การเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ให้กับนักลงทุนทั่วไป
คณะรัฐมนตรีรับทราบการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง (กองทุนฯ) ให้กับ นักลงทุนทั่วไป ซึ่งเป็นการรายงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2556 รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนฯ ประสบความสำเร็จต่อไป ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
คณะกรรมการกำกับการดำเนินงานกองทุนรวมวายุภักษ์ ในการประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบหลักการการกำหนดรูปแบบ โครงสร้าง และเงื่อนไขในการดำเนินการเสนอขาย หน่วยลงทุนประเภท ก. และการแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดโครงการจัดการกองทุนฯ สรุปได้ ดังนี้
รายการ |
รูปแบบ โครงสร้าง และเงื่อนไขการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. |
|
มูลค่าการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. |
ประมาณ 100,000 - 150,000 ล้านบาท |
|
ระยะเวลาการลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. |
ไม่เกิน 10 ปี โดยกองทุนฯ อาจพิจารณาขยายระยะเวลาการลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. ดังกล่าวเมื่อครบกำหนด |
|
ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. |
นักลงทุนทั่วไป เช่น นักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนภาครัฐ สหกรณ์มูลนิธิ และสมาคมต่างๆ เป็นต้น |
|
ผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ก. |
หน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลตามอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนฯ แต่ไม่น้อยกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ และไม่เกินกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นสูงที่กำหนดไว้ โดยมีกรอบแนวทางในการกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำและขั้นสูง ดังนี้ 1) อัตราผลตอบแทนขั้นต่ำต่อปีเป็นอัตราคงที่ตลอด 10 ปี โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล และอาจมีการปรับปรุงส่วนต่างตามความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งจะมีการดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากนักลงทุนสถาบัน ซึ่งเป็นนักลงทุนกลุ่มเป้าหมาย เกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำต่อปี 2) อัตราผลตอบแทนขั้นสูงต่อปีเป็นอัตราคงที่ตลอด 10 ปี โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนจากผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่มีลักษณะใกล้เคียงตราสารทุนและมีผลตอบแทนที่ไม่ผันผวน เช่น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่จดทะเบียนใน ตลท. เป็นต้น ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับฯ จะมีการพิจารณากำหนดอัตราผลตอบแทนดังกล่าวตามกรอบแนวทางข้างต้นต่อไป |
|
กลไกการคุ้มครองผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. |
การคุ้มครองเงินลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. กองทุนฯ จะบริหารความเสี่ยง โดยการกำหนดสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนฯ ต่อเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. (Asset Coverage Ratio) โดยในกรณีที่ Asset Coverage Ratio ลดลงเกินกว่าสัดส่วนขั้นต่ำที่กองทุนฯ กำหนด กองทุนฯ จะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมเพื่อคุ้มครองเงินลงทุนขอผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนหรือได้รับเงินปันผล หาก NAV ของหน่วยลงทุนประเภท ข. ต่ำกว่า NAV เริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่จะกำหนดโดยคณะกรรมการกำกับฯ ก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก.ต่อไป |
|
การชำระคืนเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. |
หน่วยลงทุนประเภท ก. มีสิทธิได้รับชำระคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ตามแนวทางการชำระคืนเงินลงทุนที่มีลักษณะเป็น Waterfall โดยเมื่อครบระยะเวลาการลงทุน กองทุนฯ จะรับชื่อคืนหน่วยลงทุนประเภท ก. ตามแนวทางและวิธีที่กำหนด |
|
ตลาดรอง |
หน่วยลงทุนประเภท ก. สามารถทำการซื้อขายผ่าน ตลท. |
ทั้งนี้ ภายหลังจากเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนฯ ให้กับนักลงทุนทั่วไป กองทุนฯ จะลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และเชิงรับ (Passive Investment) และยังคงลงทุนส่วนใหญ่ใน ตราสารทุนที่จดทะเบียนใน ตลท. โดยจะเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนดี มั่นคงในระยะยาว มีความยั่งยืนในกระบวนการดำเนินธุรกิจ และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับฯ และคณะกรรมการการลงทุนของกองทุนฯ จะพิจารณากำหนดรายละเอียดในการลงทุนต่อไป
กำหนดเวลาในการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนฯ ให้กับนักลงทุนทั่วไปในเบื้องต้น
กิจกรรม |
ช่วงเวลา |
|
1) นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนฯ |
วันที่ 13 สิงหาคม 2567 |
|
2) หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ก.ล.ต. ตลท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เป็นต้นเพื่อให้การระดมทุนของกองทุนฯ เป็นไปตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง |
ภายในเดือนสิงหาคม 2567 |
|
3) นำเสนอคณะกรรมการกำกับๆ พิจารณาในเรื่องที่สำคัญ เช่น การกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำและขั้นสูง การกำหนด NAV เริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ข. และการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่นักลงทุนแต่ละประเภท เป็นต้น 4) ดำเนินการแก้ไขรายละเอียดโครงการ 5) เสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. 6) หน่วยลงทุนประเภท ก. เริ่มทำการซื้อขายใน ตลท. |
ภายในเดือนกันยายน ๒๕๖๗
|
ประโยชน์และผลกระทบ
การเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนฯ ให้กับนักลงทุนทั่วไป จะเกิดประโยชน์ ดังนี้
1. เพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้กับประชาชนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงเป็นการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนภายในประเทศมีส่วนร่วมในการลงทุนใน ตลท. ผ่านการลงทุนในกองทุนฯ ที่มีกลไกในการคุ้มครองผลตอบแทน ซึ่งจะช่วยสร้างแรงกระตุ้นในการลงทุน โดยมีมูลค่าการระดมทุนประมาณ 100,000 - 150,000 ล้านบาท อาจส่งผลให้ SET Index ปรับตัวขึ้นซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อการลงทุนใน ตลท. ทั้งนี้ การปรับตัวของ SET Index ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนผลประกอบการที่เติบโตขึ้นของบริษัทจดทะเบียน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงมาตรการอื่นใดที่เรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 13 สิงหาคม 2567
8357