หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov 39


การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงแรงงานและการจ้างงานแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ด้านการจัดส่งแรงงานไทยไปสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ1 (Employment Permit System: EPS) (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ รง. สามารถพิจารณาและดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ 

          สาระสำคัญของเรื่อง

          1. รง. กับกระทรวงแรงงานและการจ้างงานฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้ระบบ EPS มาแล้ว จำนวน 6 ฉบับ (คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว) โดยบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีกรอบความร่วมมือที่ชัดเจนในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติให้มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่กระบวนการสรรหาแรงงาน การทดสอบภาษาและการทดสอบฝีมือแรงงาน การกำหนดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน การตรวจลงตราและการเข้าเมือง การทำงานและการพำนักในสาธารณรัฐเกาหลี ตลอดจนการเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อทำงานครบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเป็นการป้องกันการอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างผิดกฎหมาย โดยบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับล่าสุด ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ได้สิ้นสุดการบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 แต่ยังคงมีผลบังคับใช้ระหว่างที่มีการดำเนินการเพื่อต่ออายุ เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะร้องขอให้มีการสิ้นสุดการมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับแรกในปี 2547 จนถึงวันที่ 22 มกราคม 2567 พบว่า มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งสิ้น 94,764 คน โดยทำงานในภาคอุตสาหกรรม 68,357 คน (ร้อยละ 72.13) ภาคเกษตรและปศุสัตว์ 10,450 คน (ร้อยละ 11.03) ภาคก่อสร้าง 9,326 คน (ร้อยละ 9.84) ภาคประมง 23 คน (ร้อยละ 0.02) และได้รับการคัดเลือกให้ไปทำงานซ้ำ (Re-Entry) จำนวน 6,608 คน (ร้อยละ 6.97)

          2. รง. และกระทรวงแรงงานและการจ้างงานฯ ได้เจรจาเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ (ฉบับที่ 7) มาอย่างต่อเนื่อง โดยร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับทั้ง 6 ฉบับที่ผ่านมา แต่มีการเพิ่มเติมรายละเอียดบางประการ เช่น ฝ่ายสาธารณรัฐเกาหลีได้เสนอขอปรับแก้ไขบันทึกความเข้าใจฯ โดยเพิ่มเติมการกำหนดเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งนี้ คณะทำงานพิจารณาและจัดทำร่างข้อตกลงที่เกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจการจัดส่งแรงงานไทยไปสาธารณรัฐเกาหลี ภายได้ระบบ EPS ได้พิจารณาบันทึกความเข้าใจฯ ที่สาธารณรัฐเกาหลีเสนอขอปรับแก้จนได้ข้อยุติแล้ว รวมทั้งได้แจ้งให้ฝ่ายสาธารณรัฐเกาหลีทราบด้วยแล้วซึ่งต่อมากระทรวงแรงงานและการจ้างงานฯ แจ้งว่า ได้ทบทวนและเห็นชอบในเนื้อหาตามร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับสุดท้ายแล้ว โดยมีสาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ สรุปได้ ดังนี้

 

หัวข้อ

 

รายละเอียด เช่น

(1) สาระสำคัญ (ภาพรวม)

 

- วัตถุประสงค์ : เพื่อรักษากรอบความร่วมมือที่ชัดเจนระหว่างทั้งสองฝ่ายและเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพในกระบวนการจัดส่งและรับคนงานจากไทยไปสาธารณรัฐเกาหลี โดยกำหนดบทบัญญัติสำหรับทั้งสองฝ่ายเพื่อปฏิบัติตามเกี่ยวกับการจัดส่งแรงงานภายใต้ระบบ EPS ตามกฎหมายการจ้างงานแรงงานต่างชาติ และอื่นๆ ในสาธารณรัฐเกาหลี

- กำหนดให้กรมการจัดหางานในฐานะหน่วยงานผู้ส่งมีอำนาจในการสรรหาและจัดส่งคนงาน และกำหนดให้ HRD Korea ในฐานะหน่วยงานผู้รับ มีอำนาจในการจัดการบัญชีรายชื่อคนหางานและรับคนงาน

- กระทรวงแรงงานและการจ้างงานฯ จะนำระบบ Point System มาใช้ในการคัดเลือกคนงาน และกำหนดให้ HRD Korea เป็นหน่วยงานทดสอบเพื่อให้มั่นใจว่ามีความเป็นกลางในการดำเนินการ

- คุณสมบัติของผู้ที่สมัครสอบ EPS-TOPIK จะต้องเป็นบุคคลที่มีอายุระหว่าง 18 - 39 ปี (แม่เกิน 39 ปี ในวันแรกที่ลงทะเบียนสมัครสอบ) และผู้ที่สอบผ่าน EPS-TOPIK จะต้องเข้ารับการทดสอบทักษะและสมรรถภาพร่างกายเนื่องจากเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ระบบ Point System (ผลสอบมีอายุ 2 ปี นับจาก วันประกาศผลสอบ)

(2) การให้ความรู้ก่อนการเดินทาง

 

กรมการจัดหางานจะดำเนินการให้ความรู้ก่อนการเดินทางแก่แรงงานทันทีที่ได้เซ็นสัญญาการจ้างงานแล้ว เพื่อให้แรงงานสามารถเดินทางเข้าสาธารณรัฐเกาหลีภายในเวลาที่กำหนด กรณีพบว่าแรงงานคนใดที่เดินทางถึงสาธารณรัฐเกาหลีแล้วไม่ได้รับการอบรมก่อนการเดินทางหรือได้รับการอบรมจากหน่วยงานที่ไม่ได้รับมอบหมาย กระทรวงแรงงานและการจ้างงานฯ สามารถส่งแรงงานคนดังกล่าวกลับและดำเนินมาตรการที่จำเป็น โดยคนงานต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการกลับมาของตนเองรวมถึงค่าโดยสารเครื่องบิน

(3) การสนับสนุนกระบวนการจัดส่งและรับ

 

เช่น (1) กระทรวงแรงงานและการจ้างงานฯ หรือ HRD Korea อาจจัดตั้งศูนย์สาธารณรัฐเกาหลี EPS ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนกระบวนการจัดส่งและรับคนงานไทย (2) ศูนย์สาธารณรัฐเกาหลี EPS อาจช่วยเหลือประสานงาน กำกับดูแล และให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการจัดส่งคนงานโดยการหารือร่วมกันกับ รง. และกรมการจัดหางานในส่วนของข้อกำหนดต่างๆ

(4) การจ้างงานและการพำนักอาศัย

 

- คนงานได้รับอนุญาตให้ทำงานเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่เดินทางเข้าประเทศ และสามารถขยายระยะเวลาการทำงานออกไปได้อีกไม่เกิน 1 ปี 10 เดือน

- คนงานที่สมัครใจเดินทางกลับประเทศไทยหลังจากสิ้นสุดสัญญาจ้างจะกลับเข้าไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีได้อีกเมื่อผ่านไปแล้ว 6 เดือน ส่วนคนงานที่มีความตั้งใจในการทำงานโดยไม่เคยเปลี่ยนสถานที่ทำงานเลยจะสามารถกลับเข้าไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีได้อีกหลังจากเดินทางออกไปแล้ว 1 เดือน และได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับการทดสอบด้วยระบบ Point System ตลอดจนการอบรมก่อนและหลังเดินทางตามที่นายจ้างที่มีคุณสมบัติร้องขอ

- ในกรณีที่คนงานเดินทางออกจากสาธารณรัฐเกาหลีโดยได้ยื่นเรื่องขอรับเงินประกันการเดินทางออกนอกประเทศและประกันค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศ รัฐบาลไทย (ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐเกาหลี) และกระทรวงแรงงานและการจ้างงานฯ จะดำเนินการอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้มั่นใจว่าคนงานได้รับเงินประกันคืนภายใน 3 ปี

(5) การป้องกันการคอร์รัปชันและมาตรการต่อต้านการอยู่อย่างผิดกฎหมายของแรงงาน

 

- รง. จะร่วมมือกับกระทรวงแรงงานและการจ้างงานฯ อย่างจริงจัง ในการดำเนินการตรวจสอบกระบวนการจัดส่งแรงงานอย่างครบวงจร ซึ่งรวมถึงการสมัครรับคัดเลือกและการจัดหางาน การจ้างงานและการพำนักอาศัยและการเดินทางกลับของคนงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในระบบ EPS

- ในกรณีพบความผิดปกติในกระบวนการจัดส่ง หรืออัตราการหนีงาน หรือการพักอาศัยแบบผิดกฎหมายของคนงานไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศผู้ส่งทุกประเทศ กระทรวงแรงงานและการจ้างงานฯ จะดำเนินมาตรการที่จำเป็น เช่น ลดจำนวนคนงานที่ได้รับการจัดสรร ระงับการจัดส่งแรงงานเป็นการชั่วคราว หรือยกเลิกบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ได้

(6) บทบัญญัติทั่วไป

 

- ข้อโต้แย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในการแปลความหรือการปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจฯ นี้ จะได้รับการแก้ไขโดยการหารือร่วมกัน

- กรณีทบทวนหรือเพิ่มเติมบทบัญญัติ ดำเนินการโดยการเห็นชอบร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร

- กระทรวงแรงงานและการจ้างงานฯ สามารถร้องขอให้ รง. สนับสนุนสิ่งที่จำเป็นจากต่างประเทศให้แก่แรงงานเมื่อเดินทางถึงสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ เช่น โรคระบาด เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความต่อเนื่องของกระบวนการ EPS และเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อภายใต้สถานการณ์นั้น

(7) การบังคับใช้

 

มีผลบังคับใช้ในวันที่ลงนามของทั้งสองฝ่าย เป็นเวลา 2 ปี โดยระหว่างการดำเนินการเพื่อต่ออายุ บันทึกความเข้าใจฯ ยังคงมีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่ ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจฉบับนี้สามารถพักใช้หรือยกเลิกได้โดยการร้องขออย่างเป็นทางการจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือหากการเจรจาต่อรองล่าช้าเกินกว่า 6 เดือน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

________________________________

1ระบบอนุญาตจ้างแรงงานต่างชาติ คือ นโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างชาติของสาธารณรัฐเกาหลี หรือนโยบายใบอนุญาตทำงาน เพื่อจัดการกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือของสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และปัญหาแรงงานต่างชาติลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 กรกฎาคม 2567

 

 

7706

Click Donate Support Web 

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!