หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov 04


ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้

          1. ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)1 (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) และให้ สศช. สามารถปรับปรุงถ้อยคำในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีก

          2. ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT (IMT-GT Minister) และเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT (Joint Statement of the 29th IMT-GT Ministerial Meeting) (การประชุมระดับรัฐมนตรีฯ) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระหว่างวันที่ 27 - 29 กันยายน 2566

          3. ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) ได้ร่วมกับรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของประเทศสมาชิก ให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ ในวันที่ 29 กันยายน 2566 โดยไม่มีการลงนาม

          สาระสำคัญของเรื่อง

          1) ในช่วงที่ผ่านมาแผนงาน IMT-GT ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อสั่งการของที่ประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects : PCPs) ให้ความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อด่านพรมแดนสะเดา -บูกิตกะยูฮิตัม สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมภายใต้แคมเปญปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT พ.ศ. 2566 - 2568 ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่ายางพาราภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยางในอนุภูมิภาค และมุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเป็นตัวกระตุ้นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค IMT-GT

          2) การประชุมระดับรัฐมนตรีฯ มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 29 กันยายน 2566 ณ โรงแรมบาตัม แมริออท ฮาร์เบอร์ เบย์ เมืองบาตัม จังหวัดเกาะเรียล สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยจะมีการรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

               (1) การพัฒนาที่ยั่งยืนของอนุภูมิภาค เช่น เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืนของอนุภูมิภาคผ่านความร่วมมืออย่างรอบด้าน รวมถึงให้ทุกภาคส่วนดำเนินการเชิงรุกในการนำประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอนุภูมิภาค อาทิ ผลกระทบจากปรากฏการเอลนีโญที่ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งในภาคเกษตรกรรม และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลให้เกิดอุทกภัยเพิ่มมากขึ้นไปดำเนินงานเพื่อริเริ่มและมุ่งสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

               (2) การพัฒนาภาคเกษตรกรรม ได้แก่ ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเร่งการบูรณาการเทคโนโลยีด้านการเกษตร การเพิ่มผลผลิตและการจัดการกับความท้าทายร่วมกับสาขาความร่วมมืออื่นๆ เพื่อสร้างระบบอาหารที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะสอดรับกับหลักการของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน2 เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งสนับสนุนความพยายามในการเร่งรัดการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเรื่องน้ำมันปาล์มเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสินค้าเชิงกลยุทธ์ของอนุภูมิภาค

               (3) การพัฒนาภาคบริการฮาลาล ได้แก่ สนับสนุนการริเริ่มความร่วมมือด้านฮาลาลเพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศด้านเศรษฐกิจฮาลาลของอนุภูมิภาคในโครงการที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เช่น การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับห่วงโซ่อุปทานฮาลาล ระบบการลงทะเบียนฮาลาลออนไลน์ และระบบข้อมูลบูรณาการฮาลาล เพื่อมุ่งพัฒนาความร่วมมือฮาลาลในอนุภูมิภาค IMT-GT พร้อมทั้งสนับสนุนให้ทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันการพัฒนาโครงการที่มุ่งยกระดับความโดดเด่นด้านฮาลาลของอนุภูมิภาค IMT-GT ในตลาดโลก

               (4) การพัฒนาภาคการท่องเที่ยว ได้แก่ เร่งพัฒนาให้อนุภูมิภาค IMT-GT เป็นจุดหมายปลายทางแห่งเดียวกันในการท่องเที่ยวโดยมีการจัดทำโครงการเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงสำหรับการขับรถท่องเที่ยวด้วยตนเอง รวมทั้งสนับสนุนให้คณะทำงานสาขาการท่องเที่ยวกระชับความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ และรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกัน

               (5) การพัฒนาโครงการการเชื่อมต่อทางกายภาพในอนุภูมิภาค เช่น สนับสนุนการพัฒนาโครงการการเชื่อมต่อทางกายภาพภายในอนุภูมิภาคเพื่อเชื่อมโยงร่วมกันทั้งสามฝ่ายต่อไปอย่างแข็งขัน 

               (6) การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในระดับอนุภูมิภาค เช่น เน้นย้ำถึงการพัฒนาระบบดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการเชื่อมต่อและการพัฒนาระบบนิเวศ 5G สำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ รวมทั้งคำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพความรู้ด้านดิจิทัลภายในอนุภูมิภาค และการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดย่อย (Micro, Small and Medium Enterprise : MSMEs) ในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการอย่างมีประสิทธิภาพ

               (7) การลดก๊าซเรือนกระจกในอนุภูมิภาค ได้แก่ เร่งรัดการบรรลุเป้าหมายที่ระบุไว้ในกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนของ IMT-GT (พ.ศ. 2562 - 2579) และการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ครั้งที่ 26 ในปี 2564 ผ่านการดำเนินโครงการ เช่น การจัดการขยะแบบบูรณาการ การฟื้นฟูพื้นที่พรุและป่าชายเลน โครงการเมืองคาร์บอนต่ำ การเสริมสร้างขีดความสามารถสำหรับการตอบสนองต่อการรั่วไหลของน้ำมันในทะเลและข้อริเริ่มในการจัดการการรั่วไหลของน้ำมันและก้อนน้ำมันดิน

               (8) ความร่วมมือและบทบาทที่สำคัญของภาคส่วนต่างๆ ในอนุภูมิภาค ได้แก่ตระหนักถึงความร่วมมือและบทบาทที่สำคัญของภาคเอกชน เครือข่ายมหาวิทยาลัยพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ และพันธมิตรที่มีศักยภาพ ที่ดำเนินงานร่วมกับคณะทำงานสาขาต่างๆ ภายใต้แผนงาน IMT-GT และรัฐบาลท้องถิ่นในการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของอนุภูมิภาค

          ทั้งนี้ประโยชน์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ เช่น ส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จากการพัฒนาความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคภายใต้แผนงาน IMT-GT ในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สอดประสานกันระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่น สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างประเทศเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา ปาล์มน้ำมัน และฮาลาล รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในกิจการที่ไทยมีศักยภาพเพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน

_____________________________

1IMT-GT ย่อมาจาก Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle คือ แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย

2เศรษฐกิจสีน้ำเงิน คือ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 กันยายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A9963

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!