พาณิชย์ เผยสหรัฐฯ เก็บ CVD โซลาเซลล์ไทยต่ำกว่าเพื่อนบ้าน หนุนเพิ่มแต้มต่อส่งออก
พาณิชย์ แจ้งข่าว สหรัฐฯ ประกาศผลไต่สวนเบื้องต้นเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) สินค้าเซลล์แสงอาทิตย์แล้ว ผู้ส่งออกรายหลักโดนต่ำสุด 0.14% ไม่ตอบแบบสอบถามโดนสูงสุด 34.52% รายอื่น 23.06% ส่วนคู่แข่งโดนหนัก ทั้งกัมพูชา มาเลเซีย และเวียดนาม ชี้ไทยมีแต้มต่อสู้สินค้าจากเพื่อนบ้าน ลุ้นประกาศผลขั้นสุดท้าย ก.พ.-มี.ค.68 ส่วน AD คาดประกาศผล 27 พ.ย.นี้
นายนพดล คันธมาศ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2567 สหรัฐฯ ได้ประกาศผลการใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) สินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ของไทยเบื้องต้น อยู่ที่ 0.14–34.52% โดยบริษัทผู้ส่งออกรายหลักที่ถูกเลือกให้ตอบแบบสอบถาม มีส่วนเหลื่อมอยู่ที่ 0.14% ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จนเข้าข่ายว่าไม่มีการอุดหนุน (De minimis) และจะไม่ถูกเรียกเก็บอากร CVD ในขณะที่ผู้ส่งออกที่ไม่ให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามมีส่วนเหลื่อมอยู่ที่ 34.52% และผู้ส่งออกรายอื่นอยู่ที่ 23.06%
สำหรับ 3 ประเทศที่ถูกกล่าวหาพร้อมกันกับไทย พบว่า มีอัตรา CVD ดังนี้ กัมพูชา 8.25–68.45% มาเลเซีย 3.47–123.94% และเวียดนาม 0.81–292.61% ซึ่งสหรัฐฯ จะเริ่มเก็บอากรในอัตราดังกล่าวย้อนหลังไป 90 วัน นับจากการประกาศผลเบื้องต้นอย่างเป็นทางการ
“การเปิดเผยผลในครั้งนี้ สร้างโอกาสให้ผู้ส่งออกเซลล์แสงอาทิตย์ของไทย มีความได้เปรียบในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากอัตรา CVD ของไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน”นายนพดลกล่าว
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน พ.ค.2567 สหรัฐฯ เปิดไต่สวนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duty : AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) สินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ (Crystalline Silicon Photovoltaic Cells : CSPV) จากไทย กัมพูชา มาเลเซีย และเวียดนาม
โดยอุตสาหกรรมภายในสหรัฐฯ กล่าวหาว่า รัฐบาลไทยให้การอุดหนุนผ่าน 8 โครงการ เช่น โครงการลด ยกเว้นภาษี และการสนับสนุนจากโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) กรมในฐานะหน่วยงานหลักได้ประสานงานกับ 14 หน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดทำข้อโต้แย้งต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว
ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้า CSPV อันดับหนึ่งของไทย หรือคิดเป็นสัดส่วน 75.27% และปัจจุบันไทยเป็นคู่ค้าสำคัญในการนำเข้าสินค้า CSPV ของสหรัฐฯ โดยในปี 2566 สหรัฐฯ นำเข้าเซลล์แสงอาทิตย์จากไทยเป็นลำดับ 2 คิดเป็นปริมาณ 23.96 ล้านชิ้น มูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 24.68% รองจากเวียดนามที่มีสัดส่วน 27.09% ของการนำเข้าสินค้า CSPV ทั้งหมดของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม กระบวนการไต่สวนยังไม่สิ้นสุด โดยขั้นตอนต่อไปสหรัฐฯ จะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล (Verification) ของผู้ส่งออกไทยก่อนประกาศผลการพิจารณาการไต่สวนชั้นที่สุด (Final Determinations) ประมาณช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.2568 และสำหรับมาตรการ AD สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศผลการไต่สวนเบื้องต้นภายในวันที่ 27 พ.ย.2567
ซึ่งกรมพร้อมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะบูรณาการร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับที่ปรึกษากฎหมาย ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในกรณีนี้ เพื่อต่อสู้และแก้ต่างข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ รวมทั้งปกป้องผู้ส่งออกสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ของไทยทุกราย โดยมุ่งหวังให้ผู้ส่งออกและอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ของไทยจะไม่ถูกเรียกเก็บอากร CVD หรือถูกเรียกเก็บในเกณฑ์ที่ต่ำที่สุด เพื่อลดอุปสรรคและสร้างความเป็นธรรมทางการค้า รวมถึงการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยอย่างสูงสุด
ไทยได้แต้มต่อหลังสหรัฐฯ ประกาศผลเบื้องต้นเก็บภาษีอุดหนุนโซลาเซลล์จากไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
สหรัฐฯ เผยผลไต่สวนเบื้องต้นเพื่อตอบโต้การอุดหนุน หรือ CVD สินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ พบไทยมีอัตรา CVD เพียง 0.14 – 34.52% ทำให้ไทยมีแต้มต่อที่สำคัญในการส่งออกเซลล์แสงอาทิตย์ไปยังสหรัฐฯ โดย คต. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการแก้ต่างต่อไป เพื่อให้ผลการไต่สวนชั้นที่สุดเป็นคุณกับผู้ส่งออกไทยยิ่งขึ้น
นายนพดล คันธมาศ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 สหรัฐฯ เปิดไต่สวนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duty: AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) สินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ (Crystalline Silicon Photovoltaic Cells: CSPV) จากไทย กัมพูชา มาเลเซีย และเวียดนาม
โดยอุตสาหกรรมภายในสหรัฐฯ กล่าวหาว่า รัฐบาลไทยให้การอุดหนุนผ่าน 8 โครงการ เช่น โครงการลด/ยกเว้นภาษี และการสนับสนุนจากโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) คต. ในฐานะหน่วยงานหลักได้ประสานงานกับ 14 หน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดทำข้อโต้แย้งต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 สหรัฐฯ ได้ประกาศผล CVD เบื้องต้น (Preliminary Affirmative Determinations) แสดงให้เห็นว่าส่วนเหลื่อมการให้การอุดหนุนสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ของไทยอยู่ที่ 0.14 – 34.52%
โดยบริษัทผู้ส่งออกรายหลักที่ถูกเลือกให้ตอบแบบสอบถามมีส่วนเหลื่อมอยู่ที่ 0.14% ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำมากจนเข้าข่ายว่าไม่มีการอุดหนุน (De minimis) และจะไม่ถูกเรียกเก็บอากร CVD ในขณะที่ผู้ส่งออกที่ไม่ให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามมีส่วนเหลื่อมอยู่ที่ 34.52% และผู้ส่งออกรายอื่นอยู่ที่ 23.06% สำหรับ 3 ประเทศที่ถูกกล่าวหาพบว่า มีอัตรา CVD ดังนี้ กัมพูชา 8.25 – 68.45%, มาเลเซีย 3.47 – 123.94%, และเวียดนาม 0.81 – 292.61%
ซึ่งสหรัฐฯ จะเริ่มเก็บอากรในอัตราดังกล่าวย้อนหลังไป 90 วัน นับจากการประกาศผลเบื้องต้นอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี การเปิดเผยผลนี้สร้างโอกาสให้ผู้ส่งออกเซลล์แสงอาทิตย์ของไทยมีความได้เปรียบในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากอัตรา CVD ของไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
นายนพดลฯ เพิ่มเติมว่า สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้า CSPV อันดับหนึ่งของไทย หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.27 และปัจจุบันไทยเป็นคู่ค้าสำคัญในการนำเข้าสินค้า CSPV ของสหรัฐฯ โดยในปี 2566 สหรัฐฯ นำเข้าเซลล์แสงอาทิตย์จากไทยเป็นลำดับ 2 คิดเป็นปริมาณ 23.96 ล้านชิ้น มูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.68 รองจากเวียดนามที่มีสัดส่วนร้อยละ 27.09 ของการนำเข้าสินค้า CSPV ทั้งหมดของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ กระบวนการไต่สวนยังไม่สิ้นสุด โดยขั้นตอนต่อไปสหรัฐฯ จะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล (Verification) ของผู้ส่งออกไทยก่อนประกาศผลการพิจารณาการไต่สวนชั้นที่สุด (Final Determinations) ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2568 และสำหรับมาตรการ AD สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศผลการไต่สวนเบื้องต้นภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567
คต. พร้อมกับหน่วยงานภาครัฐฯ ที่เกี่ยวข้อง จะบูรณาการร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับที่ปรึกษากฎหมายที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในกรณีนี้ เพื่อต่อสู้และแก้ต่างข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ รวมทั้งปกป้องผู้ส่งออกสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ของไทยทุกราย โดยมุ่งหวังให้ผู้ส่งออกและอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ของไทยจะไม่ถูกเรียกเก็บอากร CVD หรือถูกเรียกเก็บในเกณฑ์ที่ต่ำที่สุด เพื่อลดอุปสรรคและสร้างความเป็นธรรมทางการค้า รวมถึงการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยอย่างสูงสุด สำหรับผู้มีส่วนได้เสียหรือ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th