ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สํานักงาน ก.พ.ร. สํานักงานอัยการสูงสุด และสํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดําเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สํานักงานอัยการสูงสุด และสํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไปพิจารณาดําเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญ
1. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง พ.ศ. .... ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เป็นการออกกฎหมายลําดับรองซึ่งออกตามความในประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่บัญญัติให้การขออนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การแก้ไขรายการในใบอนุญาต การให้ผู้รับอนุญาตดําเนินการเพื่อประโยชน์ในการควบคุมกํากับดูแล และการกําหนดอัตราค่าธรรมเนียมการขออนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง ประกอบกับพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ
พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้บรรดากฎกระทรวงยังคงใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือจนกว่าจะมีกฎกระทรวงมาใช้บังคับ ซึ่งมีการนําสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูก ภายในประเทศ ไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ทางพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมภายในประเทศ และอาจมีการนําไปใช้ในทางที่ผิดซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ จึงมีความจําเป็นที่จะต้องออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้เพื่อใช้บังคับแทนกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 และกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ. 2564 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ มีสาระสําคัญเป็นการกําหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง กําหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทน ใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การแก้ไขรายการในใบอนุญาต การดําเนินการของผู้รับอนุญาต เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแล และการกําหนดอัตราค่าธรรมเนียม ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรม การวิเคราะห์หรือศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเพื่อประโยชน์ของทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แต่โดยที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 กําหนดยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ได้แก่ สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ยกเว้นสารสกัด ดังต่อไปนี้
1) สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ
2) สารสกัดจากเมล็ดของกัญชาหรือกัญชง ที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ จึงได้เพิ่มนิยาม “สารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชา” และ “ผลิต” เพื่อให้สอดรับกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 และกําหนดให้การยื่นคําขออนุญาตให้ยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก รวมทั้งกําหนดคุณสมบัติ ผู้ขอรับอนุญาต ได้แก่ บุคคลธรรมดา นิติบุคคล วิสาหกิจชุมชน หน่วยงานของรัฐ สภากาชาดไทย สถาบันอุดมศึกษา โดยแยกตามวัตถุประสงค์ในการขออนุญาต เช่น เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม การวิเคราะห์หรือศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ รวมทั้ง เพื่อประโยชน์ของทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับ
ยาเสพติดและกําหนดให้ใบอนุญาตใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่ 3 นับจากปีที่อนุญาต ตลอดจนกําหนดหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต เช่น 1) จัดให้มีการแยกเก็บสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนสัดจากยาหรือวัตถุอื่น 2) จัดให้มีการวิเคราะห์หาปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ทุกครั้งที่ผลิต และกําหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตซึ่งไม่เกิน อัตราค่าธรรมเนียมที่กําหนดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเห็นชอบด้วยแล้ว
3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สํานักงาน ก.พ.ร. สํานักงานอัยการสูงสุด และสํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีข้อสังเกตเพิ่มเติมบางประการ เช่น สํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเห็นว่าควรมีการอนุญาตให้ผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง เฉพาะกรณีเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ และเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์หรือการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ศาสตร์เท่านั้น เนื่องจากเป็นวัตถุประสงค์ที่มีความชัดเจนและเกิดประโยชน์ทางสุขภาพสูงสุด ซึ่งเป็นผลที่คาดหวังและเป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักในการอนุญาตให้ใช้สารสกัดจากพืชกัญชา หรือกัญชง ส่วนสารสกัดกัญชาและกัญชงควรกําหนดให้มีการแสดงรายละเอียดแหล่งที่มาของวัตถุดิบพืชกัญชาหรือกัญชงให้ชัดเจนว่ามีแหล่งที่มาจากแหล่งใด เพื่อเป็นการแสดงแหล่งที่มาของวัตถุดิบและเพื่อให้สามารถตรวจสอบปริมาณสารสกัดให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 8 ตุลาคม 2567
10269