(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ พ.ศ. 2566 – 2570
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ พ.ศ. 2566 - 2570 (ร่างแผนปฏิบัติการฯ) และเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) (เป้าหมายระดับชาติฯ) และมอบหมายให้ ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นำส่งแผนปฏิบัติการฯ และเป้าหมายระดับชาติฯ ดังกล่าว ให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
2. การขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณากลั่นกรองแผนระดับที่ 3 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เรื่อง แนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 เรื่อง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติ วันที่ 15ธันวาคม 2563 เรื่อง แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน... เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และวันที่ 27 เมษายน 2564 เรื่อง คู่มือแนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 และการเสนอแผนระดับที่ 3 ในส่วนของแผนปฏิบัติการด้าน... ต่อคณะรัฐมนตรี
สาระสำคัญ
1) ร่างแผนปฏิบัติการฯ ที่ ทส. เสนอ เป็นแผนหลักของประเทศด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่มีการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ 12 เป้าหมาย ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และขจัดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อคงไว้ซึ่งบริการจากระบบนิเวศ ประกอบด้วย 4 เป้าหมาย ดังนี้
เป้าหมายที่ 1 ลดการสูญเสียพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความสำคัญทั้งบนบกและในทะเล โดยการวางแผนเชิงพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ
เป้าหมายที่ 2 อนุรักษ์ ฟื้นฟู ขยายพื้นที่คุ้มครอง เพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) เพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์และการเชื่อมต่อของระบบนิเวศ
เป้าหมายที่ 3 อนุรักษ์และคุ้มครองชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามและชนิดพันธุ์ธรรมชาติ ลดปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่า และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกราน
เป้าหมายที่ 4 ลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษ รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เพื่อฟื้นฟูและคงไว้ซึ่งบริการจากระบบนิเวศ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 เป้าหมาย ดังนี้
เป้าหมายที่ 5 ส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพบนพื้นฐานของบริการจากระบบนิเวศ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และรายได้ของประชาชน
เป้าหมายที่ 6 ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนในภาคการผลิตและบริการ รวมถึงการเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การประมง การปศุสัตว์ การป่าไม้ และการท่องเที่ยว
เป้าหมายที่ 7 จัดให้มีกลไกและมาตรการการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ รวมถึงความปลอดภัยทางชีวภาพจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเสริมสร้างขีดความสามารถและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วย 5 เป้าหมาย ดังนี้
เป้าหมายที่ 8 บูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพในนโยบาย แผน และการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในทุกระดับ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ
เป้าหมายที่ 9 เพิ่มช่องทางและเงินทุนสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีกลไกทางการเงิน กลไกทางเศรษฐศาสตร์ และมาตรการจูงใจเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
เป้าหมายที่ 10 พัฒนาระบบข้อมูลและองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่มีการเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน เพื่อใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจและการดำเนินงานในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ
เป้าหมายที่ 11 เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพ และความร่วมมือ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ
เป้าหมายที่ 12 พัฒนาและปรับปรุงเครื่องมือด้านกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
2) เป้าหมายระดับชาติฯ จะต้องดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 โดยกำหนด
เป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ จำนวน 4 เป้าหมาย ดังนี้
2.1 มีพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) ของประเทศ ทั้งบนบกและในทะเล อย่างน้อยร้อยละ 30
2.2 ดัชนีสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม (Red List index) ไม่น้อยลง จากข้อมูลปีฐาน พ.ศ. 2568
2.3 มีมาตรการในการจัดการสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกรานที่มีลำดับความสำคัญสูงอย่างน้อยร้อยละ 35
2.4 สัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET50 ที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพโดยสมัครใจ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 29 ตุลาคม 2567
10760