรกรรมหรือทางการประมง เพื่อดำเนินกิจการร่วมกันที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพของสมาชิก และต้องไม่เป็นการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อดำเนินกิจการทางการเงินเพียงอย่างเดียว
ข. ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันภายในพื้นที่จังหวัดเดียวกันที่มีความต้องการรับบริการอย่างเดียวกัน เพื่อดำเนินกิจการร่วมกันในการให้บริการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิก หรือเป็นผู้ที่มีความเดือดร้อนเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง เพื่อดำเนินกิจการร่วมกันในการจัดหาหรือจัดสรรที่ดิน หรือที่อยู่อาศัยโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือใช้ที่ดินที่รัฐหรือเอกชนยกให้ เพื่อให้สมาชิกได้มีที่อยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง
โดยมีวัตถุประสงค์ที่กำหนด เช่น ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ การผลิต การค้า และการบริการอันจำเป็นในการประกอบอาชีพหลักและการดำรงชีพ ส่งเสริมการออม แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนตามความต้องการในการรับบริการร่วมกันของสมาชิก และดำเนินกิจการภายใต้ขอบเขตที่กำหนด เช่น จัดหาทุน ฝากเงิน จัดให้มีเงินกู้ สินเชื่อ ดำเนินงานของสหกรณ์ที่มีสมาชิกอาชีพหลักด้านเดียวกัน หรือสมาชิกที่มีความต้องการรับบริการด้านเดียวกัน
6) หมวด 6 สหกรณ์ออมทรัพย์ จัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของบุคคลที่ประกอบอาชีพหลักในสังกัดหน่วยงาน องค์กร หรือสถานประกอบการเดียวกันหรือในเครือเดียวกัน และเป็นผู้มีเงินได้รายเดือนหรือเงินได้ประจำที่หน่วยงานต้นสังกัดหรือนายจ้างในสถานประกอบการสามารถหักเงิน ณ ที่จ่ายส่งให้แก่สหกรณ์ได้ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด เช่น ส่งเสริมการออม ให้บริการทางการเงิน และดำเนินกิจการภายใต้ขอบเขตที่กำหนด เช่น จัดหาทุน ฝากเงิน จัดให้มีเงินกู้ สินเชื่อ
7) หมวด 7 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ดังต่อไปนี้
ก. ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนเดียวกันหรือชุมชนใกล้เคียงกัน ภายในพื้นที่อำเภอเดียวกัน
ข. ผู้ประกอบอาชีพหลักเดียวกันหรืออยู่ในสังกัดหน่วยงาน องค์กร หรือสถานประกอบการเดียวกัน แต่ไม่มีเงินได้ประจำหรือมีรายได้ไม่แน่นอน หรือหน่วยงานต้นสังกัดไม่สามารถหักเงิน ณ ที่จ่ายส่งให้แก่สหกรณ์ได้
ค. กลุ่มบุคคลในพื้นที่จังหวัดเดียวกันที่มีความเชื่อมโยงกันตามวงสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งทางสังคม และมีการพบปะหรือทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ
โดยมีวัตถุประสงค์ที่กำหนด เช่น ส่งเสริมการออม ให้บริการทางการเงิน และดำเนินกิจการภายใต้ขอบเขตที่กำหนด เช่น จัดหาทุน ฝากเงิน จัดให้มีเงินกู้ สินเชื่อ ดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์
2. กำหนดให้สหกรณ์ประเภทอื่นนอกจากสหกรณ์ร้านค้าที่ประสงค์จะดำเนินการให้บริการเป็นตัวแทนของผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ (อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์) โดยสหกรณ์ดังกล่าวต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงินอย่างเคร่งครัด
3. กำหนดลักษณะชื่อของสหกรณ์ที่จะรับจดทะเบียน รวมถึงลักษณะชื่อที่ไม่สามารถรับจดทะเบียน เช่น ต้องไม่ซ้ำกับชื่อของสหกรณ์อื่นซึ่งได้รับจดทะเบียนไว้ก่อน ไม่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” ไว้ท้ายชื่อหรือเป็นส่วนหนึ่งของชื่อ รวมทั้งไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายอื่น ไม่คล้ายหรือสอดคล้องกับสถาบัน องค์กร หรือหน่วยงาน ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต้นสังกัดของสมาชิก
4. กำหนดบทเฉพาะกาล เช่น 1) หากสมาชิกรายใดมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ แต่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อบังคับสหกรณ์ที่ใช้อยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับให้ยังคงเป็นสมาชิกของสหกรณ์นั้นต่อไปได้ และ 2) กิจการของสหกรณ์ที่ได้ดำเนินการอยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นการดำเนินกิจการของสหกรณ์ตามกฎกระทรวงนี้ ทั้งนี้ กรณีการดำเนินกิจการของสหกรณ์ที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นอำนาจของนายทะเบียนสหกรณ์พิจารณาเป็นรายกรณี
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 12 พฤศจิกายน 2567
11342