มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร
คณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ตามที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ โดยให้กระทรวงมหาดไทยสรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวมแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ขอให้ นำมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเสนอคณะรัฐมนตรี เช่น เร่งรัดพัฒนาระบบเทคโนโลยีการขออนุญาต/ใบรับรองการก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ จัดให้มีคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาออกใบอนุญาต จัดให้มีระบบการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริต ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและเมื่อคณะรัฐมนตรีได้รับแจ้งมาตรการฯ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว หากเป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินการได้ ให้แจ้งปัญหาและอุปสรรคต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป ทั้งนี้ ไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ครบกำหนดวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567)
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบมาตรการป้องกัน การทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร จำนวน 5 ข้อ สรุปได้ ดังนี้
1. เห็นควรให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งรัดในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีการขออนุญาตก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารออนไลน์ และการขอใบรับรองการก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดแผนและระยะเวลาเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีการขออนุญาตก่อสร้าง หรืออาคารออนไลน์ให้ชัดเจน พร้อมทั้งให้ อปท. และ อปท. รูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีการขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารออนไลน์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและพัฒนาระบบติดตามการขออนุญาตออนไลน์ เพื่อตรวจสอบถึงสถานะของการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารของหน่วยงานได้ เพื่อเป็นการลดช่องทางการติดต่อระหว่างผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตโดยตรง จะทำให้การดำเนินการอนุญาตเป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้มาติดต่อ และลดการใช้ดุลพินิจ การทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ในการออกใบอนุญาตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. กระทรวงมหาดไทย (มท.) ควรพัฒนาระบบ One Stop Service โดยการเชื่อมโยงการอนุมัติ อนุญาต ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ควรบูรณาการการทำงานร่วมกัน และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน รวมถึงควรมีการเปิดเผยข้อมูล ทุกหน่วยงาน โดยการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต้องคำนึงถึงมาตรฐานของข้อมูล คุณภาพของข้อมูล ความสะดวก ในการนำไปใช้ต่อของผู้ใช้งานข้อมูล และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ จากข้อมูลที่หน่วยงานภาครัฐเปิดเผย ให้ประชาชนเข้าถึงได้ครบถ้วน ง่าย สะดวก ไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่มีข้อจำกัด การมีข้อมูลที่ครบถ้วนที่ภาครัฐเปิดเผย จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้
3. ควรใช้กลไกการตรวจสอบโดยเอกชน (Third Party Inspector) เข้ามามีบทบาทร่วมตรวจแบบแปลนและการก่อสร้างทั้งในขั้นตอนก่อนก่อสร้าง ระหว่างก่อสร้าง และหลังก่อสร้าง เช่นเดียวกับต่างประเทศ โดยการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารทั้งในส่วนของพระราชบัญญัติและกฎกระทรวง รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่อำนาจในการพิจารณาออกใบอนุญาตยังคงเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเช่นเดิม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าการตรวจสอบความปลอดภัยอาคารมีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของนายตรวจเอกชนให้รัดกุม เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายตรวจเอกชนเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ถูกต้อง และโปร่งใส ซึ่งจะทำให้การพิจารณารวดเร็ว ลดปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ได้ รวมถึงแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เพียงพออีกด้วย
4. ควรจัดให้มีคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และประชาชนที่ขอใบอนุญาตดังกล่าว โดยเป็นคู่มือเกี่ยวกับรายละเอียดการพิจารณาอาคาร หรือดัดแปลงอาคารแต่ละประเภท พร้อมทั้งจัดทำในรูปแบบอินโฟกราฟิกส์ รวมถึงการมีรายการตรวจสอบ (Checklist) ที่เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต และควรจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ในกระบวนการอนุมัติ อนุญาต อย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง ลดปัญหาการเกิดความเข้าใจผิดระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน
5. ควรจัดให้มีระบบการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตที่มีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงาน เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการ ตลอดจนสิทธิที่ได้รับในการแจ้งเบาะแสการทุจริตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และกฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้บำเหน็จความชอบ การกันเป็นพยาน การลดโทษ และการให้ความคุ้มครองพยาน พ.ศ. 2553
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 24 กันยายน 2567
9654