หมวดหมู่: กลต.

SEC


ASEAN Transition Finance Guidance คู่มือจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

โดย ฝ่ายตราสารหนี้

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 

          บทความนี้เป็นตอนที่ 4 ของชุดบทความเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition finance) โดยบทความนี้จะนำเสนอหลักการของ ASEAN Transition Finance Guidance (ATFG) ซึ่งเป็น “คู่มือสำหรับการจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” (transition plan) 

 

          ASEAN Transition Finance Guidance

          หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Market Forum: ACMF) ซึ่งมี ก.ล.ต. เป็นหนึ่งในสมาชิก ได้เปิดตัว ATFG ฉบับที่ 2 ในงานวันครบรอบ 20 ปี ACMF เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดย ACMF มุ่งหวังให้บริษัทนำ ATFG ไปใช้อ้างอิงในการจัดทำ transition plan ของบริษัท เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ มีองค์ประกอบที่ครบถ้วนสอดคล้องกับมาตรฐานและคู่มือด้าน Transition finance ต่างๆ ในระดับสากล ตลอดจนได้มีกลไกที่ยืดหยุ่นรองรับกับบริบทของภูมิภาคและอุตสาหกรรม และคำนึงถึงระดับความพร้อมที่แตกต่างกันของแต่ละบริษัทโดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) 

 

          Transition plan ควรจะมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นใดบ้าง?

          องค์ประกอบของ transition plan ที่กำหนดไว้ใน ATFG มีหัวข้อที่สอดคล้องกับมาตรฐานหรือคู่มือต่างๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น Climate Transition Handbook ของ International Capital Market Association (ICMA), Guidance on Transition Finance ของ The Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) และ Expectations for Real-economy Transition Plans ของ The Glasgow Financial Alliance for Net Zero (GFANZ) อย่างไรก็ดี ATFG จะมีรายละเอียดมากกว่า รวมถึงมีความยืดหยุ่นกว่าในบางจุด เพื่อให้เหมาะกับบริบทของภูมิภาค และอำนวยความสะดวกในการนำไปใช้จริง 

          ATFG กำหนดว่า transition plan ที่น่าเชื่อถือ ควรมีองค์ประกอบสำคัญตาม 2 หัวข้อหลัก คือ เป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความท้าทาย (Climate ambition) และ ความสามารถในการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย (Robustness of ability to deliver) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

 

1. เป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความท้าทาย (Climate ambition)

1.1 Current state assessment (ประเมินสถานะปัจจุบัน)

 

(1) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน โดยครอบคลุมขอบเขต (scope) ที่ 1 และ 2 รวมถึง scope 3 หากมีการปล่อยก๊าซใน scope 3
ในสัดส่วนที่สูงมาก (material) และ (2) เปิดเผยข้อมูลการนำคาร์บอนเครดิตมาใช้ (หากมี)

1.2 Transition pathway (เส้นทางการเปลี่ยนผ่าน/การลดก๊าซเรือนกระจก)

 

เส้นทางการลดก๊าซเรือนกระจก (pathway) ที่นำมาใช้อ้างอิง หรือ reference pathway จะต้องเป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ (science-based) และสอดคล้องกับเป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีส* โดยสามารถใช้ pathway ที่หน่วยงานต่างๆ ได้จัดทำขึ้นและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น International Energy Agency (IEA) Network for Greening the Financial System (NGFS) หรือ Science Based Targets Initiative (SBTi) เป็นต้น

นอกจากนี้ ATFG ยังเพิ่มความยืดหยุ่น โดยแนะนำแนวทางในการปรับ reference pathway (augmentation) เพื่อให้สอดรับกับบริบทของธุรกิจตนเองมากขึ้น เช่น ปรับให้ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 1 scope ปรับให้ครอบคลุมก๊าซเรือนกระจกประเภทอื่นๆ นอกจากคาร์บอน และ ปรับ pathway ให้สะท้อนลักษณะของภูมิภาค

* การควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส (well below 2oC) และพยายามจำกัดไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (1.5oC) เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม

1.3 Transition targets (เป้าหมายในการเปลี่ยนผ่าน/การลดก๊าซเรือนกระจก)

 

เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของบริษัทที่สอดรับกับ pathway ที่นำมาใช้อ้างอิงตาม 1.2 ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยควรระบุรายละเอียดอย่างชัดเจนสำหรับเป้าหมายระยะสั้นถึงระยะกลาง ว่าจะลดก๊าซลงเท่าไร และมีการดำเนินการอย่างไรเพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

2. ความสามารถในการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย (Robustness of ability to deliver)
2.1 Implementation strategy (แผนกลยุทธ์)  

แผนกลยุทธ์ควรจะต้องครอบคลุมตั้งแต่แผนการดำเนินงาน แผนการจัดสรรงบประมาณ การประเมินความเสี่ยงที่อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายและมาตรการรับมือ การติดตามประเมินผลความคืบหน้า และกลไกในการบริหารจัดการและการกำกับดูแล (governance) เพื่อสร้างความมั่นใจว่ามีแนวทางดำเนินการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

2.2 Disclosure
(
การเปิดเผยข้อมูล)
  เปิดเผยข้อมูลตาม 1 และ 2 อย่างน้อยปีละครั้ง หรือเมื่อมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ในกรณีที่ข้อมูลบางส่วนมีความอ่อนไหวหรือเป็นความลับ บริษัทสามารถเปิดเผยเพียงหลักการในภาพกว้างต่อสาธารณะได้ ส่วนรายละเอียดในเชิงลึกอาจจะเปิดเผยต่อผู้ประเมินอิสระและผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
2.3 Independent verification (ผู้ประเมินอิสระ)   ส่งเสริมให้มีการแต่งตั้งผู้ประเมินอิสระมาทวนสอบทั้งข้อมูลที่เปิดเผยใน transition plan และข้อมูลความคืบหน้ารายปีหรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส
2.4 Just transition considerations (คำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม)   การดำเนินงานตาม transition plan เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ต้องไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านอื่นๆ (เช่น ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการขยะ และการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน) และต่อสังคม (เช่น แรงงาน และผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบโครงการ)

 

          นอกจากนี้ ATFG ยังแนะนำแนวทางในการนำ Taxonomy และ Technology Roadmap for Transition Finance (Technology Roadmap) มาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการอ้างอิงร่วมกันในการจัดทำ transition plan ด้วย (สามารถคลิกอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือดังกล่าวเพิ่มเติมได้ที่ชุดบทความ Transition finance) ดังนี้ 

          (1) ประเมินสถานะปัจจุบันของโครงการ ว่ามีสถานะอยู่ในระดับใดของ Taxonomy (เขียว เหลือง แดง) หรือเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ใน Technology Roadmap หรือไม่ 

          (2) วางแผนงานในอนาคต เนื่องจากทั้ง 2 เครื่องมือข้างต้นมีการกำหนดกรอบเวลาไว้ให้ต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ระดับที่ดีขึ้น หรือปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่สะอาดมากขึ้น บริษัทจึงสามารถนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ในการวางแผน เช่น การกำหนดเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระดับที่ดีขึ้น การคัดเลือกเทคโนโลยีหรือโครงการที่จะลงทุน การประเมินความเสี่ยงในกรณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด

 

          การจัดกลุ่ม transition plan

          เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ในอาเซียนโดยเฉพาะ SME ยังมีข้อจำกัดในการจัดทำ transition plan ให้มีข้อมูลครบถ้วนและสอดรับกับเป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีส ทาง ACMF จึงมีแนวคิดในการจัดกลุ่ม transition plan ของบริษัทออกเป็น 3 ระดับ (ดังภาพด้านล่าง) ได้แก่ Tier 1 : Aligned and aligning – 1.5oC Tier 2 : Aligned and aligning – Well below 2oC และ Tier 3 : Progressing เพื่อให้บริษัทส่วนใหญ่ในอาเซียน ซึ่งอาจยังอยู่ใน Tier 3 สามารถนำ ATFG ไปใช้อ้างอิงได้จริง ในการสื่อสารให้ผู้ลงทุนเห็นถึงความพยายามที่จะเปลี่ยนผ่านอย่างโปร่งใสและน่าเชื่อถือ เพื่อดึงดูดเงินทุนสำหรับเปลี่ยนผ่านธุรกิจของตนเองไปสู่ Tier ที่สูงขึ้นได้ในอนาคต โดย ACMF เชื่อว่า บริษัทในทุก Tier ล้วนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต

 

          แนวคิดในการจัดกลุ่ม transition plan ของบริษัท

 

12615 SEC

 

          ก.ล.ต. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะทำให้เห็นภาพองค์ประกอบสำคัญของ transition plan มากยิ่งขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญในการจัดสรรเงินทุนไปยังบริษัทที่มีความพร้อมในระดับที่แตกต่างกัน โดยในตอนต่อไป จะเล่าถึงเครื่องมือทางการเงินที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับ Transition finance และตัวอย่างของการออก transition bond ในต่างประเทศ

 

 

12615

Click Donate Support Web 

MTI 720x100

Banner GPF720x100 PXTOA 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

SME720x100 2024

CKPower 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100pxAXA 720 x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!