ร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูง เรื่อง การดื้อยาต้านจุลชีพ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูง เรื่อง การดื้อยาต้านจุลชีพ1 (ร่างปฏิญญาฯ) (Political Declaration of the High-level Meeting on Antimicrobial Resistance) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ สธ. และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้ง อนุมัติให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 79 หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างปฏิญญาฯ ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
สาระสำคัญ
ร่างปฏิญญาฯ ที่ สธ. เสนอมาในครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงเนื้อหาของปฏิญญาฯ ฉบับเดิม ให้มีความเป็นปัจจุบันมากขึ้น และยังคงมีสาระสำคัญเป็นการแสดงถึงความสำคัญของการดื้อยาต้านจุลชีพเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทุกประเทศต้องมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยปฏิญญาฯ ฉบับเดิม จะมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ รวมทั้งมุ่งให้เกิดการรับรองแผนการปฏิบัติการระดับโลกขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ส่วนร่างปฏิญญาฯ ที่เสนอในครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างเป็นรูปธรรมในทุกภาคส่วน และได้กำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมให้มีความชัดเจน และครอบคลุมในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ การส่งเสริมการเข้าถึงยาต้านจุลชีพ และการวิจัยและพัฒนา เพื่อแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ รวมถึงเพิ่มบทบาทองค์กรสี่ฝ่าย2 ในการดำเนินงานมากขึ้น โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
1. การกำกับดูแล |
เสริมสร้างความเข้มแข็งของการกำกับดูแลและบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ เช่น (1) พัฒนาหรือปรับปรุงแผนปฏิบัติการระดับชาติ เรื่อง การดื้อยาต้านจุลชีพ (2) จัดตั้งสำนักเลขาธิการร่วมสี่ฝ่ายด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ เพื่อเป็นกลไกการประสานกลางในการสนับสนุนการตอบโต้ต่อการดื้อยาต้านจุลชีพในระดับโลก (3) อำนวยความสะดวกในการสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนกับองค์กรพหุภาคีที่เกี่ยวข้อง |
2. การเงิน |
ให้การสนับสนุนทางการเงิน รวมทั้งจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ และการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติ เรื่อง การดื้อยาต้านจุลชีพ เช่น (1) ส่งเสริมการระดมทรัพยากรทางการเงินและการลงทุนผ่านช่องทางระดับชาติ ทวิภาคี และพหุภาคี (2) อำนวยความสะดวกในการจัดหาเงินทุนจากความร่วมมือระหว่างประเทศ (3) จัดทำข้อมูลแหล่งทุนที่มีในปัจจุบันจากภาคเอกชน องค์กรเพื่อการกุศลและธนาคารเพื่อการพัฒนา |
3. การเข้าถึง |
เสริมการเข้าถึงยาต้านจุลชีพที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและราคาไม่สูง รวมถึงการควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพในทางที่ผิด และแก้ไขปัญหาการขาดแคลน เช่น (1) เร่งรัดความพยายามที่จะบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น (2) ประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงยาต้านจุลชีพ วัคซีน และการวินิจฉัยได้อย่างเท่าเทียม ทันเวลา และในปริมาณที่มากขึ้น (3) ส่งเสริมให้องค์กรสี่ฝ่ายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการจัดการกับการติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงยาต้านจุลชีพที่มีคุณภาพ การวินิจฉัย วัคซีน และทางเลือกอื่นที่ทดแทนยาต้านจุลชีพใต้อย่างทันท่วงที |
4. การตอบสนองความร่วมมือ |
ส่งเสริมการดำเนินการร่วมกันเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะและควบคุมปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ (1) ส่งเสริมให้มีความตระหนักด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ รวมถึงการใช้และการกำจัดยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม ผ่านการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบของภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชน (2) ส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม รอบคอบ และมีความรับผิดชอบในภาคส่วนต่างๆ |
5. การวิจัยและพัฒนา การฝึกอบรม นวัตกรรมและการผลิต |
ส่งเสริมการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา การฝึกอบรม การผลิต และนวัตกรรมในการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ เช่น (1) ปรับปรุงความพร้อมใช้งานและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์สุขภาพ (2) สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการสร้างความเชี่ยวชาญในการผลิตวัคซีน ยา การวินิจฉัย และเทคโนโลยีด้านสุขภาพอื่นๆ เพื่อเอื้ออำนวยให้มีการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม (3) ดำเนินการและเพิ่มมาตรการมุ่งเป้าเกี่ยวกับยาที่ต่ำกว่ามาตรฐานหรือการปลอมแปลง (4) ดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ |
6. การเฝ้าระวังและการติดตาม |
เสริมสร้างความเข้มแข็งของการเฝ้าระวังและการติดตามสถานการณ์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เช่น (1) เสริมสร้างมาตรฐานการวินิจฉัย ระบบข้อมูลห้องปฏิบัติการ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่สนับสนุนการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพในทุกภาคส่วน (2) สนับสนุนให้ทุกประเทศรายงานข้อมูลจากการเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพ และการใช้ยาต้านจุลชีพ |
7. การติดตามผล |
ติดตามการดำเนินงานตามร่างปฏิญญาฯ เช่น (1) ให้องค์กรสี่ฝ่ายดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการจัดทำและเผยแพร่แนวทางอ้างอิงและสนับสนุนทางวิชาการให้แก่ประเทศต่างๆ (2) กำหนดให้มีการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพครั้งต่อไปในปี 2572 เพื่อทบทวนการดำเนินการตามร่างปฏิญญาฯ รวมถึงระบุช่องว่างและแนวทางแก้ไขเพื่อเร่งรัดให้เกิดความก้าวหน้าในการจัดการกับการดื้อยาต้านจุลชีพภายในปี 2573 ต่อไป |
_____________
1ยาต้านจุลชีพ คือ ยาที่มีฤทธิ์ฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อขนาดเล็ก เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส โดยตัวอย่างยาต้านจุลชีพ เช่น ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะต่างๆ
2 องค์กรสี่ฝ่าย (Quadripartite Organizations) ประกอบด้วย WHO องค์การอนามัยสัตว์โลก (World Organization for Animal Health: WOAH) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 24 กันยายน 2567
9642