ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตเป็นผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตเป็นผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอและให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอใบอนุญาต การออกใบอนุญาต คุณสมบัติของผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานการควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ได้รับใบอนุญาต รวมถึงการต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การสั่งพักใช้ การเพิกถอนใบอนุญาต และการกำหนดและยกเว้นค่าธรรมเนียม มีสาระสำคัญ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
บทนิยาม |
● “ผู้ชำนาญการ” หมายความว่า ผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ● “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตเป็นผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน |
|
หมวด 1 การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต |
● กำหนดคุณสมบัติของผู้ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ชำนาญการที่สำคัญ เช่น (1) มีสัญชาติไทย (2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี (3) มีความรู้ ความเข้าใจ และมีประสบการณ์เกี่ยวกับการประเมินอันตรายการศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีผลต่อลูกจ้างการจัดทำแผน การดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการจัดทำแผนการควบคุมดูแลลูกจ้างและสถานประกอบกิจการ ไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หรือเทียบเท่า (2) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์ ที่มีการเรียนการสอนทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยและการประเมินอันตรายหรือการประเมินความเสี่ยง ไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิต (3) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หรือเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเกี่ยวกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอื่นตามที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (อธิบดี) ประกาศกำหนด (4) เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค หรือระดับเทคนิคชั้นสูง หรือระดับวิชาชีพ ในสถานประกอบกิจการตามประเภทและขนาดของกิจการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้มีสิทธิดำเนินการเป็นผู้ชำนาญการได้เฉพาะในสถานประกอบกิจการที่ตนขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานไว้เท่านั้น ● ต้องผ่านการฝึกอบรมและผ่านการประเมิน เพื่อให้มีคุณสมบัติเป็นผู้ชำนาญการตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด ● ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต |
|
หมวด 2 การขอต่ออายุใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต |
● กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะต่ออายุใบอนุญาต ต้องยื่นคำขอพร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานที่กำหนดต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานภายใน 90 วัน ก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ |
|
หมวด 3 การพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาต |
● กำหนดให้ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตที่ฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามข้อปฏิบัติในการปฏิบัติงาน ให้อธิบดีพักใช้ใบอนุญาตได้ไม่เกิน 60 วัน ● กำหนดเหตุแห่งการถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต เช่น ขาดคุณสมบัติ ของผู้ชำนาญการจัดทำรายงานหรือให้การรับรองอันเป็นเท็จ |
|
หมวด 4 การควบคุมการปฏิบัติงาน |
● กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการ ดังนี้ (1) ให้คำแนะนำและรับรองผลในการดำเนินการของนายจ้างได้แก่ การจัดให้มีการประเมินอันตราย การศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อม ในการทำงานที่มีผลต่อลูกจ้าง การจัดทำแผนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ และแผนควบคุมดูแลลูกจ้างและสถานประกอบการ (2) แจ้งกำหนดการดำเนินการให้คำแนะนำและรับรองผล (ตาม (1) ต่ออธิบดีไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนดำเนินการ และส่งรายงานสรุปผลการปฏิบัติงานต่ออธิบดีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เสร็จสิ้นการปฏิบัติงาน (3) ไม่เปิดเผยความลับของนายจ้างซึ่งล่วงรู้หรือได้มาจากการปฏิบัติงาน ● กำหนดให้ผู้ชำนาญการต้องได้รับการฝึกอบรมหรือเพิ่มความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด |
|
หมวด 5 ค่าธรรมเนียม |
● 1. ใบอนุญาต ฉบับละ 5,000 บาท ● 2. ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 500 บาท ● 3. การต่ออายุใบอนุญาตครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมใบอนุญาต หมายเหตุ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมแก่ผู้ขอรับใบอนุญาตที่เป็นเจ้าหน้าที่ ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค หรือระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพ (ร่างฯ ข้อ 6 (4)) |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 12 พฤศจิกายน 2567
11338