หมวดหมู่: พาณิชย์

1AAมิถุนายน2565


น้ำมัน ค่าไฟ ก๊าซ อาหารสดขึ้น ดันเงินเฟ้อมิ.ย.65 พุ่ง 7.66% สูงสุดในรอบปี

       พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อมิ.ย.65 เพิ่มขึ้น 7.66% ทำสถิติสูงสุดในรอบปี และสูงสุดในรอบ 13 ปีอีกครั้ง เหตุได้รับผลกระทบจากน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มขึ้นราคา และกลุ่มอาหารสำคัญ ทั้งหมู ไก่ ไข่ เครื่องประกอบอาหาร เพิ่มสูงขึ้น คาดแนวโน้มไตรมาส 3 ยังสูง แต่ประเมินไม่ได้ เพราะปัจจัยบวกและลบมีเพียบ ส่วนทั้งปียืน 4-5% จะปรับหรือไม่ ขอดูสถานการณ์ก่อน ย้ำขึ้นดอกเบี้ย ต้องรอบคอบ

        นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิ.ย.2565 เท่ากับ 107.58 เทียบกับพ.ค.2565 เพิ่มขึ้น 0.90% เทียบกับเดือนมิ.ย.2564 เพิ่มขึ้น 7.66% แต่ก็ยังต่ำกว่าที่หลายสำนักได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 8% ส่วนเงินเฟ้อรวม 6 เดือนปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) เพิ่มขึ้น 5.61% และเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก ดัชนีอยู่ที่ 102.99 เพิ่มขึ้น 0.24% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.2565 และเพิ่มขึ้น 2.51% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.2564 และเฉลี่ย 6 เดือนเพิ่มขึ้น 1.85%

       ทั้งนี้ เงินเฟ้อเดือนมิ.ย.2565 ที่เพิ่มขึ้น 7.66% เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่สูงที่สุดในรอบปีนี้ นับตั้งแต่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี มาตั้งแต่เดือนก.พ.2565 ที่เพิ่มขึ้น 5.28% มี.ค.2565 เพิ่ม 5.73% เม.ย.2565 ชะลอตัวลง แต่ยังเพิ่ม 4.65% และ พ.ค.2565 เพิ่ม 7.1%

         สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ปัจจัยหลักยังคงเป็นสินค้ากลุ่มพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น 39.97% โดยน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มสูงถึง 39.45% ค่าไฟฟ้า เพิ่ม 45.41% ก๊าซหุงต้ม เพิ่ม 12.63% ส่วนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 6.42% โดยสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และเครื่องประกอบอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากพลังงานที่เป็นต้นทุนแฝงในกระบวนการผลิต โลจิสติกส์ และราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่วนสินค้าอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ ยาสีฟัน บุหรี่ เบียร์ สุรา และค่าโดยสารสาธารณะ

        อย่างไรก็ตาม มีสินค้าสำคัญหลายรายการลดลง เช่น กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ผลไม้สด เช่น เงาะ มังคุด ลองกอง กลุ่มสื่อสาร เช่น ค่าส่งพัสดุไปรษณีย์ และค่าเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

       นายรณรงค์ กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 3 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่จะเป็นอัตราเท่าใด ยังประเมินไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น และยังมีหลายปัจจัยที่จะกระทบเงินเฟ้อ ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ราคาน้ำมัน ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การส่งออกที่ขยายตัว การท่องเที่ยวฟื้นตัว ที่มีผลต่อกำลังซื้อ ค่าเงินบาทอ่อนก็มีผล ทำให้คาดการณ์ได้ลำบาก ส่วนเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี ยังคาดการณ์เหมือนเดิมอยู่ที่ 4-5% มีค่ากลาง 4.5% ส่วนจะปรับหรือไม่ ขอรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนก่อน

      สำหรับ การหยุดยั้งเงินเฟ้อด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ตามหลักการ ก็ถูกต้อง แต่เงินเฟ้อของไทยในปัจจุบัน เกิดจากปัจจัยภายนอกภูมิภาคที่เข้ามากระทบ ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ย ต้องพิจารณาว่าจะเป็นบวกหรือลบมากน้อยแค่ไหน

 

เงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565 เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาเล็กน้อย

    นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (CPI) เดือนมิถุนายน 2565 เท่ากับ 107.58 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565 (106.62) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.90 (MoM) ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้นร้อยละ 1.40 (MoM) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 7.66 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

      ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐที่พยายามช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ และผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรึงราคาขายปลีกเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยคำนึงถึงการได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุล ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เป็นสำคัญ

      อย่างไรก็ตาม หากมองในมิติการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ พบว่า ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 61.83 และทำให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวร้อยละ 7.66 (YoY) นอกจากนี้ เป็นผลจากหลักการของการคำนวณเงินเฟ้อที่ต้องนำดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนปี 2565 ที่ระดับ 107.58 มาคำนวณกับเดือนมิถุนายนปี 2564 ที่ระดับฐานต่ำ (99.93) ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565มีผลลัพธ์ในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นที่ร้อยละ 7.66

 

สินค้าสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 7.66 (YoY)

       กลุ่มพลังงาน มีอัตราการเติบโตของราคาร้อยละ 39.97 จึงส่งผลให้พลังงานมีสัดส่วนถึงร้อยละ 61.83 ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มพลังงานประกอบด้วย น้ำมันเชื้อเพลิง มีอัตราการเติบโตของราคาร้อยละ 39.45 ค่าไฟฟ้าร้อยละ 45.41 และราคาก๊าซหุงต้มร้อยละ 12.63

       กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีอัตราการเติบโตของราคาร้อยละ 6.42 จึงส่งผลให้กลุ่มอาหารมีสัดส่วนร้อยละ 34.27 ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และเครื่องประกอบอาหาร สาเหตุที่กลุ่มอาหารมีราคาเปลี่ยนแปลงเนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนแฝงในกระบวนการผลิตสินค้าอาหารทุกขั้นตอน ตลอดจนเป็นต้นทุนโลจิสติกส์ และราคาวัตถุดิบทั้งหมด

       สินค้าอื่นๆ มีสัดส่วนร้อยละ 3.9 ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ อาทิ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม) ของใช้ส่วนบุคคล (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน) ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่ เบียร์ สุรา) และค่าโดยสารสาธารณะ ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

      ขณะที่สินค้าสำคัญอีกหลายรายการราคาปรับลดลง

       กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลงร้อยละ 2.73 โดยเฉพาะราคาข้าวสาร เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีจำนวนมาก และการจัดโปรโมชันตามห้างสรรพสินค้า

      กลุ่มผลไม้สด ลดลงร้อยละ 2.53 อาทิ เงาะ มังคุด ลองกอง ตามปริมาณผลผลิตที่มีค่อนข้างมาก

      กลุ่มการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 0.08 อาทิ ค่าส่งพัสดุไปรษณีย์ และค่าเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ

       ดัชนี ราคาผู้ผลิต เดือนมิถุนายน 2565 สูงขึ้นร้อยละ 13.8 (YoY) เป็นการสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง จากราคาวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิตและการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้ผลิตซึ่งสะท้อนถึงราคาต้นทุนหรือราคาหน้าโรงงานสูงขึ้นมากกว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเพียงร้อยละ 7.66 แสดงว่าราคาหน้าโรงงานแพงกว่าราคาขายปลีกค่อนข้างมาก ซึ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลได้ดำเนินการเต็มที่ในการช่วยเหลือประชาชนผู้บริโภค

      ดัชนี ราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้นร้อยละ 5.5 (YoY) สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เนื่องจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน และอลูมิเนียม

      ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม อยู่ที่ระดับ 44.3 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 44.7 สาเหตุเกิดจากความกังวลของประชาชนต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันซึ่งเกิดจากมาตรการคว่ำบาตรของประเทศพันธมิตรต่อประเทศรัสเซีย ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์มีราคาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทย

      แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ตาราง สรุปดัชนีเศรษฐกิจการค้า ปี 2564 - 2565

1aมิถุนายน2565

โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

 

 Click Donate Support Web

 

วิริยะ 720x100

EXIM One 720x90 C J

aia 720 x100PTG 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ais 720x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!