พาณิชย์ สบช่องยูเนสโกขึ้นทะเบียน 'ต้มยำกุ้ง' ดันร้านอาหารใช้วัตถุดิบ GI เพิ่มมูลค่า
พาณิชย์ สบช่อง ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเมนู 'ต้มยำกุ้ง' ของไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ชวนผู้ประกอบการร้านอาหาร ใช้วัตถุดิบ GI รังสรรค์เมนูอาหาร สร้างมูลค่าเพิ่ม เผยอย่างเมนูต้มยำกุ้ง สามารถใช้กุ้งก้ามกรามบางแพ และวัตถุดิบ GI อื่นๆ มาทำ และเสิร์ฟในรูปแบบไฟด์ไดนิ่งได้ รวมถึงเมนูอาหารอื่นๆ ที่สามารถใช้วัตถุดิบ GI สร้างมูลค่าเพิ่มได้เช่นเดียวกัน
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนเมนู ‘ต้มยำกุ้ง’ของไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ว่า เป็นการตอกย้ำความชื่นชอบและชื่นชมเมนูต้มยำกุ้งของไทยของคนทั่วโลก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะใช้โอกาสนี้ ผลักดันให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร ใช้วัตถุดิบที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มาใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหาร โดยเฉพาะอาหารไฟน์ไดนิ่ง ที่เน้นความวิจิตร ความพิถีพิถันในการปรุง การจัดจาน และการบริการ เพื่อมอบประสบการณ์การกินอาหารที่แตกต่างในระดับพรีเมียม
ทั้งนี้ ยกตัวอย่างต้มยำกุ้ง สามารถใช้กุ้ง GI คืเอ กุ้งก้ามกรามบางแพ จังหวัดราชบุรี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่ปี 2566 มาใช้เป็นวัตถุดิบได้ เพราะกุ้งก้ามกรามบางแพ มีลักษณะเด่นที่เกิดจากสภาพดินในพื้นที่ และแหล่งน้ำที่มีทั้งน้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำจืด จึงทำให้กุ้งก้ามกรามบางแพ มีเปลือกสีน้ำเงินมันเงา เนื้อแน่น เมื่อปรุงสุกจะมีรสชาติหวาน มีมันกุ้งมาก และไม่มีกลิ่นคาว ซึ่งกุ้งก้ามกรามบางแพ ถือได้ว่าเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศที่ไม่เพียงแต่จะชูรสชาติ ความอร่อยให้เมนูต้มยำกุ้งอาหารโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ยังเป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรและชุมชนผู้ผลิตสินค้า GI ไทยอีกด้วย
นอกเหนือจากกุ้งก้ามกรามบางแพ ที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบหลักให้กับเมนูต้มยำกุ้งแล้ว ยังมีสินค้า GI อีกมากมาย ที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบปรุงอาหารเมนูต้มยำกุ้ง เช่น ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา หอมแดงศรีสะเกษ กระเทียมศรีสะเกษ และมะนาวเพชรบุรี เป็นต้น รวมถึงข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ที่นำมาใช้เป็นข้าวบริโภคกับต้มยำกุ้งได้ ส่วนเมนูอาหารอื่นๆ ก็สามารถที่จะใช้วัตถุดิบ GI มาใช้ทำอาหาร และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารได้
“ขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารระดับไฟน์ไดนิ่ง หรือร้านอาหาร Thai SELECT ที่ต้องการสร้างความแตกต่างให้กับเมนูอาหาร สามารถใช้วัตถุดิบ GI ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก นำมาใช้ทำอาหาร เพื่อสร้างความแตกต่าง เพราะไม่เพียงแต่อัปราคาได้ แต่ยังช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคที่จะได้บริโภคอาหารที่ดี มีคุณภาพ และยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่เพาะปลูกและผลิตวัตถุดิบ GI ด้วย”นายนภินทรกล่าว
ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขี้นทะเบียนสินค้า GI แล้ว 216 สินค้า สร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 77,000 ล้านบาท โดยสินค้า GI ประมาณ 85% เป็นสินค้าประเภทอาหาร เป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพและมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่เชื่อมโยงกับแหล่งผลิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงถือได้ว่าสินค้า GI เป็นแหล่งต้นน้ำด้านวัตถุดิบคุณภาพที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร
นภินทร รมช.พาณิชย์ ชวนอุดหนุนสินค้า GI รังสรรค์เมนูอาหาร หลังยูเนสโกขึ้นทะเบียนเมนู 'ต้มยำกุ้ง'
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เห็นโอกาสเพิ่มมูลค่าให้สินค้า GI ในอุตสาหกรรมอาหาร ภายหลังยูเนสโกขึ้นทะเบียน 'ต้มยำกุ้ง' ของไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ชวนคนไทยอุดหนุนสินค้า GI จากหลากหลายภูมิภาคมาเป็นวัตถุดิบรังสรรค์เป็นเมนูอาหารเลิศรส คาดช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “สิ่งบ่งชี้ ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง โดยปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญามีการขี้นทะเบียนสินค้า GI ไปแล้วถึง 216 สินค้า สร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 77,000 ล้านบาท
ซึ่งสินค้า GI ประมาณ 85% เป็นสินค้าประเภทอาหาร เป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพและมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่เชื่อมโยงกับแหล่งผลิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงถือได้ว่าสินค้า GI เป็นแหล่งต้นน้ำด้านวัตถุดิบคุณภาพที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร”
นายนภินทร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การที่เมนูต้มยำกุ้งของไทยได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก เป็นการตอกย้ำความชื่นชอบและชื่นชมอาหารไทยจานนี้ของคนทั่วโลก รวมถึงสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของไทยที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของเคล็ดลับความอร่อย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'กุ้งก้ามกรามบางแพ' จังหวัดราชบุรี ที่ขึ้นทะเบียน GI ไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่ปี 2566 สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 2,500 ล้านบาท โดยกุ้งก้ามกรามบางแพมีลักษณะเด่นที่เกิดจากสภาพดินในพื้นที่ และแหล่งน้ำที่มีทั้งน้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำจืด จึงทำให้กุ้งก้ามกรามบางแพ มีเปลือกสีน้ำเงินมันเงา เนื้อแน่น เมื่อปรุงสุกจะมีรสชาติหวาน มีมันกุ้งมาก และไม่มีกลิ่นคาว ซึ่งกุ้งก้ามกรามบางแพถือได้ว่าเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศที่ไม่เพียงแต่จะชูรสชาติ ความอร่อยให้เมนูต้มยำกุ้งอาหารโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ยังเป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรและชุมชนผู้ผลิตสินค้า GI ไทยอีกด้วย”
“นอกเหนือจากกุ้งก้ามกรามบางแพที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบหลักให้กับเมนูต้มยำกุ้งแล้ว ยังมีสินค้า GI อีกมากมายที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบปรุงอาหารเมนูต้มยำกุ้งและเมนูอื่นๆ เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา หอมแดงศรีสะเกษ กระเทียมศรีสะเกษ และมะนาวเพชรบุรี เป็นต้น
จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมอุดหนุนเพื่อเป็นกำลังใจให้เกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบการสินค้า GI โดยสามารถซื้อสินค้า GI ได้ที่ตลาดจริงใจฟาร์มเมอร์มาเก็ต และ Tops ในเครือเซ็นทรัล และแพลตฟอร์ม Born Thailand หรือหากสนใจข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า GI เพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่เพจเฟสบุ๊ค GITHAILAND หรือสายด่วนเบอร์ 1368” นายนภินทร กล่าว