สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่อุทยาน 115 แห่งทั่วประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) พร้อมด้วย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ร่วมกันทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานการติดตั้งเสาให้บริการโทรคมนาคมในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยมี นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามฯ
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ปฏิบัติงาน ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ จำนวน 156 แห่ง หลายแห่งเป็นพื้นที่ห่างไกล ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ต บางแห่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีผู้ให้บริการหรือมีการบริการแต่ไม่ทั่งถึงและไม่เพียงพอ ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามภารกิจและการให้บริการประชาชน ทำให้การปฏิบัติงานขาดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย รวมถึงการติดต่อสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ เป็นไปด้วยความลำบาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงขอรับการสนับสนุนภายใต้โครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม โดยใช้งบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) วงเงิน 161.75 ล้านบาท ในพื้นที่อุทยานจำนวน 115 แห่ง ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
สำหรับรูปแบบการดำเนินงาน จะมีการติดตั้งชุดเสาให้บริการ Free WiFi เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ รวมถึงประชาชนที่พักอาศัยในเขตอุทยานที่ถูกต้องตามกฎหมาย และ ตู้คอนเทนเนอร์บริการ USO โดยมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ต่างๆ บริการฟรี 60 เดือน ติดตั้งในพื้นที่บริการประชาชน และพื้นที่จอดรถบริเวณลานกางเต็นท์
“วัตถุประสงค์หลักของโครงการ คือการเพิ่มขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในพื้นที่ห่างไกล เช่น อุทยานแห่งชาติที่ไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้อย่างเพียงพอ ส่งเสริมให้ประชาชน นักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่สามารถใช้บริการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมเชื่อว่าในพื้นที่ไหนถ้าการสื่อสารผ่านโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ตติดต่อกันได้ง่าย นอกจากความสะดวกสบาย ยังทำให้เรารู้สึกอุ่นใจ ว่าการสื่อสารจะช่วยเหลือเราได้ในสถานการณ์คับขัน ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน” นายไตรรัตน์ กล่าว
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานได้ศึกษา และพิจารณาความรอบคอบในหลายด้าน ทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การรักษาภูมิทัศน์ และทัศนียภาพทางธรรมชาติ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ โดยให้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
10138