ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินไม่เกิน 23,552.40 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 2,059.54 ล้านบาท โดยจัดสรรให้แก่ สป.กค. สำหรับกองทุนฯ และให้นำเงินที่เหลือดังกล่าวไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ต่อไป
2. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 21,492.86 ล้านบาท โดยจัดสรรให้แก่ สป.กค. และให้นำเงินเหลือจ่ายดังกล่าวส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
สาระสำคัญ
กระทรวงการคลังมีความจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2567 ให้เป็นรูปธรรม
โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ประกอบด้วย (1) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ (2) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ ดังนี้
1. โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
1.1 วัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีบัตรฯ) ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการลงทะเบียนฯ) ปี 2565 ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มการบริโภคที่จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในช่วงปลายปี 2567
1.2 กลุ่มเป้าหมาย
1) ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) สำเร็จแล้ว ตามฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ของกระทรวงการคลัง และไม่เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
2) ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) สำเร็จแล้ว เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม.
3) ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) สำเร็จแล้ว เป็นคนพิการที่ได้รับเงินเบี้ยความพิการ ตามฐานข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา แต่ไม่อยู่ในฐานข้อมูลของ พก. พม.
ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 จำนวนไม่เกิน 12,405,954 ราย อนึ่ง ไม่รวมถึงผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) สำเร็จแล้ว ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ในสังกัด พม. ที่ พม. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง
1.3 วิธีดำเนินการ
1) กรมบัญชีกลางดำเนินการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 10,000 บาทต่อคน โดยจะเริ่มทยอยจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของกลุ่มเป้าหมาย สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกรณีผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ที่ไม่สามารถผูกพร้อมเพย์ได้ ให้จ่ายเงินผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารตามที่ได้แจ้งความประสงค์ในหนังสือให้ความยินยอมโอนเงินสวัสดิการเข้าบัญชีร่วมกับบุคคลอื่น หรือบุคคลอื่นไว้แล้ว ณ สำนักงานคลังจังหวัดหรือกรมบัญชีกลาง ตามแนวทางการจ่ายเงินของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (กองทุนฯ)
2) ในกรณีที่กรมบัญชีกลางจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จในครั้งแรกให้ดำเนินการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง ดังนี้
2.1) ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567
2.2) ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567
2.3) ครั้งที่ 3 ภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2567
ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว รัฐจะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการ
1.4 ประโยชน์และผลกระทบ การดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีบัตรฯ และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เนื่องจากผู้มีบัตรฯ ถือเป็น ผู้มีรายได้น้อยที่มี MPC สูงกว่ากลุ่มประชากรที่มีรายได้สูง ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้จ่ายเงินหมด ทั้งจำนวน ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินโครงการจะส่งผลให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.3 ต่อปีเมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการ
1.5 งบประมาณ วงเงินงบประมาณ รวมจำนวนไม่เกิน 124,059.54 ล้านบาท ประกอบด้วย
1) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลางรายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวนไม่เกิน 122,000 ล้านบาท
2) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 2,059.54 ล้านบาทโดยจัดสรรให้แก่สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง (สป.กค.) สำหรับกองทุนฯ และให้นำเงินที่เหลือดังกล่าวไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ต่อไป
2. โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ
2.1 วัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพของคนพิการซึ่งเป็นผู้เปราะบางที่ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการและความจำเป็นของคนพิการแต่ละประเภทในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มการบริโภคที่จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในช่วงปลายปี 2567 ได้อย่างรวดเร็ว
2.2 กลุ่มเป้าหมาย
1) คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่ยังไม่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม.
2) คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม. และไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะต้องต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. พม. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ
3) คนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการในฐานข้อมูลของ พก. พม. แต่ได้รับเงินเบี้ยความพิการตามฐานข้อมูลของ อปท. กทม. และเมืองพัทยา และไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งจะต้องทำบัตรประจำตัวคนพิการภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. พม. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ
4) คนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการในฐานข้อมูลของ พก. พม. แต่ได้รับเงินเบี้ยความพิการตามฐานข้อมูลของ อปท. กทม. และเมืองพัทยา มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่ได้ยืนยันตัวตน (e-YC) ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ตามฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องทำบัตรประจำตัวคนพิการภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. พม. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ
ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 จำนวนไม่เกิน 2,149,286 ราย อนึ่ง ไม่รวมถึงคนพิการที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ในสังกัด พม. ซึ่ง พม. แจ้งยืนยันข้อมูลคนพิการดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง
2.3 วิธีดำเนินการ
1) กรมบัญชีกลางดำเนินการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 10,000 บาทต่อคน ผ่านช่องทาง ดังต่อไปนี้
1.1) ช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการที่ได้รับข้อมูลจาก อปท. กทม. และเมืองพัทยา
1.2) บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของคนพิการกลุ่มดังกล่าวสำหรับคนพิการที่ไม่ปรากฏข้อมูลช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการตามข้อ 1.1
2) กรมบัญชีกลางดำเนินการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 10,000 บาทต่อคน โดยจะเริ่มทยอยจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป และในกรณีที่กรมบัญชีกลางจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จในครั้งแรกให้ดำเนินการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง ดังนี้
2.1) ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567
2.2) ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567
2.3) ครั้งที่ 3 ภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2567
ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว รัฐจะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการ
2.4 ประโยชน์และผลกระทบ การดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการ และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากคนพิการโดยส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยที่มี MPC สูง ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้จ่ายเงินหมดทั้งจำนวน ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินโครงการจะส่งผลให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.05 ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการ
2.5 งบประมาณ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 21,492.86 ล้านบาท โดยจัดสรรให้แก่ สป.กค. และให้นำเงินเหลือจ่ายดังกล่าวส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
ประโยชน์และผลกระทบ
โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับผู้มีบัตรฯ จำนวนไม่เกิน 12,405,954 ราย และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ สำหรับคนพิการจำนวนไม่เกิน 2,149,286 ราย โดยได้รับการสนับสนุนเงินไม่เกิน 10,000 บาทต่อคน รวมเป็นกลุ่มเป้าหมายจำนวนไม่เกิน 14,555,240 ราย จะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพให้ผู้มีบัตรฯ และคนพิการสามารถมีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนเพิ่มการบริโภคที่จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในช่วงปลายปี 2567 ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการดำเนินโครงการทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จะทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนประมาณ 145,552.40 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.35 ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการ นอกจากนี้เมื่อผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น จะช่วยก่อให้เกิดการผลิต การค้าขาย การจ้างงาน และการคมนาคมขนส่งตามมา ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจะเอื้อให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีอากรได้เพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
5. ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา หรือการสูญเสียรายได้
ประมาณการวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ รวมจำนวนไม่เกิน 145,552.40 ล้านบาท ประกอบด้วย
5.1 เงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวนไม่เกิน 122,000 ล้านบาท
5.2 เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 23,552.40 ล้านบาท
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 17 กันยายน 2567
9468