มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ โดยให้กระทรวงมหาดไทยสรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) นำมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายเสนอคณะรัฐมนตรี เช่น การแก้ไขประเด็นปัญหาด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และแนวทางปฏิบัติที่ขัดแย้งกัน (เช่น ปรับปรุงกฎหมาย หรือกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขุดดินและถมดิน ทำความตกลงเพื่อลดขั้นตอนในการขออนุมัติ อนุญาต) ปัญหาการขาดความโปร่งใส ในการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน (เช่น สร้างระบบการแจ้งเบาะแสโดยไม่เปิดเผยชื่อผู้แจ้งข้อมูล) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี และเมื่อคณะรัฐมนตรีได้รับแจ้งมาตรการฯ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว หากเป็นกรณีที่ไม่ อาจดำเนินการได้ ให้แจ้งปัญหาและอุปสรรคต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป ทั้งนี้ไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ครบกำหนดวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567)
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 เห็นชอบมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 6 ข้อ สรุปได้ ดังนี้
1. การแก้ไขประเด็นปัญหาด้านกฎหมาย กฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่ขัดแย้งกัน
(1) ควรปรับปรุงกฎหมาย หรือกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขุดดินและถมดิน เพื่อให้ การควบคุม ดูแลการขุดดินและถมดินมีประสิทธิภาพและสามารถป้องกันการทุจริตได้มากยิ่งขึ้น โดยให้กำหนดถึงแนวทางในการขนย้ายดินหลังจากที่มีการขุดดินและถมดินด้วย
(2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติ อนุญาตในการขุดดินและถมดิน ทำความตกลงเพื่อลดขั้นตอนในการอนุมัติ อนุญาต ซึ่งจะทำให้กระบวนการอนุมัติ อนุญาต มีความโปร่งใสมากขึ้น เช่น ร่วมกันพิจารณาออกกฎระเบียบการใช้หน้าที่และอำนาจในการออกใบอนุญาตเป็นกฎระเบียบร่วม พร้อมทั้งให้นำวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้การอนุมัติ อนุญาต การออกใบอนุญาต ใบแทนใบอนุญาต
(3) ควรร่วมกันจัดทำแผนที่แสดงเขตพื้นที่ที่สามารถขออนุญาตขุดดินและถมดินได้โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) เพื่อป้องกันมิให้เกิดการให้ใบอนุญาตในพื้นที่ห้ามขุดดิน
(4) ควรมีการวิเคราะห์ว่าในแต่ละสภาพพื้นที่สามารถขุดดินและถมดินได้หรือไม่ รวมถึงผลกระทบจากการขุดดินและถมดิน และแนวทางในการฟื้นฟูสภาพดินและสิ่งแวดล้อม
2. การแก้ไขปัญหาการขออนุญาตชุดดินลูกรังในที่เขาหรือภูเขาและพื้นที่นอกเขตเขาและปริมณฑลรอบเขา 40 เมตร การแก้ไขปัญหาการอนุญาตในการดูดทราย และการขุดลอกคลองเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยหรือภัยแล้งสำหรับแม่น้ำภายในเขตจังหวัด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความตกลงและจัดทำคู่มือ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
3. การแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลการดำเนินการขุดดินและถมดิน การบังคับใช้กฎหมายยัง ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเคร่งครัดหรือมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม ดูแลตามภารกิจ หน้าที่ และอำนาจ
(1) ต้องมีมาตรการหรือแนวทางในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีการลงโทษอย่างจริงจังสำหรับผู้ใช้อิทธิพลและอำนาจ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมีชอบในการออกเอกสารสิทธิ ในที่ดิน และควรมีการสร้างระบบของการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำถูกต้องตามกฎหมายและมีระบบป้องกันให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่วมกระทำการทุจริตเกิดความเกรงกลัวที่จะกระทำความผิด
(2) ต้องอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้อย่างเพียงพอ มีการกำหนดระบบการตรวจสอบ ที่มีประสิทธิภาพ
(3) ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับ การชุดดินและถมดิน
4. ปัญหาการขาดความโปร่งใส่ในการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้หน่วยงานที่มีที่ดินอยู่ในความดูแลของตนเองสร้างกลไกในการเฝ้าระวังเกี่ยวกับการชุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องสร้างระบบการแจ้งเบาะแสโดยไม่เปิดเผยชื่อผู้แจ้งข้อมูล โดยจัดให้มีช่องทางที่เหมาะสมซึ่งอาจใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ รวมทั้งรายงานผลการดำเนินการภายหลังได้รับการแจ้งเบาะแสให้ประชาชนผู้แจ้งเบาะแสรับทราบด้วยและต้องมีกลไกในการคุ้มครองประชาชนผู้แจ้งเบาะแสด้วยเช่นกัน
5. ปัญหาในภาพรวมที่มีความเกี่ยวกับหลายหน่วยหน่วยงาน การลักลอบชุดดิน การออกใบอนุญาตประกอบกิจการขุดดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การขุดดินขณะที่ใบอนุญาตหมดอายุ การขุดดินผิดไปจากแบบแปลนตามหลักวิชาการ การขุดดินเกินกว่าที่ขออนุญาต การขุดดินในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินเอกชน การชุดดินที่กระทบถึงความปลอดภัยการบรรทุกดินเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดทำให้ถนนเกิดความชำรุดเสียหายซึ่งกระทบต่องบประมาณของภาครัฐจำนวนมากในการซ่อมบำรุงเส้นทาง การแก้ไขปัญหาในข้อนี้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องกำหนดมาตรการในการเฝ้าระวังเป็นรายกรณี
6. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวทางการดำเนินการตามมาตรการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณา และ มีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ ให้ มท. รายงานผลการขับเคลื่อนมาตรการฯ เสนอ ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นประจำทุกปีด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 24 กันยายน 2567
9655