กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ USDA และภาคีเครือข่าย ประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘Plant Breeding Innovation for sustainable Agriculture and Agro-economic Developments’ ต่อยอดการเยือนสหรัฐอเมริกา ผลักดันเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (GEd) สร้างการรับรู้ ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ให้เข้าใจถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศ
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในการประขุมเชิงปฏิบัติการ Plant Breeding Innovation for sustainable Agriculture and Agro-economic Developments และบรรยายพิเศษ แนวทางการขับเคลื่อน เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมในประเทศไทย ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 กันยายน 2567 ณ Bangkok Marriott Marquis Queen’s Park
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ (New Breeding Technology - NBT) ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing, GEd) ที่มีความปลอดภัยสูง และไม่เป็นพืช GMOs ไม่มีการตัดต่อ DNA จากสิ่งมีชีวิตอื่นเข้ามาในการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งในผลิตภัณฑ์สุดท้ายมีสารพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตผู้ให้ที่สามารถผสมพันธุ์กันได้ตามธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิตผู้รับ จึงมีศักยภาพที่เหมาะสมสำหรับการปรับปรุงพันธุ์สิ่งมีชีวิต เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร สามารถปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างปลอดภัย และจำหน่ายเชิงพาณิชย์อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพส่งเสริมการแข่งขันของภาคการเกษตร เพื่อรองรับวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการระบาดของโรค แมลง ศัตรูพืชอุบัติใหม่ ซึ่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ให้การยอมรับและสนับสนุนเทคโนโลยี รวมถึงประเทศต่างๆ ให้การยอมรับและสนับสนุนเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูงนี้
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าว จึงออกประกาศ เรื่อง การรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 และกรมวิชาการเกษตรออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า กรมวิชาการเกษตรเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยตนได้นำทัพนักวิชาการเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 24-29 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา พร้อมร่วมมือขับเคลื่อนงานวิจัยเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม รองรับภาวะวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหาร หารือแนวทางในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี GEd กับหน่วยงาน USDA, Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS), Agricultural Research Service (ARS), Foreign Agricultural Service (FAS) มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์, Agriculture & Food Systems Institute (AFSI) บริษัท คอร์เทวา และไบเออร์ เพื่อเร่งสร้างเครือข่ายด้านการวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม สร้างโมเดลพืช GEd ทดแทนการนำเข้า ข้าวโพด ถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง รองรับปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคอุบัติใหม่ในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ
ซึ่งระหว่างวันที่ 3-4 กันยายน 2567 กรมวิชาการเกษตร และภาคีเครือข่าย อาทิ กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค (APSA) สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) และครอปไลฟ์ เอเชีย (CropLife Asia) ในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Plant Breeding Innovations for Sustainable Agriculture and Agroeconomic Development ขึ้นเพื่อผลักดันเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม สร้างการรับรู้ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ให้เข้าใจถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศ
นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังเร่งพัฒนาบุคลากร และห้องปฏิบัติการ รองรับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีในภาคการเกษตร พัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืชเขตร้อนของโลก โดยกรมวิชาการเกษตร ได้มอบใบประกาศรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการภาคเอกชน เพื่อให้ภาคเอกชนมุ่งเป้าเป็น World tropical seed hub โดยยกระดับ Phytosanitary Certificate ของไทยเข้าสู่ระบบดิจิตัล เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าเมล็ดพันธุ์ และการกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายเมล็ดพันธุ์ระหว่างประเทศ เสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบศัตรูพืชของไทย ที่มีความชัดเจน รวดเร็ว ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะในภาวะที่มีการแข่งขันทางการค้าสูง ส่งเสริม และสนับสนุนการของบประมาณจากแหล่งทุน สกสว. สวก. และเครือข่ายต่างๆ ผลักดันงบประมาณโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ และได้ประสานความร่วมมือกับ Agriculture and Food System Institute และหน่วยงานในประเทศไทย เพื่อพัฒนาแนวทางการใช้ CHATBot AI และสร้างการรับรู้ให้กับภาคส่วนต่างๆ ผ่านช่องทางการสัมมนา ให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ประชาชนทั่วไป รวมถึงเกษตรกรให้เข้าใจถึงเทคโนโลยี GEd ที่ถูกต้อง นำไปสู่การขับเคลื่อนใช้ประโยชน์ และสร้างความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตัวเองของประเทศไทย ตอบโจทย์การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) นำไปสู่การลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก สอดรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของประเทศ สู่ความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารของโลก
9179