พาณิชย์แนะ SME ผู้ประกอบธุรกิจบริการ ใช้ Generative AI ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ
สนค.แนะผู้ประกอบการ SME ผู้ประกอบธุรกิจบริการ ใช้ Generative AI ช่วยขับเคลื่อนการทำธุรกิจ เผยประโยชน์เพียบ ทั้งสร้างคอนเทนต์ที่แตกต่าง โดนใจ ตอบคำถาม ให้ความช่วยเหลือลูกค้า เผยหากนำมาใช้ ธุรกิจมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการใช้ Generative AI สำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจกันเพิ่มมากขึ้น เพราะสามารถสร้างสรรค์เนื้อหาหรือคอนเทนต์ใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ตามการเขียนป้อนความต้องการหรือคำสั่งของผู้ใช้งาน จึงเป็นโอกาสต่อธุรกิจให้สามารถผลิตคอนเทนต์ที่แตกต่าง หรือน่าสนใจได้อย่างรวดเร็ว และจับกลุ่มผู้บริโภคได้หลากหลายขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการ SME ของไทย โดยเฉพาะธุรกิจบริการ ควรที่จะเรียนรู้ ปรับตัว และใช้ประโยชน์ นำมาใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลและปรับปรุงธุรกิจ เพื่อเสนอบริการแก่ลูกค้าได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ มีข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ McKinsey ระบุว่า การใช้ Generative AI จะช่วยลดระยะเวลา และลดขั้นตอนในการทำงานที่ซ้ำซ้อนของแรงงานและบุคลากรในองค์กร ซึ่งจะส่งผลให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่า Generative AI จะสร้างมูลค่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกให้เติบโตอยู่ที่ 2.6 ถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และตลาดโลกของธุรกิจด้าน Generative AI คาดว่าจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 46.47% ต่อปีในช่วงปี 2567-73
สำหรับ ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ สามารถใช้ประโยชน์จาก Generative AI โดยสามารถสร้างผลงานออกมาได้หลากหลาย เช่น ข้อความตัวอักษร รูปภาพ เสียง วิดีโอ ตลอดจนการเขียนโค้ด หรือเขียนคำสั่งที่ควบคุมการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ โดยหนึ่งใน Generative AI ที่บุคคลรวมถึงภาคธุรกิจรู้จักและนิยมนำมาใช้อย่างแพร่หลาย คือ ChatGPT ซึ่งเป็นเครื่องมือ AI ที่สามารถโต้ตอบผ่านการป้อนคำสั่งของผู้ใช้งานได้ทันที
ส่วนรูปแบบการใช้งาน Generative AI ที่นิยมในธุรกิจบริการ อาทิ แชทบอท (Chatbot) คือ โปรแกรมซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่เลียนแบบการสนทนาของมนุษย์ แชทบอทถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบกลับการสนทนาของผู้ใช้โดยอัตโนมัติแบบทันที (Real-Time) ทั้งในรูปแบบตัวอักษร (Text) หรือเสียง (Speech) แชทบอทสามารถเข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของธุรกิจบริการ โดยสามารถตอบกลับการสนทนา หรือคำถามพื้นฐานของลูกค้าหรือผู้ใช้งานได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง
ระบบสั่งการด้วยเสียง (Voice Assistant) เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์สามารถเข้าใจและตอบสนองต่อคำสั่งเสียงของมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว เป็นเสมือนผู้ช่วยในการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง
การวิเคราะห์ความรู้สึกลูกค้า (Sentiment Analysis) คือ การใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ ตรวจสอบอารมณ์และความรู้สึกลูกค้า ที่แสดงออกผ่านทางข้อความและเสียงว่าลักษณะเนื้อหามีแนวโน้มเป็นเชิงบวก เป็นกลาง หรือเชิงลบ หรือใช้ในการระบุอารมณ์ที่ลึกซึ้ง เช่น ความรัก ความเศร้า หรือความโกรธ โดยเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อความเสียง ข้อความบนโซเชียลมีเดีย รีวิว หรือแบบสอบถาม ซึ่งการวิเคราะห์ความรู้สึกเหล่านี้ มีส่วนช่วยในการปรับปรุงธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เข่น ช่วยประเมินความพึงพอใจของลูกค้าผู้ใช้บริการ
นายพูนพงษ์กล่าวว่า ธุรกิจบริการสามารถนำ Generative AI มาใช้ในการให้บริการ เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าผู้ใช้บริการได้อย่างหลากหลาย เช่น ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีก ที่มีร้านค้าออนไลน์ สามารถใช้แชทบอท และระบบสั่งการด้วยเสียงในการอำนวยความสะดวกลูกค้า โดยช่วยในการตอบคำถาม ให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำสินค้าและบริการ และ Generative AI ยังช่วยในด้านการตลาดและการขาย เนื่องจากสามารถใช้เครื่องมือ AI ในการสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ ๆ ในการประชาสัมพันธ์ หรือช่วยในการคิดกลยุทธ์การส่งเสริมการขายของธุรกิจได้
นอกจากนี้ ธุรกิจห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ สามารถใช้ประโยชน์จาก Generative AI ในการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และคาดการณ์ความเป็นไปได้ของเส้นทาง เวลา และข้อจำกัดในการขนส่ง เพื่อวางแผนในการขนส่งสินค้าให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด และตรวจสอบสาเหตุของการขนส่งสินค้าที่ล่าช้ากว่ากรอบเวลาที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการนำ Generative AI มาใช้แล้ว อาทิ การให้บริการ AI Chatbot (น้องต้นคิด) โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นแชทบอทบริการถาม-ตอบข้อมูล คำปรึกษาเกี่ยวกับสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญาแบบครบวงจร
สำหรับ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถสนับสนุนการใช้ Generative AI แก่ผู้ประกอบการและประชาชน อาทิ 1.ส่งเสริมการพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านความรู้และการใช้งาน Generative AI แก่ผู้ประกอบการและแรงงาน 2.กำกับดูแลการใช้งาน Generative AI ให้เป็นไปอย่างปลอดภัย โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ