สุชาติ บุกแดนกิมจิ ยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ พร้อมผลักดันเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-เกาหลีใต้ ให้สำเร็จภายในปี 2568
รมช. พณ.สุชาติ ชมกลิ่น ยกทัพเยือนแดนกิมจิ นำทีมพาณิชย์และทีมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA หรือ อีพีเอ) ไทย – เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีสองฝ่าย พร้อมร่วมหารือรัฐมนตรีการค้าของเกาหลีใต้ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้า และการลงทุนระหว่างกัน
วันที่ 24 กันยายน 2567 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีกำหนดเดินทางเยือนกรุงโซล ระหว่างวันที่ 24 – 27 กันยายน 2567 โดย รมช. พณ. จะพบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีการค้า (นายชอง อิน-กโย) กระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงานของเกาหลีใต้ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระดับรัฐบาลให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ผ่านกลไกสำคัญ ได้แก่
1) การเจรจาจัดทำความตกลง EPA ไทย – เกาหลีใต้ และ 2) การรื้อฟื้นเวทีการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ เจทีซี ไทย – เกาหลีใต้ ที่ห่างหายมากว่า 20 ปี นอกจากนี้ ยังมีกำหนดการที่จะหารือกับผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยในเกาหลีใต้ เพื่อแสวงหาโอกาสการค้าและการลงทุนของไทยในเกาหลีใต้ ตลอดจนผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยผ่านวัฒนธรรมทางอาหาร ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ ในช่วงการเดินทางเยือนเกาหลีใต้ของ รมช.พณ. ในครั้งนี้ จะมีการเจรจาความตกลง EPA ไทย – เกาหลีใต้ ครั้งที่ 2 ซึ่งเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 27 กันยายน 2567 ทั้งสองฝ่ายจะได้หารือและแลกเปลี่ยนความเห็นต่อร่างบทของความตกลงฯ และร่วมกันวางแผนการดำเนินงานเพื่อให้การเจรจาสามารถสรุปผลได้ภายในสิ้นปี 2568
โดยการเจรจาในครั้งนี้ จะประกอบด้วย การประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (Trade Negotiation Committee) เพื่อกำกับดูแลและติดตามการเจรจาในภาพรวม ซึ่งมีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล) เป็นหัวหน้าคณะการเจรจาฝ่ายไทย และปลัดกระทรวงด้านเจรจาทางการค้าของกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ (นายคอนกี โร) เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายเกาหลีใต้ ควบคู่กับการประชุมคณะทำงานด้านต่างๆ จำนวน 10 คณะ ได้แก่
1) การค้าสินค้า 2) มาตรการเยียวยาทางการค้า 3) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 4) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 5) มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 7) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 8) ทรัพย์สินทางปัญญา 9) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และ 10) ประเด็นทางกฎหมายและสถาบัน
ในปี 2566 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 14,744 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ 6,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ 8,671 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ
เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. – ก.ค.) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 8,949 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 0.57 เป็นการส่งออก 3,598 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้า 5,351 ล้านดอลลาร์สหรัฐ