หมวดหมู่: กลต.

 

ลงทุนอย่างรู้เท่าทัน : ‘ชี้ชวน’ ไม่ควรพลาด หากจะซื้อกองทุนรวม

โดย นางสาวสาริกา อภิวรรธกกุล 

ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 

          ความเดิมตอนที่แล้ว หลังจากที่เราได้รู้จักตัวเอง ทั้งเป้าหมายการเงิน และการยอมรับความเสี่ยง จนมีโพยกองทุนรวมที่ใช่อยู่ในมือ แต่พอจะเริ่มต้นลงทุน ก็มาเจอว่า กองทุนรวมที่เราแอบเล็งไว้ กลับมีหลายกองให้เลือก เช่น อยากลงทุนหุ้นไทย หุ้นสหรัฐฯ หรือว่าหุ้นจีน ก็มีตัวเลือกเป็นร้อยกองเลยทีเดียว เอาล่ะสิ! ไม่รู้ว่าแต่ละกองแตกต่างกันตรงไหน เลือกไม่ถูกกันเลยทีนี้ 

          อย่าเพิ่งกังวล ปัญหานี้คลี่คลายได้ด้วย Fund Fact Sheet ลายแทงขุมทรัพย์สำหรับผู้ลงทุนในกองทุนรวม Fund Fact Sheet หรือ หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุน มีขึ้นเพื่อให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลของกองทุนรวมแต่ละกองที่เสนอขาย และสามารถใช้เปรียบเทียบกองทุนรวมประเภทเดียวกันของหลายๆ บลจ. ก่อนตัดสินใจลงทุน เพราะ Fund Fact Sheet จะบอกสรรพคุณของกองทุนรวมนั้นว่าเป็นอย่างไร ตรงกับวัตถุประสงค์การลงทุน และสอดคล้องกับความเสี่ยงที่รับได้หรือไม่ ที่สำคัญทำให้เรารู้ว่า “เรากำลังจะลงทุนกับอะไร” 

 

1047 SEC ทริกเลือกกองทุนรวม


          ● 7 เรื่องสำคัญ ที่ Fund Fact Sheet บอกกับเรา

             1. ระดับความเสี่ยงเป็นแถบแสดงระดับความเสี่ยงของกองทุน ตั้งแต่ระดับ 1 – 8 โดย 1 เสี่ยงต่ำสุด และ 8 เสี่ยงสูงสุด

             2. นโยบายและกลยุทธ์การลงทุนระบุนโยบายการลงทุนแบบสรุปว่า กองทุนนั้นเน้นลงทุนทรัพย์สินใด มีกลยุทธ์บริหารแบบใด

             3. นโยบายการจ่ายเงินปันผล - มี/ไม่มี

             4. ผลการดำเนินงาน - กราฟแสดงผลงานในช่วง 5 ปีปฏิทิน พร้อมเปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัดและกองทุนรวมประเภทเดียวกัน

             5. เงื่อนไขการซื้อขายหน่วยลงทุนเช่น วันทำการซื้อ/ขาย เงินลงทุนขั้นต่ำ ระยะเวลาได้รับเงินค่าขายคืน เป็นต้น

             6. ค่าธรรมเนียม - ควรดูตรงเก็บจริงและเทียบกับกองทุนรวมที่มีนโยบายใกล้เคียงกัน เพราะเป็นต้นทุนของการลงทุน

             7. สัดส่วนทรัพย์สิน กลุ่มอุตสาหกรรม และทรัพย์สินที่กองทุนนั้นลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก (% NAV)

 

          ● ข้อมูลเชิงสถิติ ช่วยให้รู้จักกองทุนมากขึ้น

          นอกจาก 7 จุดสังเกตข้างต้นแล้ว Fund Fact Sheet ยังมีข้อมูลเชิงสถิติให้ศึกษา โดยข้อมูลเชิงสถิติ* เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวม เราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ผลงานในอดีตและเปรียบเทียบกองทุนได้เพิ่มเติม เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุน ขอยกตัวอย่างวิธีอ่านค่าสถิติ 2 คู่

          คู่แรก ผลตอบแทนกองทุน Vs ความผันผวนกองทุน ถ้าอยากรู้ว่ากองทุนรวมที่เราสนใจ มีผลตอบแทนย้อนหลัง และมีความผันผวนหรือความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน สามารถดูได้ที่ตาราง “ผลการดำเนินงานย้อนหลังแบบปักหมุด” ซึ่งแสดงผลตอบแทนและความผันผวนกองทุน จุดสังเกต ถ้ากองทุนมีผลตอบแทนสูง และมีค่าความผันผวนสูงด้วย ก็ต้องระมัดระวังมากกว่ากองทุนที่มีความผันผวนต่ำกว่า ดังนั้น ต้องพิจารณาตัวเลขทั้งสองค่าประกอบกันทุกครั้ง โดยในตารางนี้จะมีตัวเลขผลตอบแทนและความผันผวนของดัชนีชี้วัด (benchmark) ให้เปรียบเทียบกับกองทุนด้วย 

          คู่ที่สอง Maximum Drawdown Vs Recovery Period Maximum Drawdown จะแสดงผลขาดทุนสูงสุดในระยะเวลา 5 ปีย้อนหลัง หรือตั้งแต่จัดตั้งกองทุนกรณีที่ยังไม่ครบ 5 ปี เช่น Maximum Drawdown -50% แปลว่ากองทุนนี้เคยมีผลขาดทุนสูงสุดที่ -50% โดยวัดจากระดับ NAV ต่อหน่วยที่จุดสูงสุดไปถึงจุดที่ NAV ต่ำสุด ใครที่จะลงทุนก็อาจพิจารณาค่าดัชนีตัวนี้ เพื่อเช็กตัวเองว่า หากเราขาดทุนไปถึงระดับนี้จะรับได้ไหม หลังจากนั้นมาดูค่า Recovering Period หรือระยะเวลาฟื้นตัว ประกอบกันว่า ใช้เวลานานเท่าใด ที่กองทุนฟื้นจากช่วงขาดทุนหนักสุดให้กลับมาเท่าทุนได้ หากแสดงค่าเป็น N/A แปลว่า จนถึงปัจจุบันกองทุนยังไม่ฟื้นตัวกลับไปเท่าเดิม

 

          ● ผลการดำเนินงานในอดีต ไม่ได้การันตีผลการดำเนินงานในอนาคต

          ข้อความ disclaimer ข้างต้นนี้ จะอยู่ใน Fund Fact Sheet เสมอเพื่อย้ำเตือนผู้ลงทุนว่า ผลการดำเนินงานที่แสดงอยู่ในเอกสารเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาแล้ว เช่น หากผลการดำเนินงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กองทุนรวมนี้ทำได้ดี มีอัตราผลตอบแทนเติบโต ชนะดัชนีชี้วัดขาดลอย ผู้ลงทุนมาเห็นก็อย่าเพิ่งคาดหวัง และตัดสินใจลงทุนด้วยคิดว่า กองทุนรวมจะให้ผลตอบแทนเติบโตแบบนี้ตลอดไป เพราะเหตุและปัจจัยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา 

          อย่างไรก็ตาม เราสามารถนำข้อมูลผลการดำเนินงานมาประกอบการพิจารณาได้ เช่น ถ้าราเลือกกองทุนรวมแบบ passive fund ที่อ้างอิงดัชนี SET50 ก็มาพิจารณาได้ว่า ผู้จัดการกองทุนรวมสามารถ track ผลการดำเนินงานได้ใกล้เคียงตัวชี้วัดได้มากน้อยเพียงใด 

          โดยทั่วไป บลจ. จะอัปเดตข้อมูลกองทุนรวมใน Fund Fact Sheet ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง และผู้ลงทุนยังสามารถศึกษาข้อมูลกองทุนรวมได้จากการสรุปการดำเนินงานตามรอบระยะเวลา 6 เดือน รวมทั้งรายงานประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ที่จะรายงานสถานการณ์ของกองทุนในเรื่องต่างๆ เช่น สภาพตลาดการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ผลการดำเนินงาน การปรับเปลี่ยนการลงทุน รายงานผู้สอบบัญชี เป็นต้น 

 

          ● อย่าลืมอ่าน Fund Fact Sheet กองทุนหลัก ด้วย

          ปัจจุบันมีหลายกองทุนรวมที่กระจายลงทุนไปยังต่างประเทศด้วย ซึ่งมีให้เลือกหลายนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้นเทคโนโลยี ตราสารหนี้ต่างประเทศ หรือจะเป็นหุ้นสหรัฐฯ หุ้นจีน และอื่นๆ อีกมากมาย โดย บลจ. ส่วนใหญ่ เลือกจัดตั้งกองทุนรวมในแบบฟีดเดอร์ฟันด์ (feeder fund) ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่ไปลงทุนต่างประเทศ ผ่านการลงทุนในกองทุนอื่นในต่างประเทศอีกทอดหนึ่งที่เป็นกองทุนหลักเพียงกองเดียว หรือเรียกว่า มาสเตอร์ฟันด์ (master fund)

          เราสามารถดูข้อมูลใน Fund Fact Sheet ของกองทุนรวมที่เราจะซื้อ ซึ่งจะมีข้อมูลนโยบายการลงทุน กลุ่มอุตสาหกรรมและหุ้นที่กองทุนลงทุน 5 อันดับแรกเปิดเผยไว้ แต่หากอยากรู้ข้อมูลของ master fund มากกว่าที่เปิดเผยใน Fund Fact Sheet ก็ต้องไปศึกษาข้อมูลใน Fund Fact Sheet ของ master fund เพิ่มเติม เช่น รายละเอียดพอร์ตลงทุน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เราลงทุนมากขึ้น

 

          ● SEC Fund Check ตัวช่วยเปรียบเทียบกองทุนรวม

          มาถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มคิดแล้วว่า ถ้ามีหลายกองทุนที่อยากเปรียบเทียบ จะคำนวณเองไหวไหม?
ก็อยากจะชวนมาลองใช้งาน SEC Fund Check เว็บแอปที่ ก.ล.ต. พัฒนาขึ้น เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลกองทุนรวมที่คล้ายกัน วิธีใช้งานก็ง่ายแค่ 3 ขั้นตอน 

          1. เข้าใช้งาน SEC Fund Check ได้ที่ลิงก์นี้ https://fundcheck.sec.or.th/ 

          2. พิมพ์ชื่อกองทุนรวมที่ต้องการดูข้อมูล หรือคลิกตัวกรองค้นหาโดยละเอียด เพื่อค้นหากองทุนรวมตามประเภทกองทุน นโยบายกองทุน หรือตามทรัพย์สินที่กองทุนลงทุน

          3. หากต้องการเปรียบเทียบ สามารถเลือกเรียงลำดับตามฐานข้อมูล (filter) ที่จะเปรียบเทียบก็ได้ อาทิ ผลตอบแทน ระดับความเสี่ยง มูลค่าหน่วยลงทุน ค่าธรรมเนียม เป็นต้น

          นอกจากจะเปรียบเทียบกองทุนรวมที่คล้ายกัน และดูข้อมูลกองทุนรวมในเบื้องต้นได้แล้ว SEC Fund Check ยังมีเอกสารข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้ลงทุนศึกษาเพิ่มเติมด้วย ทั้ง Fund Fact Sheet และหนังสือชี้ชวนกองทุนรวม ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหาข้อมูล และการตัดสินใจเลือกกองทุนรวมที่ตอบโจทย์ของเรามากที่สุด

          การลงทุนก็ไม่ได้แตกต่างจากการเลือกซื้อสินค้าที่ใช่หรือถูกต้องสำหรับตัวเอง เพราะฉะนั้นการทำความรู้จักกับสิ่งที่เราจะลงทุนจึงไม่ใช่เรื่องเสียเวลา อีกทั้งทุกวันนี้เราสามารถหาข้อมูลกองทุนรวมได้ง่ายขึ้น ทั้ง Fund Fact Sheet และเครื่องมือเปรียบเทียบกองทุนรวมที่คล้ายกัน ก็คงเหลือเพียงการวิเคราะห์ข้อมูลและการลงมือทำเท่านั้นที่จะต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง

          สำหรับใครที่ยังสงสัยอยากให้เล่าเรื่องค่าธรรมเนียมกองทุนรวม ตอนหน้าพลาดไม่ได้เชียว

 

**************************

หมายเหตุ : * อ่านเพิ่มเติมเรื่องข้อมูลสถิติ คลิก SmartToInvest เลือกกองทุนรวมให้ปัง ต้องอ่านข้อมูลเชิงสถิติให้เป็น

 

1047 SEC fundfactsheet1

 

1047 SEC fundfactsheet2

 

1047 SEC fundfactsheet3

 

1047

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PXTOA 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

SME720x100 2024

CKPower 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!