ร่างเอกสารถ้อยแถลงในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านปัญญาประดิษฐ์ [ASEAN Ministerial Meeting on Science, Technology and Innovation (AMMSTI) Statement on Artificial Intelligence (AI)]
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างเอกสารถ้อยแถลงในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านปัญญาประดิษฐ์ (การประชุมรัฐมนตรีฯ) [ASEAN Ministerial Meeting on Science, Technology and Innovation (AMMSTI) Statement on Artificial Intelligence (AI)] (ร่างเอกสารฯ) ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ อว. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
สาระสำคัญ
ร่างเอกสารฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ตระหนักถึงศักยภาพของ AI ในการขับเคลื่อนและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการรองรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี AI โดยมีสาระสำคัญ เช่น 1) ความสำคัญของศักยภาพที่เปลี่ยนแปลงของ AI อาทิ ความสำคัญของศักยภาพที่เปลี่ยนแปลงของ AI ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างก้าวกระโดด และตระหนักถึงความจำเป็นในการดำเนินการร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จาก AI รวมถึงการเน้นย้ำถึงผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และจริยธรรมในหลายมิติ 2) ผลกระทบของ AI ต่อเศรษฐกิจอาเซียน เช่น AI ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ที่สูงขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 18 ซึ่งจะมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 35 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030 3) คณะทำงานภายใต้การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล (ASEAN Digital Senior Officials’ Meeting: ADGSOM) 4) การประกาศแนวทางการติดตามข้อริเริ่มของคณะกรรมการฯ ในด้าน AI เช่น การประกาศแนวทางการติดตามข้อริเริ่มของคณะกรรมการฯ ในด้าน AI ระหว่างปี 2024-2025 ซึ่งเป็นการยกระดับกิจกรรมด้านการพัฒนาศักยภาพด้าน AI ในระดับภูมิภาค 5) การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมการเป็นผู้ประกอบการและความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ ผลักดันการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึง AI เพื่อรองรับความท้าทายและโอกาสที่มีร่วมกันในด้านต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ การศึกษา สารสนเทศ การเกษตร และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 6) การผลักดันการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI เช่น เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำการขยายการเข้าถึงการศึกษา การดูแลสุขภาพ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นว่าการใช้ประโยชน์จาก AI จะถูกแบ่งปันอย่างเท่าเทียมกันในทุกภาคส่วนของสังคม 7) การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรเพื่อส่งเสริมให้กำลังคนมีทักษะและความรู้ที่จำเป็นเพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI เช่น เน้นย้ำความสำคัญของการศึกษา การฝึกอบรม การมีส่วนร่วมของประชาชน และข้อริเริ่มในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรเพื่อส่งเสริมให้กำลังคนมีทักษะและความรู้ที่จำเป็นเพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI 8) แนวทางปฏิบัติและทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น (1) แบ่งปันแนวทางปฏิบัติและทรัพยากรที่ดีเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการพัฒนาทักษะ (2) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะกำลังคน โดยการพัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมที่เหมาะสมเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและลดปัญหาช่องว่างด้านทักษะ 9) ความสำคัญของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน AI เช่น เน้นย้ำความสำคัญของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน AI รวมถึงข้อมูลทรัพยากรคอมพิวเตอร์และการเชื่อมต่อเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าและการปรับใช้แอปพลิเคชันและบริการ AI อย่างทั่วถึงในอาเซียน 10) กลไกการกำกับดูแลข้อมูล เช่น เน้นย้ำความสำคัญของความจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งของกรอบและกลไกการกำกับดูแลข้อมูลเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยและความสมบูรณ์ของข้อมูล รวมทั้งการส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูล การเชื่อมโยงและการทำงานร่วมกันของระบบและนวัตกรรมในแอปพลิเคชัน AI 11) การสนับสนุนความร่วมมือในการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยี AI เช่น สนับสนุนความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนอย่างทั่วถึงเพื่อการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศในอาเซียน 12) การส่งเสริมความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น สัญญาที่จะส่งเสริมความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศคู่เจรจา หุ้นส่วนการพัฒนา องค์กรระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรมและชุมชน เพื่อแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญและทรัพยากร รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมด้าน AI และสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนมีความรับผิดชอบและไม่เหลื่อมล้ำแบบก้าวกระโดด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 8 ตุลาคม 2567
10279