ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สําหรับการประชุมรัฐภาคี กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (ASEAN Joint Statement on Climate Change to UNFCCC COP 29)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสําหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 รวมทั้ง มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทน ที่ได้รับมอบหมาย ให้ความเห็นชอบ (Endorsement) ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และมอบหมายให้นายกรัฐมนตรี หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรอง (Adoption) ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนต่อไป โดยหากมีความจําเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสําคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดําเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญ
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในฐานะประธานอาเซียน ปี พ.ศ. 2567 ได้จัดทําร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสําหรับการประชุมรัฐภาคี กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 เพื่อแสดงจุดยืนและความมุ่งมั่นในการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน และประเด็นที่ประสงค์จะผลักดันร่วมกันต่อกรอบอนุสัญญาฯ ซึ่งในห้วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน ด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 35 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 คณะทํางานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Working Group on Climate Change : AWGCC) และเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Senior Officials Meeting on the Environment : ASOEN) มีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ตามลําดับ โดยสํานักเลขาธิการอาเซียนได้แจ้งเวียนร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ (Endorsement) ในลักษณะ Ad-referendum ก่อนเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และครั้งที่ 45 (44th - 45th ASEAN Summit) เพื่อพิจารณาให้การรับรอง (Adoption) ในระหว่างวันที่ 6 – 11 ตุลาคม 2567
ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สําหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 สรุปสาระสําคัญ ดังนี้
1) การดําเนินงานของประเทศสมาชิกอาเซียน ตามพันธกรณีภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ และกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการ AWGCC Action Plan อาทิ การจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ (ASEAN Centre for Climate Change: ACCC) การสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด (Nationally Determined Contributions : NDC) และการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2) การดําเนินงานภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสําคัญ อาทิ การสนับสนุนทางการเงิน การเสริมสร้างศักยภาพ และเทคโนโลยีเพื่อการดําเนินงานด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทบทวนสถานการณ์และการดําเนินงานระดับโลก ครั้งที่ 1 (the First Global Stocktake) การเร่งระดมเงินสนับสนุนให้กลุ่มประเทศกําลังพัฒนา 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี การเข้าถึงกองทุน เพื่อการสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) การมีส่วนร่วมของสตรี เยาวชนและชุมชนท้องถิ่น และความเท่าเทียม รวมถึงการผลักดันแนวปฏิบัติ และกฎการดําเนินงานสําหรับข้อ 6 ของความตกลงปารีส (Article 6 of the Paris Agreement)
ประโยชน์และผลกระทบ
ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สําหรับการประชุม รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการดําเนินงานและสอดคล้องกับนโยบายและแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและนําไปสู่ความยั่งยืน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 8 ตุลาคม 2567
10286