อุตสาหกรรมสัมมนาการบินของไทย และกิจกรรมการรับสมัครงานและการศึกษาต่อด้านการบิน ปี 2567
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย Mr. Tao Ma, ICAO APAC Regional Director คณะกรรมการการบินพลเรือนคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย คณะผู้บริหารหน่วยงานด้านการบิน เข้าร่วมงานสัมมนาอุตสาหกรรมการบินของไทย ประจำปี 2567 โดยในปีนี้ใช้ชื่อตอนว่า Navigating the Future: Embarking to the Hub of Aviation ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค และเข้าเยี่ยมชมพื้นที่จัดงานกิจกรรมการรับสมัครงานและการศึกษาต่อด้านการบินภายใต้ชื่อตอน “Navigating The Future: Inspiring the New Generation of Thai Aviation” ณ ตึกเอ็มกลาส ศูนย์การค้า ดิ เอ็มสเฟียร์
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 งานสัมมนาแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินในปีนี้จัดขึ้นเพื่อสื่อสารทิศทางนโยบายการบินของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค หรือ Aviation Hob และเปิดพื้นที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของภาคอุตสาหกรรมร่วมกัน โดยในงานนี้ยังมีการบรรยายพิเศษจากผู้อำนวยการการบินพลเรือนในหัวข้อ “ปฐมบทสู่การเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค” และการเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง
ในหัวข้อ “โอกาสและการเตรียมความพร้อมของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค” จาก รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) นายกสมาคมสายการบิน และประธานเจ้าหน้าที่หน่วยธุรกิจการบิน
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จากนั้นในช่วงบ่ายเป็นการระดมความเห็นต่อการดำเนินงานของ CAAT ทั้งในเรื่องการกำกับดูแลมาตรฐาน การกำกับดูแลเศรษฐกิจ การดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโลยีด้านการบิน สำหรับการรับสมัครงานและการศึกษาต่อด้านการบินในปีนี้ถือเป็นครั้งแรกของความร่วมมือกันของหน่วยงานในอุตสาหกรรมการบิน รวมกว่า 20 หน่วยงาน ประกอบด้วย ผู้ประกอบการสายการบิน
ผู้ประกอบการกิจการท่าอากาศยานและบริการภาคพื้น รวมถึงสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน โดยกิจกรรมภายในงานมีการออกบูธกิจกรรมรับสมัครงาน ทั้งในส่วนของงานปฏิบัติงานทางอากาศ การปฏิบัติงานภาคพื้น รวมถึงฝ่ายสนับสนุน รวมกว่า 500 อัตรา พร้อมกันนี้ยังมีบูธจากมหาวิทยาลัยและสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน เพื่อประชาสัมพันธ์หลักสูตรด้านการบินตั้งแต่ระดับอนุปริญญา จนไปถึงระดับปริญญาโท
ทั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมงานวันละกว่า 1,000 คน/วัน นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมด้านการบินให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วม ทั้งกิจกรรมทดลองขับเครื่องจำลองการขับขี่อากาศยาน จากเครื่องเกม Virtual Reality (VR) เวทีกิจกรรมกลางที่เป็นการเปิดพื้นที่ให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน เช่น กิจกรรม “เด็กไทย(แข่ง)บินไกลในต่างแดน” ซึ่งเป็นกิจกรรมเล่าประสบการณ์
จากนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เข้าร่วมแข่งขันอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน กิจกรรม “ระเบิดฝัน: การแข่งขันจรวดในสหรัฐอเมริกา Spaceport America Cup” ซึ่งเป็นกิจกรรมเล่าประสบการณ์จากนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมไปถึงกิจกรรมแนะแนวอาชีพในอุตสาหกรรมการบิน เช่น อาชีพนักบิน และลูกเรือ โดยกิจกรรมครั้งนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนและเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรการบินเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืนในอนาคต