การขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และหลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อให้คณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 ให้การรับรองร่างปฏิญญาคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57
ทั้งนี้ สหประชาชาติกำหนดให้มีการรับรองร่างปฏิญญาคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 โดยไม่มีการลงนาม ในช่วงการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (The fifty-seventh session of the Commission on Population and Development - CPD57) ระหว่างวันที่ 29 เมษายน 2567 - 3 พฤษภาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
สาระข้อเท็จจริงของเรื่อง
การประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนา (Commission on Population and Development - CPD) เป็นการประชุมประจำปีในกรอบสหประชาชาติเพื่อติดตาม ทบทวน ประเมินผล และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของการประชุมระหว่างประเทศเรื่องประชากรและการพัฒนา รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือประเด็นท้าทายใหม่ด้านประชากร ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ เป็นข้อมติคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย จึงไม่มีความจำเป็นต้องขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีของการประชุม ICPD ประธานการประชุม CPD57 จึงเสนอให้มีเอกสารผลลัพธ์ในรูปแบบร่างปฏิญญาคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และเสริมสร้างความร่วมมือระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ความร่วมมือเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และความร่วมมือไตรภาคี เพื่อบรรลุการขจัดความยากจน การเพิ่มอายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) การลดการเสียชีวิตของเด็กและมารดา การปรับปรุงการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว โดยสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในลักษณะบูรณาการ และตระหนักถึงความท้าทายที่สำคัญ อาทิ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากร ความยากจน ผลกระทบด้านลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่โลกกำลังเผชิญ ซึ่งทำให้ความเปราะบางและความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น และมีผลกระทบเชิงลบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนั้น ยังส่งเสริมการตระหนักถึงบทบาทสำคัญของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคน ในฐานะตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (agents of change) เพื่อการพัฒนา และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินการตาม PoA of ICPD และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน
ประโยชน์และผลกระทบ
1. ผลผูกพัน
ร่างปฏิญญาคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ กอปรกับไม่มีการลงนามในร่างถ้อยแถลงร่วมดังกล่าว ดังนั้น ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญฯ
2. ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ
การให้ความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายและผลประโยชน์ของประเทศไทยโดยถือเป็นการย้ำความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการดำเนินการตาม PoA of ICPD และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศทุกระดับในการบูรณาการความเชื่อมโยงระหว่างประชากรกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อบรรลุการขจัดความยากจน การเพิ่มอายุคาดเฉลี่ย การลดการเสียชีวิตของเด็กและมารดา การปรับปรุงการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว และความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรับมือกับวิกฤตด้านประชากร และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใน ค.ศ. 2030
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 เมษายน 2567
4695