รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 และรายงานผลการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 และรายงานผลการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
1. รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 มีสาขาสิ่งแวดล้อม จำนวนทั้งสิ้น 11 สาขา โดยสามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1.1 สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขาที่มีแนวโน้มดีขึ้นหรือทรงตัว เช่น
สาขาสิ่งแวดล้อม |
สาระสำคัญ |
|
(1) ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า |
- ป่าไม้ พบว่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีการปราบปรามการบุกรุกพื้นที่ป่า โดยจำนวนคดีและพื้นที่ที่ถูกบุกรุกมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ดีสถานการณ์ไฟป่ายังคงเป็นที่น่ากังวลโดยเฉพาะในภาคเหนือ - สัตว์ป่า พบว่าประชากรเสือโคร่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องมีการปราบปรามการลักลอบล่าสัตว์ต่อไป |
|
(2) ทรัพยากรน้ำ |
พบว่ามีปริมาณฝนเฉลี่ยทั่วประเทศสูงกว่าค่าปกติ และปริมาณน้ำใช้การสำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี พื้นที่เกษตรกรรมบางแห่งยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงต้องมีการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเพิ่มศักยภาพการเก็บกักน้ำในฤดูฝนต่อไป |
|
(3) ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง |
- พืชและปะการัง พบว่าพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพมีปริมาณเพิ่มขึ้น แหล่งหญ้าทะเลมีสถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง และสถานการณ์ปะการังฟอกขาวมีความรุนแรงในระดับต่ำ - สัตว์ทะเล พบการวางไข่ของเต่าทะเลเพิ่มขึ้นและการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากลดลง อย่างไรก็ดีปริมาณสัตว์น้ำเค็มที่ได้จากการจับจากธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง |
|
(4) ความหลากหลายทางชีวภาพ |
พบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกในไทย 30 ชนิด พบสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดใหม่ของโลกในไทย 11 ชนิด และพบสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดใหม่ของโลกในไทย 31 ชนิด อย่างไรก็ดี มีพรรณไม้และสัตว์มีกระดูกสันหลัง (โดยเฉพาะนก) ที่ถูกคุกคามเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องมีการกำหนดมาตรการในการดูแลและอนุรักษ์ต่อไป |
|
(5) สถานการณ์มลพิษ |
- อากาศ ภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้นเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ โดยปริมาณฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 มีค่าเฉลี่ยรายปีทั้งประเทศไม่เกินมาตรฐาน ยกเว้นสระบุรี (หน้าพระลาน) ส่วนสารมลพิษชนิดอื่นได้แก่ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ดี ก๊าซโอโซนมีแนวโน้มลดลง - ขยะมูลฝอย/ของเสียอันตราย/มูลฝอยติดเชื้อ/วัตถุอันตราย พบว่าขยะมูลฝอยได้มีการนำไปกำจัดอย่างถูกต้องและนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เพิ่มขึ้น และการนำเข้าวัตถุอันตรายทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมลดลง อย่างไรก็ดี พบว่าของเสียอันตรายจากชุมชน กากของเสียอุตสาหกรรมและมูลฝอยติดเชื้อมีปริมาณเพิ่มขึ้น |
|
(6) สิ่งแวดล้อมเมืองและชุมชน |
พื้นที่สีเขียวสาธารณะต่อประชากรของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา และเทศบาลนคร มีค่าสูงกว่าเป้าหมายของประเทศระยะแรก (ไม่น้อยกว่า 5 ตารางเมตร/คน) แต่ทั้งนี้ยังต่ำกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ 9 ตารางเมตร/คน ซึ่ง กทม. ได้มีการพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรใน กทม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 7.66 ตารางเมตร/คน และมีการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่ กทม. ไปแล้วในระยะทาง 34.82 กิโลเมตร |
|
(7) สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม |
- สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ พบว่าแหล่งธรรมชาติ ประเภทธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา (ภูเขา น้ำตก และถ้ำ) ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของแหล่งธรรมชาติในระดับดี - ศิลปกรรม พบว่าแหล่งสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยมีหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นดำเนินงานตามภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่ามาอย่างต่อเนื่อง |
1.2 สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขาที่ควรเฝ้าติดตาม เช่น
สาขาสิ่งแวดล้อม |
สาระสำคัญ |
|
(1) ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน |
พบการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสม โดยมีการปลูกพืชในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมและไม่มีการปรับปรุงบำรุงดินประมาณ 11.36 ล้านไร่ ส่งผลให้ดินเกิดความเสื่อมโทรม เกิดการการชะล้างพังทลายของดินและความอุดมสมบูรณ์ของดินมีแนวโน้มลดลง |
|
(2) ทรัพยากรแร่ |
พบว่าปริมาณการผลิตแร่ การใช้แร่ การนำเข้าแร่ และการส่งออกแร่ลดลงทั้งหมด รวมทั้งต้องมีการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรแร่ เนื่องจากฐานข้อมูลที่ใช้ในการวางแผนบริหารจัดการแร่ของประเทศยังไม่สมบูรณ์และไม่เชื่อมโยงกัน |
|
(3) พลังงาน |
พบว่าไทยผลิตพลังงานได้ลดลง แต่มีการนำเข้าพลังงานและใช้พลังงานเพิ่มขึ้น (แม้ว่าจะมีการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นก็ตาม) รวมทั้งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงานเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน |
|
(4) ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง |
คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งโดยเฉพาะบริเวณอ่าวไทยค่อนข้างเสื่อมโทรม จึงต้องมีการสนับสนุนให้มีระบบบำบัดน้ำเสียหรือมีการรวบรวมน้ำเสียของชุมชนชายฝั่งเข้าสู่ระบบบำบัดให้ครอบคลุมพื้นที่ก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ |
|
(5) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ |
เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธรณีพิบัติภัย (ดินถล่ม) ซึ่งต้องมีการเตรียมพร้อม รับมือจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป |
2. สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 ที่ให้ ทส. รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมในปีก่อนหน้า รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข ดังนั้น ในครั้งนี้ ทส. จึงได้รายงานผลการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2564 ซึ่งมีข้อเสนอแนะทั้งสิ้น จำนวน 47 ข้อเสนอแนะ และได้ดำเนินโครงการตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายตั้งแต่ พ.ศ. 2565 - 2566 โดยมีข้อเสนอแนะผลการดำเนินงาน และปัญหา อุปสรรค ที่สำคัญ เช่น
สาขาสิ่งแวดล้อม |
ตัวอย่างข้อเสนอแนะ ผลการดำเนินงาน และปัญหา อุปสรรค ที่สำคัญ |
|
(1) ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน |
ข้อเสนอแนะ ควรส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างอาชีพแก่ประชาชนที่คืนถิ่นกลับสู่ภาคเกษตรกรรมอันเกิดจาก วิกฤตโรคโควิด-19 และปฏิรูประบบเกษตรกรรมที่ส่วนใหญ่เน้นการผลิตเชิงเดี่ยวเพื่อผลิตวัตถุดิบราคาถูกไปสู่ระบบเกษตรผสมผสานที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น เพื่อลดปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในระยะยาว และเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงรับมือยุคหลังโรคโควิด-19 ผลการดำเนินงาน ได้มีการจัดทำ (1) แผนปฏิบัติการด้านการเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566 - 2570 และ (2) แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 - 2570 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาการเกษตรของไทย ปัญหา อุปสรรค เกษตรกรยังขาดความรู้ในเชิงลึกเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์และปัจจัยการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์และไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดการผลิตพืชอินทรีย์ได้ครบถ้วน |
|
(2) ทรัพยากรแร่ |
ข้อเสนอแนะ ให้มีการศึกษาหาแนวทางกำหนดหรือพิจารณาการบริหารจัดการแร่อย่างชัดเจนและเป็นระบบเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่ากับการสงวนรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยส่งผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพน้อยที่สุดตลอดจนลดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ผลการดำเนินงาน ได้มีการส่งเสริมและต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิลเพื่อพัฒนาของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทน พัฒนาและยกระดับสถานประกอบการด้านเทคโนโลยีรีไซเคิล/อัพไซเคิล บ่มเพาะผู้ประกอบการในชุมชนเป้าหมายสู่การเป็นวิสาหกิจหรือสถานประกอบการ คัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำเหมือง รวมทั้งปรับปรุงข้อมูลพื้นที่ศักยภาพแร่ในพื้นที่ทั่วประเทศ ปัญหา อุปสรรค การร้องเรียนโครงการด้านเหมืองแร่ เป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับผลกระทบกรณีเป็นผู้ครอบครองสารพิษอันตรายปล่อยให้รั่วไหลออกสู่ภายนอก และการประกอบกิจการทำเหมืองโพแทชและเกลือหิน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง |
|
(3) ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง |
ข้อเสนอแนะ ส่งเสริมองค์ความรู้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่าและไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นๆ ผลการดำเนินงาน ได้มีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันและแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ปัญหา อุปสรรค ปัจจุบันมีคำขอโครงการให้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งทะเลเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม/รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นตามข้อกำหนดของกฎหมาย มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและนำมาใช้ประกอบกับการดำเนินโครงการเพื่อลดความขัดแย้งและลดข้อห่วงกังวล แต่การที่มีความเห็น ต่างกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความคิดไม่สอดคล้องกัน ทำให้หลายโครงการต้องถูกชะลอหรือให้กลับไปทบทวนและให้นำกลับมาพิจารณาอีกครั้งในปีงบประมาณถัดไป ทำให้ไม่ทันต่อความเดือดร้อน |
|
(4) สถานการณ์มลพิษ |
ข้อเสนอแนะ จัดทำระบบฐานข้อมูลการจัดการมูลฝอยติดเชื้อให้ครอบคลุมทุกแหล่งกำเนิด เพื่อให้มีระบบการติดตาม และเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่ควบคุมกำกับแหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อ ผลการดำเนินงาน กรมอนามัยได้ออกประกาศ เรื่อง แบบบันทึกข้อมูลปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2565 กำหนดแบบบันทึกข้อมูลปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่กำจัดที่แหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและติดตามตรวจสอบการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดขึ้น ให้ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม ปัญหา อุปสรรค ควรขับเคลื่อนและยกระดับมาตรฐานการจัดการมูลฝอยในสถานบริการการสาธารณสุขและมาตรฐานกิจการให้บริการเก็บขนและกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ |
|
(5) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ |
ข้อเสนอแนะ สร้างแรงจูงใจในการลดก๊าซเรือนกระจก สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคาร์บอนเครดิตและพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ผลการดำเนินงาน ได้มีการจัดทำ (1) ร่างแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต (2) ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของภาคการเงินและภาคธุรกิจ (3) กำหนดนโยบายและมาตรการทางกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและยั่งยืนของภาคเอกชน ปัญหา อุปสรรค สิทธิประโยชน์หรือผลตอบแทนให้แก่ผู้พัฒนาโครงการ/กิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกควรได้รับการสนับสนุนให้เพียงพอ รวมถึงการดำเนินโครงการ/กิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในวงกว้าง เนื่องจากยังเป็นการดำเนินงานแบบสมัครใจ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 สิงหาคม 2567
8188