พาณิชย์ บุกจับ’แชมพู-อะไหล่เครื่องยนต์’ปลอมเครื่องหมายการค้า ยึด 1.2 หมื่นชิ้น
กรมทรัพย์สินทางปัญญาผนึกกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. ตัวแทนเจ้าของสิทธิ์ จัดชุดปฏิบัติการบุกจับกุมแหล่งผลิตและแหล่งขาย’แชมพูสระผม-อะไหล่เครื่องยนต์’ ปลอมเครื่องหมายการค้า ได้ของกลางรวม 12,183 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท เตือนผู้บริโภคระมัดระวังในการซื้อ ควรซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ราคาเหมาะสม
นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมได้ผนึกกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรฐกิจ (บก.ปอศ.) พร้อมด้วยตัวแทนเจ้าของสิทธิ์และผู้รับมอบอำนาจในทรัพย์สินทางปัญญาบริษัท ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท เดอะพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล จํากัด จัดชุดปฏิบัติการร่วมปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอะไหล่เครื่องยนต์และแชมพูปลอมเครื่องหมายการค้าหลายรายการ โดยมีของกลางรวมทั้งสิ้น 12,183 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท
โดยการปฏิบัติงานของชุดปฏิบัติการร่วมในครั้งนี้ สืบเนื่องจากได้รับแจ้งว่ามีการผลิตแชมพูปลอม โดยการนำขวดแชมพูจริงมาบรรจุสารเคมีที่ผลิตขึ้นเองออกจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในราคาถูกกว่าท้องตลาด และการนำเข้าอะไหล่เครื่องยนต์ปลอมประเภท ตลับลูกปืน ก้านลูกสูบ สลักข้อเหวี่ยง กรองน้ำมัน กรองอากาศ มาจำหน่ายให้กับร้านจำหน่ายอะไหล่ยนต์ทั่วประเทศ
“สินค้าปลอมเหล่านี้ ลักษณะภายนอกใกล้เคียงของจริง แต่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นสินค้าที่อันตรายต่อผู้บริโภคอย่างมาก จึงฝากเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการชื้อสินค้าราคาถูกมาใช้ เพราะอาจเกิดอันตรายที่คาดไม่ถึง ควรเลือกซื้อสินค้าจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เลือกดูบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ไม่มีตำหนิ ราคาเหมาะสมไม่ถูกกว่าท้องตลาดจนเกินไป”นายอาวุธกล่าว
สำหรับ บทลงโทษของการจำหน่ายสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้ามีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี ปรับสูงสุด 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ มีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี หรือปรับสูงสุด 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหากประชาชนพบเห็นการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สามารถแจ้งเบาะแสผ่านทางเว็บไซต์ www.ipthailand.go.th หัวข้อบริการ “แจ้งเบาะแสการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา” หรือโทรสายด่วน 1368
ที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เนื่องจากสินค้าปลอมประเภทนี้เป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและมีการใช้สารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ต่อผู้บริโภค การบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิด
จึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จำเป็นต้องนำมาบังคับใช้กับการปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา นอกเหนือจากการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้ประกอบการในการนำสินค้าที่ถูกต้องมาจำหน่าย เพื่อลดปริมาณสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้าสู่ท้องตลาด และปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคจากอันตรายที่เกิดจากการบริโภคสินค้าปลอมที่ไม่ได้มาตรฐาน