พาณิชย์ ขึ้นทะเบียน GI รายการใหม่ ‘กระท้อนนาปริกสตูล’มั่นใจช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกร
พาณิชย์ ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ 'กระท้อนนาปริกสตูล' สินค้า GI ลำดับที่ 2 ของจังหวัด และรายการที่ 209 ของไทย มั่นใจทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น สร้างรายได้ให้กับเกษตรและและชุมชนเพิ่มขึ้น เผยมีอัตลักษณ์โดดเด่น รสชาติดี หวานอร่อย เนื้อหนานุ่ม
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ คือ กระท้อนนาปริกสตูล ซึ่งเป็นสินค้า GI ลำดับ 2 ของจังหวัดสตูลต่อจากสินค้าจำปาดะสตูล และเป็นสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI ลำดับที่ 209 ของไทย โดยมั่นใจว่าการขึ้นทะเบียน GI ในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้สินค้าเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น และสามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูก และชุมชนในแหล่งผลิตได้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับ กระท้อนนาปริกสตูล ถูกปลูกในพื้นที่บ้านนาปริก จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกระท้อนที่มีมานานกว่า 30 ปี พื้นที่ใกล้ทะเล มีฝนตกชุกในช่วงฤดูฝน ทำให้มีแหล่งน้ำใต้ดินจำนวนมาก ปริมาณน้ำเพียงพอและมีความชื้นที่เหมาะกับการปลูกกระท้อน ด้วยแหล่งภูมิศาสตร์นี้ ประกอบกับกระบวนการปลูกที่พิถีพิถันของเกษตรกร ส่งผลให้กระท้อนนาปริกสตูลมีรสชาติที่หวานอร่อย เนื้อหนานุ่ม ปุยหุ้มเมล็ด หนาฟู ไม่เหนียว สามารถรับประทานเนื้อได้จนเกือบถึงเปลือกผล มีความโดดเด่น อัตลักษณ์ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากกระท้อนในพื้นที่อื่นๆ
โดยพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ พันธุ์อีล่า ด้วยผลใหญ่ยักษ์ เปลือกบาง ใช้ช้อนตักกินแบบสบาย ๆ เนื้อปุยนิ่ม อร่อยกำลังดี อร่อยจนโด่งดัง และมีชื่อเสียงแพร่หลาย และยังมีพันธุ์ปุยฝ้าย พันธุ์นิ่มนวล พันธุ์เขียวหวาน และพันธุ์ทับทิม
ทั้งนี้ กระท้อนนาปริกสตูลนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดสตูล ถูกผลักดันให้สินค้าสามารถนำเข้าแข่งขันในตลาดโลกได้ อีกทั้งยังเป็นสินค้าภูมิปัญญาที่มีการถ่ายทอดเทคนิคและวิธีการปลูกจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อคงคุณภาพที่ดีและความเป็นเอกลักษณ์จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสร้างรายได้เข้าจังหวัดสตูลและเกษตรกรในพื้นที่ และมีการขยายผลไปสู่การเชื่อมโยงท่องเที่ยวชุมชนตามคำขวัญ ‘แหล่งกระท้อน นุ่มหวาน ดินแดนประวัติศาสตร์โบราณ ประตูอุทยานธรณี’
นายนภินทรกล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เดินหน้าผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI แล้วรวม 209 รายการ สร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดกว่า 73,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า และช่วยขยายช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อผลักดันให้สินค้า GI เป็นหนึ่งในสินค้าที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล
โดยเกษตรกรหรือชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ ที่สนใจนำสินค้าชุมชนที่มีอัตลักษณ์และเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ สามารถนำมาปรึกษาเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 1368