หมวดหมู่: พาณิชย์

อาเซียนชงผู้นำ


รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนชงผู้นำไฟเขียวทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล ยุทธศาสตร์คาร์บอน

พาณิชย์ เผยผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) เห็นชอบการจัดทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) การจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน และปฏิญญาว่าด้วยกรอบการดำเนินงานสำหรับโครงการพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม รวมถึงการตั้งหน่วยงานสนับสนุนความตกลง RCEP การใช้ e-Form D เต็มรูปแบบ เตรียมทำวิสัยทัศน์อาเซียนฉบับใหม่หลังปี 68 เตรียมชงผู้นำเห็นชอบ ก.ย.นี้

นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 55 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 19-22 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา ณ เมืองเซอมารัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ว่า การประชุมครั้งนี้ ได้ผลลัพธ์สำคัญที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) และผู้นำอาเซียน ในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ก.ย.2566

โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) การจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน และปฏิญญาว่าด้วยกรอบการดำเนินงานสำหรับโครงการพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวถือเป็นกลไกการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ของอาเซียนที่ตอบสนองเชิงรุกต่อแนวโน้มการค้าของโลก

สำหรับ การเจรจาจัดทำความตกลง DEFA ได้ตั้งเป้าที่จะเริ่มเจรจาปลายปีนี้ และให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี โดยคาดว่า DEFA จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน ให้สูงถึง 4-6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 ส่วนการจัดทำยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจสีเขียวและสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบการเร่งรัดดำเนินการตามแผนงานของเสาเศรษฐกิจ เช่น การจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนความตกลง RCEP การใช้เอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน หรือ e-Form D ในระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบทั้ง 10 ประเทศ ภายในปี 2566

และเตรียมจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนฉบับใหม่ที่จะใช้ภายหลังปี 2568 (Post-2025 Vision) โดยมีเป้าหมายจะยกระดับการรวมตัวของอาเซียนไปสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวที่เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ เป็นต้น

นายเอกฉัตร กล่าวว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้หารือเตรียมการสำหรับการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีการค้าของคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ แคนาดา รัสเซีย สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร และยังได้หารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN BAC) และภาคธุรกิจของคู่เจรจา

ซึ่งให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนภายในอาเซียน การเพิ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน การแก้ไขปัญหามาตรการที่มิใช่ภาษีอย่างจริงจัง การเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้า การขับเคลื่อนภูมิภาคสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการเปิดเจรจา DEFA การพัฒนาที่ยั่งยืน การรับมือกับความท้าทายด้านสาธารณสุขและความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ได้ประชุมร่วมกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาเชิงพาณิชย์

อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 124,609.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 71,968.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 52,641.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 67,916.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 38,579.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศติดผนัง และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 29,337.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ซึ่งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

 

Click Donate Support Web  

 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

วิริยะ 720x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100sme 720x100AXA 720 x100ธกส 720x100

PTG 720x100ais 720x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!