ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายใต้กรอบวงเงิน 7,606.4972 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 จำนวน 2,668 รายการ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ โดยรายละเอียดของแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
1. ในคราวการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2567 จำนวน 10 มาตรการ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 และมอบอำนาจให้ประธาน กนช. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดแผนงานภายใต้โครงการฯ เพื่อให้การเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์เป็นไปอย่างทันท่วงที โดยที่มาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2567 ประกอบด้วย 1) คาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง 2) ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ 3) เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยง และศูนย์อพยพให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง 4) ตรวจสอบและติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ 5) เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ 6) ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย และฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ 7) เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทในช่วงฤดูฝน 8) สร้างความเข้มแข็ง เครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ 9) สร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์ และ 10) ติดตามประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบและเห็นชอบมาตรการและโครงการดังกล่าวข้างต้นแล้ว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567
2. สทนช. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2567 จำนวน 10 มาตรการ ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 โดยได้แจ้งให้หน่วยงานเสนอแผนงานโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนสอดคล้องกับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพฯ ซึ่งแผนงานโครงการข้างต้นได้ผ่านการพิจารณาความเหมาะสมจากคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และคณะกรรมการลุ่มน้ำตลอดจนจัดลำดับความสำคัญของแผนงานโครงการแล้วตามลำดับ ทั้งนี้ รัฐมนตรีเจ้าสังกัดได้พิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแล้ว ต่อมา สทนช. ได้ดำเนินการรวบรวม ตรวจสอบ และกลั่นกรองแผนงานโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด พบว่ามีแผนงานโครงการที่ต้องดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถบรรเทาและป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยและภัยแล้ง จำนวน 14,671 รายการ ในกรอบวงเงินงบประมาณ 36,681.7028 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุม กนช. โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นประธาน ได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567
3. นายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการให้หน่วยงานรับงบประมาณ ดำเนินการตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 จำนวน 4 กระทรวง 9 หน่วยงาน จำนวน 2,668 รายการ ภายในวงเงินงบประมาณ 7,606.4972 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สามารถจำแนกตามกระทรวงและหน่วยงาน ได้ดังนี้
ลำดับ |
กระทรวง/หน่วยงาน |
จำนวน (โครงการ) |
วงเงิน (ล้านบาท) |
|
รวมทั้งสิ้น |
2,668 |
7,606.4972 |
1 |
กระทรวงมหาดไทย |
2,035 |
2,341.6364 |
1.1 |
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น |
963 |
1,514.7309 |
|
องค์การบริหารส่วนตำบล |
839 |
1,303.9304 |
|
เทศกาลตำบล |
124 |
210.8005 |
1.2 |
องค์การบริหารส่วนจังหวัด |
1,034 |
766.8959 |
1.3 |
เทศบาลตำบล |
3 |
35.0500 |
1.4 |
จังหวัด |
35 |
24.9596 |
2 |
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ |
399 |
2,276.0510 |
2.1 |
กรมชลประทาน |
399 |
2,276.0510 |
3 |
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
233 |
2,987.2831 |
3.1 |
กรมทรัพยากรน้ำ |
115 |
2,492.1763 |
3.2 |
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล |
118 |
495.1068 |
4 |
กระทรวงคมนาคม |
1 |
1.5267 |
4.1 |
กรมเจ้าท่า |
1 |
1.5267 |
4. สทนช. ได้ดำเนินการจัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาด้วยแล้ว ภายใต้กรอบวงเงินที่นายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบไว้แล้วและจะแจ้งให้หน่วยรับงบประมาณเร่งรัดดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หนังสือเวียน มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญต่อไป
ประโยชน์และผลกระทบ
เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 125,113 ไร่ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 114.56 ล้านลูกบาศก์เมตร ประชาชนได้รับประโยชน์ประมาณ 67,470 ครัวเรือน และสามารถกำจัดผักตบชวา/วัชพืชน้ำได้ประมาณ 0.1463 ล้านตัน รวมถึงสามารถซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ให้สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ จำนวน 444 แห่ง
ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา
งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 จำนวน 4 กระทรวง 9 หน่วยงาน จำนวน 2,668 รายการ ภายในกรอบงบประมาณ 7,606.4972 ล้านบาท
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 25 มิถุนายน 2567
6794