ม.มหิดลวิจัย ‘ใส่ชีวิตให้กับหุ่นยนต์’ สัมผัส ESG ด้วยเทคโนโลยี LLMs
จากโจทย์เมื่อวันวาน จะอย่างไรให้หุ่นยนต์ (Robot) มีการทำงานเหมือนมนุษย์ให้มากที่สุด ด้วยเทคโนโลยี LLMs (Large Language Models) ที่เชื่อมต่อด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ใส่ชีวิตให้กับหุ่นยนต์ได้ทำให้สิ่งดังกล่าวเป็นจริง ส่งต่อให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติมากมาย
มาถึงวันนี้ เพียงแค่เดินอย่างมนุษย์ และพูดอย่างมนุษย์ได้ยังไม่พอ จะต้อง “ESG” ได้อย่างมนุษย์ด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงผลงานการสร้างสรรค์หุ่นยนต์ทางการแพทย์ของคณะฯ ที่ผ่านมาว่าเป็นไปเพื่อการสนับสนุน หรือทำหน้าที่คล้าย “ผู้ช่วยแพทย์”
ตัวอย่างเช่น ในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง การใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดนำทางการใส่สกรูที่บริเวณกระดูกสันหลัง หรือการใส่แกนดามกระดูก โดยใช้ภาพทางการแพทย์ช่วยนำทาง ตลอดจนใช้หุ่นยนต์ช่วยในการฟื้นฟูผู้ป่วยสูงวัยที่เป็นอัมพาต ฯลฯ ซึ่งผ่านการทดสอบการใช้ในเบื้องต้นแล้ว ปัจจุบันเป็นการวิจัยต่อยอดสู่การแพทย์ตรงจุด (Precision Medicine) ที่ทั้งรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้การใช้หุ่นยนต์ LLMs ยังมีข้อถกเถียงในเรื่องความร่วมมือของมนุษย์ที่นำไปสู่ความเอนเอียง (Bias) และไม่ปลอดภัย (Data Privacy) ยังมีแง่มุมของการใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์ LLMs ในเชิง ESG (Environmental Social and Governance) ที่ส่งผลต่อการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจต่อไปอีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้มนุษย์เกิดความเท่าเทียม (Equality) ในการเข้าถึงระบบทางการแพทย์และสาธารณสุข ความยั่งยืน (Sustainability) จากการใช้ทรัพยากร การใช้พลังงานอย่างรู้ค่า และคำนึงถึงการปลดปล่อยคาร์บอนต่อสิ่งแวดล้อม (Carbon Emission) ตลอดจนช่วยให้คำนึงถึงเหตุผลทางด้านจริยธรรม (Ethical Sourcing) ถึงที่มาของสินค้า และผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปโดยรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์ และผลักดันงานวิจัย และนวัตกรรมอันเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล อุทิศองค์ความรู้ บนพื้นฐานของเทคโนโลยีเพื่ออนาคตแห่งมวลมนุษยชาติ ที่จะเป็น “ความหวัง” ของโลกสืบไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
7764