คณะกรรมการต่างๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้คณะกรรมการต่างๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีชุดเดิม จำนวน 78 คณะ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 และหลังจากนั้นให้คณะกรรมการ ฯ ดังกล่าวสิ้นสุดลง
2. ในกรณีที่ส่วนราชการใดพิจารณาเห็นว่าคณะกรรมการ ฯ คณะใด (ตามข้อ 1) ยังคงมีภารกิจสำคัญและจำเป็นที่จะต้องคงอยู่ต่อไป เพื่อให้การดำเนินการตามภารกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ให้ส่วนราชการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการคณะนั้นๆ ขึ้นใหม่ โดยให้ตรวจสอบและปรับปรุงองค์ประกอบหน้าที่และอำนาจให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน แล้วส่งไปยัง สลค. โดยด่วนเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 (เรื่อง แนวทางการใช้ระบบคณะกรรมการเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล) อย่างเคร่งครัด และหากเป็นกรณีที่มีการเสนอแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการที่จะเสนอแต่งตั้งด้วย ให้ส่วนราชการเจ้าของเรื่องระบุชื่อ/ชื่อสกุล และตำแหน่ง (ถ้ามี) ของบุคคลที่จะเสนอแต่งตั้งให้ชัดเจน พร้อมทั้งจัดทำเอกสารต่างๆ ประกอบการพิจารณาด้วย ดังนี้
2.1 แบบสรุปประวัติของผู้ที่จะเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนั้นๆ
2.2 แบบตรวจสอบประวัติบุคคลเพื่อประกอบการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ
ทั้งนี้ การแต่งตั้งคณะกรรมการ ฯ ดังกล่าวข้างต้นให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป โดยไม่ต้องออกเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีหรือคำสั่งของส่วนราชการเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นอีก
สาระสำคัญของเรื่อง
โดยที่คณะกรรมการต่างๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีชุดเดิม (ตามข้อ 1) จะต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ 6) เรื่องเสร็จที่ 511/2533 ซึ่งได้พิจารณาเรื่อง การพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการการเมือง โดยมีความเห็นว่า คณะกรรมการหรือคณะที่ปรึกษาต่างๆ ที่มีมติคณะรัฐมนตรีให้แต่งตั้งขึ้น หรือนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 โดยมิใช่เป็นคณะกรรมการหรือคณะที่ปรึกษาตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือตามระเบียบปฏิบัติราชการประจำนั้น เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุด และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งในการบริหารราชการแผ่นดินไปเมื่อใด คณะกรรมการและคณะที่ปรึกษาต่างๆ ดังกล่าวย่อมพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกันด้วย โดยจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่เข้ารับหน้าที่เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ระบบคณะกรรมการในกฎหมายที่ก่อให้เกิดผล ดังต่อไปนี้ เป็นการใช้ระบบคณะกรรมการโดยไม่จำเป็น
(1) ทำให้คณะกรรมการเป็นผู้บริหารงานโดยตรงหรือรับผิดชอบต่อการบริหารงานโดยตรง เว้นแต่เป็นผู้ควบคุมกำกับผู้บริหารในมหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชน
(2) ทำให้คณะกรรมการมีหน้าที่หรืออำนาจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานหรือคณะกรรมการอื่น
(3) ทำให้การบริการประชาชนหรือการปฏิบัติหน้าที่ราชการเกิดขั้นตอนมากขึ้นหรือเกิดความล่าช้า
(4) ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจำนวนมากร่วมเป็นกรรมการด้วย
(5) ทำให้เกิดผลเป็นการเบี่ยงเบนความรับผิดชอบ (accountability) ในผลของการกระทำได้โดยง่าย
(6) เป็นการตัดอำนาจของคณะรัฐมนตรี หรือเป็นการดำเนินการแทนคณะรัฐมนตรี
2) ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ระบบคณะกรรมการในกฎหมาย เนื่องจากมติของคณะกรรมการจะมีผลผูกพันหน่วยงานที่มีผู้แทนเป็นกรรมการโดยตำแหน่งด้วย หน่วยงานของรัฐ จึงควรพิจารณาให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) ควรหลีกเลี่ยงการกำหนดให้นายกรัฐมตรีเป็นประธานกรรมการเว้นแต่กฎหมายนั้นเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับนโยบายที่สำคัญหรือนโยบายระดับชาติ
(2) กรรมการโดยตำแหน่งให้กำหนดเท่าที่จำเป็น ในกรณีที่จำเป็นต้องมีกรรมการดังกล่าว ควรกำหนดเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของคณะกรรมการนั้นโดยตรง
(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้กำหนดเท่าที่จำเป็น ในกรณีที่จำเป็นต้องมีกรรมการดังกล่าว ควรกำหนดเฉพาะด้านที่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของคณะกรรมการนั้นโดยตรง
3) การแต่งตั้งกรรมการต้องไม่แต่งตั้งบุคคลซึ่งมีลักษณะการขัดกันแห่งผลประโยชน์
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 17 กันยายน 2567
9478