ร่างกฎกระทรวงความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญ
ร่างกฎกระทรวงความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ พ.ศ. .... เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตและผู้มีไว้ในครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ต้องปฏิบัติ มีสาระสำคัญ ดังนี้
หลักเกณฑ์ |
รายละเอียด |
|
1. คำนิยาม |
● “สถานประกอบการทางนิวเคลียร์” ให้หมายความรวมถึง สถานที่จัดเก็บและสถานที่ประกอบกิจการที่มีวัสดุนิวเคลียร์ ● “การรักษาความมั่นคงปลอดภัย” หมายความว่า การป้องกัน การตรวจจับและการตอบสนองต่อการก่อวินาศกรรม การเข้าถึงโดยมิชอบ การเคลื่อนย้ายหรือการเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบ หรือการกระทำอื่นใดอันมีเจตนากระทำผิดกฎหมายต่อวัสดุนิวเคลียร์ สถานที่จัดเก็บหรือสถานที่ประกอบกิจการ ที่มีวัสดุนิวเคลียร์หรือสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ● “การเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบ” หมายความว่า การลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกงทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หรือการกระทำความผิดอื่นใดเกี่ยวกับทรัพย์ต่อวัสดุนิวเคลียร์ ● “การก่อวินาศกรรม” หมายความว่า การกระทำใดๆ ต่อวัสดุนิวเคลียร์ สถานที่จัดเก็บ หรือสถานที่ประกอบกิจการที่มีวัสดุนิวเคลียร์ หรือสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ โดยเจตนาให้เกิดอันตรายไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ของบุคคลหรือต่อสิ่งแวดล้อม จากการรับรังสีหรือการแพร่กระจายของวัสดุกัมมันตรังสีหรือวัสดุนิวเคลียร์ ● “ผู้รับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้รับใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองหรือใช้วัสดุนิวเคลียร์ตามมาตรา 36(1) และผู้รับใบอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ตามมาตรา 55 ● “ระบบการคุ้มครองทางกายภาพ” หมายความว่า การบูรณาการทั้งด้านบุคลากร วิธีการปฏิบัติ เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อใช้ในการป้องกันการเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบและการก่อวินาศกรรม |
|
2. แผนความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ |
● ต้องระบุสถานการณ์ที่เป็นไปได้โดยพิจารณาจากการประเมินภัยคุกคาม หรือภัยคุกคามที่ออกแบบเพื่อรับมือที่อาจทำให้การเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบ หรือการก่อวินาศกรรมกระทำได้สำเร็จ แผนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระบบการคุ้มครองทางกายภาพและแผนเผชิญเหตุที่สามารถตอบโต้การเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบและการก่อวินาศกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ● ต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าสามารถปฏิบัติตามแผนได้ |
|
3. วิธีการรักษาความมั่นคงปลอดภัย |
● วิธีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสำหรับวัสดุนิวเคลียร์หรือสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่กำหนดไว้ในระบบการคุ้มครองทางกายภาพ ต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ ● ผู้รับใบอนุญาตต้องทบทวนและทดสอบวิธีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินว่าวิธีการดังกล่าวยังคงมีประสิทธิภาพ ● ผู้รับใบอนุญาตต้องดูแลอุปกรณ์และเครื่องมือที่กำหนดไว้ในวิธีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา |
|
4. ระบบการคุ้มครองทางกายภาพ |
● ผู้รับใบอนุญาตต้องออกแบบระบบการคุ้มครองทางกายภาพให้สอดคล้องกับระบบความปลอดภัยเชิงวิศวกรรม โดยคำนึงถึงลักษณะพิเศษของการดำเนินการการป้องกันอัคคีภัย การป้องกันอันตรายจากรังสี และมาตรการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ● ในการออกแบบระบบการคุ้มครองทางกายภาพ ต้องคำนึงถึง - การป้องกันมิให้ผู้ซึ่งประสงค์จะเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบหรือ การก่อวินาศกรรมเข้าถึงเป้าหมาย - การป้องกันมิให้บุคลากรซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์มีโอกาสในการเอาไปซึ่งวัสดุนิวเคลียร์โดยมิชอบหรือการก่อวินาศกรรม - การป้องกันสถานประกอบการทางนิวเคลียร์จากการโจมตีระยะไกล |
|
5. พื้นที่ในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ |
● ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดพื้นที่ในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ (1) พื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด ต้องจัดให้มีการดำเนินการและมาตรการ เช่น มีเครื่องกีดขวางหรืออุปกรณ์ป้องกันการเข้าถึงวัสดุนิวเคลียร์ที่เป็นเอกเทศ มีทางเข้าออกทางเดียว (2) พื้นที่หวงห้าม ต้องจัดให้มีการดำเนินการและมาตรการ เช่น มีเครื่อง กีดขวางอย่างน้อย 2 ชั้น มีทางเข้าออกเท่าที่จำเป็นและมีการรักษาการทุกแห่ง มีการลาดตระเวนตรวจตราเป็นระยะๆ (3) พื้นที่หวงกัน ต้องจัดให้มีการดำเนินการและมาตรการ เช่น มีเครื่องกีดขวางล้อมอยู่โดยรอบ มีระบบสัญญาณเตือนภัยเพื่อเตือนให้ทราบเมื่อมีการเข้าใกล้ |
|
6. สถานีเตือนภัย |
● ต้องตั้งอยู่ในพื้นที่หวงห้าม ● มีหน้าที่เฝ้าระวัง บันทึก และประเมินสัญญาณเตือนภัย ตอบสนองต่อสัญญาณเตือน และติดต่อสื่อสารกับหน่วยกำลังตอบโต้และผู้เกี่ยวข้อง ● ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการทดสอบ ประเมินประสิทธิภาพ และซ่อมบำรุง อุปกรณ์ติดต่อสื่อสารและอุปกรณ์เตือนภัยอย่างสม่ำเสมอเพื่อพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา |
|
7. ผู้มีสิทธิผ่านเข้าออกพื้นที่ในสถานประกอบการนิวเคลียร์ |
● ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการตรวจสอบและตรวจค้นบุคคลที่จะผ่านเข้าพื้นที่หวงกัน เพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรม การเข้าถึงโดยมิชอบ หรือการนำวัสดุ หรืออุปกรณ์ต้องห้ามเข้าไปในพื้นที่หวงกัน ● เพื่อป้องกันการลักลอบนำวัสดุนิวเคลียร์ออกไปจากพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการตรวจค้นบุคคลทุกคนที่ออกจากพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาดอย่างน้อย 2 รอบ ● ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการตรวจสอบสิ่งของที่จะผ่านเข้าไปในพื้นที่หวงกัน และห้ามอนุญาตให้นำสิ่งของใดๆ เข้าไปในพื้นพื้นที่หวงกัน ยกเว้นสิ่งของที่กำหนดไว้แล้วในตารางงานของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และมิใช่สิ่งของต้องห้าม |
|
8.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในสถานประกอบการนิวเคลียร์ |
● ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีมาตรการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กระทบหรืออาจกระทบต่อระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย บัญชีควบคุมวัสดุนิวเคลียร์ และระบบสนับสนุนอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยอย่างน้อยต้องสามารถรับมือได้ตามภัยคุกคามที่ออกแบบเพื่อรับมือ |
|
9. การค้นหาและเอากลับมาซึ่งวัสดุนิวเคลียร์ที่สูญหายหรือถูกเอาไปโดยมิชอบ |
● ผู้รับใบอนุญาตและผู้มีไว้ในครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ต้องจัดให้มีวิธีการที่ทำให้ตรวจพบการสูญหายของวัสดุนิวเคลียร์ได้โดยเร็ว ● ต้องรายงานการสูญหายต่อ ปส. ทันทีที่ทราบถึงการสูญหายหรือถูกเอาไปโดยมิชอบ ● ต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมสำหรับค้นหาวัสดุนิวเคลียร์ที่สูญหายไปโดยเร็ว ● เมื่อพบวัสดุนิวเคลียร์ที่สูญหายหรือถูกเอาไปโดยมิชอบ ให้แจ้ง ปส. ทันทีที่พบ และจัดการดูแลรักษาวัสดุนิวเคลียร์นั้นให้อยู่ในสภาพเดิมในสถานที่ที่พบ ● ต้องให้ความร่วมมือกับสำนักงานและหน่วยงานอื่นของรัฐในการค้นหาและการเอากลับมา รวมถึงการสืบสวนและการดำเนินคดี |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 29 ตุลาคม 2567
10754