‘ยกระดับเศรษฐกิจการเงินดิจิทัลด้วยข้อมูล’นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง งานเปิดตัวโครงการ Your Data : ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
วันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจัด “งานเปิดตัวโครงการ Your Data: ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์” ซึ่งเป็นการแสดงพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเงินดิจิทัลด้วยข้อมูล
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ
รัฐบาลตระหนักดีว่า ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เราจำเป็นจะต้องยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพของกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความเป็นดิจิทัลในหลายมิติ ทั้งการดึงดูดการลงทุนของบริษัทดิจิทัลระดับโลกมาไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การส่งเสริมนวัตกรรม การพัฒนาคน รวมถึงการยกระดับการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ข้อมูลเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ติดเครื่องให้เทคโนโลยีดิจิทัลทำงานได้เต็มศักยภาพ ทุกท่านลองจินตนาการดูว่า หากประชาชนและผู้ประกอบการ สามารถเข้าถึงข้อมูลของตัวเองที่อยู่กระจัดกระจายหลายที่ได้อย่างสะดวกและเป็นระบบ ผ่านช่องทางดิจิทัล ก็จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ได้ง่าย รวมทั้งยังเอื้อต่อการวางแผนและบริหารจัดการชีวิตอีกด้วย
หากธุรกิจหรือผู้ให้บริการทางการเงิน มีข้อมูลที่ทำให้รู้จักและเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า ก็จะสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น รวมทั้งสามารถประเมินโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจได้ หากภาครัฐมีข้อมูลที่ทำให้รู้จักและเข้าใจประชาชนว่ากลุ่มไหนมีลักษณะอย่างไร กลุ่มใดเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือในรูปแบบใด ก็จะสามารถออกแบบนโยบาย และช่วยเหลือประชาชนได้ตรงจุด จัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น ภาครัฐจึงอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลของประชาชนและผู้ประกอบการที่ถูกเก็บอยู่กับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับระบบเศรษฐกิจการเงิน ตั้งแต่การใช้ข้อมูลเพื่อทำนโยบายให้เหมาะสม ไปจนถึงการให้ประชาชนนำข้อมูลตนเองไปใช้ประโยชนได้มากขึ้น เช่น การบูรณาการข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย (Data-Driven Policy) ของกระทรวงการคลัง ที่รวบรวมข้อมูลของประชาชนและผู้ประกอบการจากหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงจัดทำเป็น Data Lake ซึ่งจะช่วยให้ผู้ออกแบบนโยบายเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้การทำนโยบายมีประสิทธิภาพและตรงจุดมากขึ้น
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency หรือ NaCGA) เพื่อให้กลไกการค้ำประกันของรัฐ เพิ่มโอกาสให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งการนำข้อมูลในมิติต่าง ๆ ของผู้ที่ต้องการเงินทุนมาใช้มากขึ้น จะทำให้สามารถประเมินความเสี่ยงและให้การค้ำประกันแก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
ในฝั่งของประชาชน กรมสรรพากรได้ร่วมกับสถาบันการเงินจัดทำโครงการคัดแบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้ประชาชนสามารถขอข้อมูลการยื่นภาษีเงินได้ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น โดยได้เริ่มทดลองการใช้งานแล้ว และคาดว่าจะเริ่มใช้งานจริงในปี 2568
อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA ได้จัดทำแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ที่รวบรวมข้อมูลของประชาชนจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ให้อยู่ในที่เดียว เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของตนเองและสามารถทำธุรกรรมกับภาครัฐได้อย่างสะดวกผ่านแอปพลิเคชันนี้ รวมทั้ง
การลงทะเบียนเพื่อรับโครงการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐในอนาคต
เมื่อมองในภาคการเงิน ข้อมูลถือเป็นหัวใจในการยกระดับบริการทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทปัจจุบันที่ประเทศไทยยังมีช่องว่างทางการเงิน (Financial gap) อยู่พอสมควร ทั้งในเรื่องการเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบของประชาชนและ SMEs รายเล็ก ๆ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงเกินความเสี่ยงที่แท้จริงของผู้กู้ หรือแม้แต่เรื่องการออมที่ไม่เพียงพอสำหรับการเกษียณอายุ
การที่ข้อมูลไหลเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการทางการเงิน และช่วยลดช่องว่างทางการเงินที่สำคัญ
ในฝั่งผู้ให้บริการทางการเงิน ข้อมูลที่มากพอจะช่วยให้การประเมินความเสี่ยงลูกค้าแม่นยำขึ้น เมื่อสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น ก็จะกล้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนและ SMEs ได้มากขึ้น และคิดอัตราดอกเบี้ยหรือค่าบริการที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละรายมากขึ้น นอกจากนี้ การมีข้อมูลลูกค้าที่ละเอียดและหลากหลายจะสามารถนำไปต่อยอด ออกแบบ พัฒนา และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้
ขณะเดียวกันในฝั่งผู้ใช้บริการทางการเงิน โอกาสในการเข้าถึงเงินทุนในระบบจะมากขึ้น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย หรือไม่มีรายได้ประจำ และ SMEs รายเล็ก ๆ ที่สถาบันการเงินระมัดระวังอย่างมากในการปล่อยสินเชื่อ เพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอต่อการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต และยังช่วยให้ผู้ใช้บริการทางการเงินมีโอกาสได้รับบริการที่ตรงกับความต้องการและมีการบริหารจัดการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์การออม ผลิตภัณฑ์ประกัน หรือบริการด้านการจัดการสินทรัพย์ส่วนบุคคล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการยกระดับบริการทางการเงินยังอยู่กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ และยังขาดกลไกรับส่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการทางการเงินไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างเต็มที่
งานวันนี้ จึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะแสดงความร่วมมือเพื่อสร้างกลไกที่ช่วยให้ข้อมูลตามสิทธิของประชาชนและ SMEs ไหลเวียนได้ดีขึ้น เพื่อให้ได้รับบริการทางการเงินที่ดีขึ้น และขอบคุณธนาคารแห่งประเทศไทยที่จัดงานในวันนี้ ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดกลไกการรับส่งข้อมูลผ่านช่องทางดิจิทัล ทั้งข้อมูลที่อยู่กับผู้ให้บริการในภาคการเงิน และที่อยู่กับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร สำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงาน คปภ. DGA การไฟฟ้าและการประปาทั้ง 4 แห่ง และผู้ให้บริการทางการเงิน
เพื่อให้ประชาชนและ SMEs สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนเอง โดยสามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลของตนได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และอยู่ภายใต้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและหลักธรรมาภิบาลข้อมูล
สุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่าข้อมูลของพวกเราทุกคนจะกลายมาเป็น game changer ที่ช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางการเงินและเพิ่มนวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มที่มีรายได้น้อยและ SMEs และจะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่นำพาเศรษฐกิจไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้ในที่สุด