ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจเพื่อให้ไทยได้ให้การรับรอง และ/หรือให้ความเห็นชอบในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 56 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 24 และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจเพื่อให้ไทยได้ให้การรับรอง และ/หรือให้ความเห็นชอบในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 56 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 24 และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 ฉบับ (1) ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศสมาชิกสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (Joint Declaration on Economic Cooperation between the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) and the Member States of the European Free Trade Association (EFTA)) (2) ร่างแถลงการณ์ร่วมในการสรุปผลการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน อย่างมีนัยสำคัญ (Joint Statement on the Substantial Conclusion of the ASEAN - China Free Trade Area (ACFTA) Upgrade Negotiations) (3) ร่างถ้อยแถลงผู้นำอาเซียนบวกสามว่าด้วยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค (ASEAN Plus Three Leaders’ Statement on Strengthening the Connectivity of Regional Supply Chains) (4) ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างกัน (ASEAN Leaders’ Declaration on Enhancing Supply Chain Connectivity)
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ร่วมรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ข้อ 2.1 ในฐานะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน
3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ให้ความเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ข้อ 2.2 และ ข้อ 2.3 ในฐานะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ก่อนเสนอต่อนายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ร่วมรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ดังกล่าว ในฐานะผู้นำอาเซียนต่อไป
4. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ให้ความเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ข้อ 2.4 ในฐานะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ก่อนเสนอรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้ความเห็นชอบในฐานะ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจอาเซียน และให้นายกรัฐมนตรี หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองในฐานะผู้นำอาเซียน ตามลำดับ
สาระสำคัญ
1. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในฐานะประธานอาเซียน ปี 2567 มีกำหนดจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และผู้นำอาเซียน ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ดังนี้
1.1 การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 56 และการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 15 - 22 กันยายน 2567
1.2 การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 6 - 7 ตุลาคม 2567
1.3 การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 9 - 11 ตุลาคม 2567
2. ในช่วงการประชุมตามข้อ 1 จะมีการรับรอง และ/หรือให้ความเห็นชอบเอกสารผลลัพธ์ฯ ในระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจอาเซียน และผู้นำอาเซียน จำนวน 4 ฉบับ โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
2.1 ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศสมาชิกสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (Joint Declaration on Economic Cooperation between the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) and the Member States of the European Free Trade Association (EFTA)) : เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของอาเซียนและประเทศสมาชิกเอฟตา ที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้เป็นไปอย่างยั่งยืนและครอบคลุม โดยการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนครอบคลุมประเด็น เช่น การค้าสินค้าและการอำนวยความสะดวกทางการค้า การค้าบริการ การลงทุน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และทรัพย์สินทางปัญญา และการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจครอบคลุมประเด็น เช่น การแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกิดใหม่ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs)
2.2 ร่างแถลงการณ์ร่วมในการสรุปผลการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน อย่างมีนัยสำคัญ (Joint Statement on the Substantial Conclusion of the ASEAN-China Free Trade Area (ACFTA) Upgrade Negotiations) : เป็นแถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนและจีนประกาศร่วมกัน ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ ด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (Priority Economic Deliverables: PEDs) ภายใต้วาระการเป็นประธานอาเซียนของ สปป.ลาว ปี 2567
2.3 ร่างถ้อยแถลงผู้นำอาเซียนบวกสามว่าด้วยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค (ASEAN Plus Three Leaders’ Statement on Strengthening the Connectivity of Regional Supply Chains) : เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของผู้นำอาเซียนบวกสามที่จะเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคให้เกิดความยืดหยุ่น ยั่งยืน และปลอดภัย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพของการเคลื่อนย้ายสินค้าการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและการค้าบริการอย่างเสรี และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการบูรณาการในระดับภูมิภาคผ่านความร่วมมือ รวมถึงการขับเคลื่อนประเด็นใหม่ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจภาคทะเล และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
2.4 ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างกัน (ASEAN Leaders’ Declaration on Enhancing Supply Chain Connectivity) : เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำเพื่อ (1) ยกระดับนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขัน และความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค (2) เร่งการเจรจาและการปรับปรุงข้อตกลงการค้าเสรีภายในและภายนอกของอาเซียน (3) เสริมสร้างการเชื่อมโยงจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค (4) ส่งเสริมการนำองค์ประกอบด้านความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในอาเซียน (5) ขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้และการผสมผสานเทคโนโลยีขั้นสูง (6) เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ (7) เพิ่มขีดความสามารถของ MSMES ในภูมิภาค ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ปี 2567
ประโยชน์และผลกระทบ
ร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน คู่เจรจา และภาคีภายนอกของอาเซียน ในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน และต่อยอดการดำเนินงานความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา และภาคีภายนอกของอาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทย และเสริมสร้างขีดความสามารถใหม่ๆ อาทิ การเสริมสร้างการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างกัน การยกระดับความตกลง FTA ให้มีความทันสมัยและรองรับรูปแบบการค้าใหม่เพื่อนำไปสู่การขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาค การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านสีเขียว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายเพิ่มเติมต่อประเทศไทยแต่อย่างใด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 17 กันยายน 2567
9463