หมวดหมู่: เกษตร

 1761 PMUC 01


ส่องตลาด ‘ปลานิล’ ไทย และเทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการ
          ปัจจุบันธุรกิจการผลิต “ลูกพันธุ์ปลานิล” มีแนวโน้มในการแข่งขันกันสูงขึ้น ผู้ประกอบการต่างให้ความสนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีและนำข้อมูลที่สามารถจัดหาได้มาใช้ประโยชน์ในการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมที่มีลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ (ความต้านทานโรค การเจริญเติบโต อัตรารอดชีวิต) ของปลานิลแต่ละตัว เพื่อให้ได้ปลานิลที่มีคุณสมบัติหรือความสามารถทางพันธุกรรมดี สร้างผลตอบแทนหรือกำไรให้กับผู้เลี้ยงได้มาก
          ปลานิลเป็นสัตว์น้ำจืดที่ได้รับการยอมรับจากเกษตรกรผู้เลี้ยงมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 ในปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยมีผลผลิตปลานิลในภาพรวม 216,600 ตัน (มูลค่า 10,141 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 51 ของผลผลิตสัตว์น้ำจืดทั้งหมดของประเทศ (สถิติการประมง, 2561) ผลผลิตปลานิลที่ผลิตได้ในประเทศไทยถูกส่งออกไปยังประเทศในอาเซียน (37%) ตะวันออกกลาง (27.4%) ยุโรป (16.9%) อเมริกา (16.1%) และอื่นๆ (5.1%) ในปีดังกล่าว ลูกพันธุ์ปลานิลถูกใช้ในการเริ่มต้นการผลิตประมาณ 1,155.2 ล้านตัว ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลหลายประเทศสนใจและริเริ่มโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการเพาะเลี้ยงปลานิลจำนวนมาก ตลาดของปลานิล มีมูลค่ามากกว่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใน พ.ศ. 2561 และคาดว่าจะสูงถึง 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐภาย ใน พ.ศ. 2568 โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปี (Compound annual growth rate) 5.5% ตลาดส่วนใหญ่ ได้แก่ อเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชียแปซิฟิก และด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพันธุกรรมและการปรับปรุงพันธุ์ โอกาสในการแข่งขันการผลิตและการตลาดจึงมีแนวโน้มเกิดขึ้นมากในอนาคตอันใกล้ การเตรียมความพร้อมในการแข่งขันในระดับสากลและรักษาตลาดปลานิลเดิมจึงท้าทายความสามารถในการผลิตและการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการและรัฐบาลไทย

 

1761 PMUC 02


          สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจและตลาดผลิตภัณฑ์ปลานิลในภาพรวมบ้าง แต่ความต้องการ “ลูกพันธุ์ปลานิล (พันธุกรรมปลานิล)” สำหรับธุรกิจการเพาะเลี้ยงหรือการขุนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มมากขึ้นเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ คลายตัวลง โดยเฉพาะความต้องการใช้ประโยชน์จากลูกพันธุ์ปลานิลที่มีลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ (เช่น อัตรารอดชีวิต การเจริญเติบโต รูปร่าง เป็นต้น) โดดเด่น ในเรื่องนี้ผู้ผลิตพันธุ์หรือพัฒนาพันธุกรรมปลานิล ตลอดจนผู้ให้บริการที่ปรึกษาเชิงธุรกิจ ต่างให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมสมัยและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรมจีโนม (ข้อมูลดิจิทัล) ซึ่งจัดเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจในการผลิต “ลูกพันธุ์ปลานิล” ที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย อย่างไรก็ตาม ด้วยความหลากหลาย ความสัมพันธ์ การแสดงออก และการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของปลานิลที่มีความจำเพาะกับประชากร การพัฒนาเทคโนโลยีและใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรมจีโนมจึงมี “ความจำเพาะกับประชากร” ซึ่งในเชิงการแข่งขัน หรือการให้บริการทางธุรกิจข้อมูลและรายละเอียดส่วนใหญ่จึงไม่ถูกเปิดเผยให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะ ด้วยเหตุนี้ “การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี และใช้ประโยชน์จากข้อมูล (พันธุกรรมจีโนม และข้อมูลอื่นๆ)” นอกจากจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจในการผลิต “ลูกพันธุ์ปลานิล” (ผู้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยี) ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยให้ผู้เลี้ยงหรือผู้ขุนปลานิลทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศ (กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย) มีโอกาสใช้ประโยชน์จาก “ลูกพันธุ์ปลานิล” ในการเพิ่มผลกำไร จากการแข่งขันทางธุรกิจในการผลิตปลานิลเต็มวัยที่มีคุณสมบัติดี และตรงต่อความต้องการของตลาด ผลักดันให้เกิดความเข้มแข็งและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการผลิตปลานิลไทยในภาพรวมต่อไป

 

1761 PMUC 04


          เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นำโดย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการ บพข. พร้อมคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการ “การพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรมจีโนม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจปลานิลไทย” ณ บริษัท มานิตย์ เจเนติกส์ จำกัด จังหวัดเพชรบุรี โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีระบบการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมจีโนม (Genomic evaluation; GEBV) และการคัดเลือกจีโนม (Genomic Selection) สำหรับปรับปรุงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจของปลานิลไทยให้มีความแม่นยำสูง เพื่อประกอบการทำนายและประมาณค่า สนับสนุนการตัดสินใจในการคัดเลือกปลานิลพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ สำหรับใช้ในการผลิตลูกพันธุ์ปลานิลที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยจากมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ และบริษัท มานิตย์ เจเนติกส์ จำกัด (ผู้ร่วมลงทุน) โดยมี รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก บพข. ในแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม

 

1761 KU รศดร ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ


          รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ หัวหน้าทีมวิจัย
ได้อธิบายถึงเทคโนโลยีในการคัดเลือกพันธุ์ปลานิลว่า “ที่ผ่านมาการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลานิล ผู้ประการส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดั้งเดิม ที่ใช้เทคนิคการทำนายค่าเชิงเส้นตรงที่เรียกว่า Best linear unbiased prediction (BLUP) ซึ่งอาศัยข้อมูลพันธุ์ประวัติและลักษณะที่ปรากฏของปลานิลแต่ละตัวที่ถูกเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางพันธุ์ศาสตร์และวิทยาโมเลกุล ทำให้เราสามารถกำหนดรายละเอียดทางพันธุกรรม (Genotyping) ในระดับจีโนมได้ และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าในอดีต ซึ่งในงานนี้เราได้นำข้อมูลทางพันธุกรรมในระดับจีโนมของปลานิลแต่ละตัวมาใช้ประโยชน์ร่วมกับข้อมูลพันธุ์ประวัติและลักษณะที่ปรากฏ ในการจำแนกความหลากหลายทางพันธุกรรมของปลานิล การประเมินและทดสอบคุณค่าของพันธุกรรมจีโนมแต่ละตำแหน่งที่ให้ลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และการนำพันธุกรรมจีโนมที่มีคุณค่าเหล่านั้นไปพัฒนาโมเดลทางพันธุกรรม (Genomic animal model) โดยเราได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในการจัดเก็บ บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมาก เช่น ข้อมูลพันธุ์ประวัติ ข้อมูลลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ข้อมูลพันธุกรรมจีโนม ข้อมูลการจัดการและสิ่งแวดล้อม และข้อมูลอื่นๆ ของปลานิลแต่ละตัว เพื่อให้สามารถทำนายและประมาณความสามารถทางพันธุกรรม (จีโนม) ได้อย่างแม่นยำ สนับสนุนการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจให้มีความโดดเด่น ได้รับความสนใจใช้ประโยชน์จากลูกพันธุ์ปลานิลและช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล”
          ความท้าทายที่สำคัญในการผลิตปลานิล คือ ปัญหาการขาดแคลน “ปลานิลที่มีคุณสมบัติทางพันธุกรรมดี (เช่น โตเร็ว อัตรารอดสูง ต้านทานโรค ซากดี)” ซึ่งผู้ประกอบการมักผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ประโยชน์ของเกษตรกร (ผู้ใช้ประโยชน์จากลูกพันธุ์ปลานิล) นอกจากนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความสามารถในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ผู้ผลิตพันธุกรรมปลานิลและบริษัทที่ปรึกษาต่างเร่งพัฒนาเทคนิคในการปรับปรุงพันธุกรรมของปลานิลให้มีคุณสมบัติโดดเด่น เพื่อการแข่งขันและแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดและการเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขในการผลิตระดับสากล ในเรื่องนี้ หากผู้ผลิตพันธุกรรมปลานิลในประเทศไทยไม่เร่งพัฒนาเทคโนโลยี และใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมากในการตัดสินใจที่แม่นยำในการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมของปลานิล ให้มีความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจโดดเด่นกว่า หรือ ทัดเทียมกับคู่แข่งในตลาดสากลได้อย่างทันกาล อาจเสียโอกาสในการแข่งขันและเป็นรองทางธุรกิจ และต้องซื้อพันธุกรรมที่มีราคาแพงมาใช้ประโยชน์อย่างมีเงื่อนไข ดังที่ปรากฏในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกเชิงการค้า

 

1761 PMUC รศดร ธงชัย สุวรรณสิชณน์


          รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการ บพข. ได้กล่าวถึงมุมมองในการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. ในโครงการนี้ว่า “บพข. มองว่าโครงการนี้เป็นการพัฒนานวัตกรรมข้อมูลสำหรับ BCG ด้านเทคโนโลยีเกษตรและอาหาร เพื่อเพิ่มความสามรถแข่งขันของธุรกิจปลานิลไทย ที่จะถูกนำไปใช้จริงเชิงปฏิบัติในอุตสาหกรรมการผลิต“ลูกพันธุ์ปลานิล” และสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นของไทย และด้วยรูปแบบการพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรมจีโนมได้รับความสนใจและใช้ประโยชน์โดยคู่แข่งทางธุรกิจในประเทศอื่นเช่นกัน การพลาดโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีในครั้งนี้ อาจมีส่วนทำให้การแข่งขันของธุรกิจปลานิลไทยมีอุปสรรคและความท้าทายมากยิ่งขึ้น”
          ในโครงการนี้ เทคโนโลยีดิจิทัล ถูกนำมาพัฒนาให้มีบทบาทสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ สะสม บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุ์ประวัติ (pedigree data) ลักษณะปรากฏ (phenotypic data) และ รายละเอียดทางพันธุกรรมในระดับจีโนม (genomic data, SNPs) ตลอดจนการจัดการ สภาพแวดล้อม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบริหารจัดการฟาร์มและการแข่งขันทางธุรกิจ (2) การเพิ่มความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลอำนวยความสะดวกในการทดสอบสมมติฐานที่เป็นประโยชน์ ต่อการสร้างความเข้าใจในสถานการณ์และสนับสนุนการตัดสินใจของผู้ผลิต (3) การเพิ่มความแม่นยำ (Accuracy) และ ความน่าเชื่อถือ (Reliability) ในการประมาณหรือทำนายค่าที่เกี่ยวข้องกับสมมติฐานที่สนใจ เช่น การประมาณองค์ประกอบของความผันแปรสำหรับลักษณะที่สนใจ (Variance component estimation) การประเมินหรือทำนายความสามารถทางพันธุกรรมจีโนมสำหรับลักษณะที่สนใจ (Genomic evaluation) การประเมินผลสัมฤทธิ์หรือความก้าวหน้าในการปรับปรุงพันธุ์ (Genetic progress) การประเมินผลตอบสนองต่อการคัดเลือกพันธุ์ (Selection response) เป็นต้น (4) การลดความลำเอียงในการเปรียบเทียบและพิจารณาประเด็นต่างๆ ระหว่างปลานิลต่างรุ่นที่ได้รับการจัดการแตกต่างกัน ซี่งจะเป็นประโยชน์ต่อ (5) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตลูกพันธุ์ปลานิล และศักยภาพในการแข่งขันเชิงการค้า

 

1761 PMUC ผศดร วรรณรัช สันติอมรทัต


          ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. กล่าวเสริมว่า “ข้อมูลมีบทบาทสำคัญต่อความแม่นยำในการตัดสินใจและสนับสนุนความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ การจัดการบริหารข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้ธุรกิจสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิผลและช่วยเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันได้ โครงการนี้ บพข. ได้ให้ทุนสนับสนุนในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะมาช่วยในการจัดเก็บและบริหารข้อมูลข้อมูลที่นักวิจัยเก็บรวบรวมจากปลานิลซึ่งมีจำนวนมหาศาล เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ ประเมิน กำหนดลำดับพันธุกรรม DNA ที่สมบูรณ์ของจีโนม กำหนดรายละเอียดทางพันธุกรรมของปลานิลไทย เพื่อให้การจัดการทางพันธุกรรมปลานิลไทยมีประสิทธิภาพสูงสุด และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจปลานิไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรมจีโนม”

 

1761 PMUC 03


          หากโครงการนี้สำเร็จจะส่งผลให้ ผู้ประกอบการ “ลูกพันธุ์ปลานิลไทย” มีขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจปลานิลเพิ่มขึ้นได้ โดยสามารถพัฒนาพันธุกรรมปลานิล (ลูกพันธุ์ปลานิลไทย) ให้มีลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์ของลูกค้า (ผู้ซื้อ) ได้รวดเร็ว สม่ำเสมอ และทันกาลมากยิ่งขึ้น สามารถสร้างความพึงพอใจ ความมั่นใจ ความเชื่อมั่น และความรู้สึกคุ้มค่าของลูกค้า (ผู้ซื้อ) ในคุณสมบัติของพันธุกรรมปลานิล (ลูกพันธุ์ปลานิลไทย) ที่ถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยีร่วมสมัยโดยผู้ประกอบการมากขึ้น ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาบุคลากร ข้อมูล ระบบ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสม เข้ากันได้กับเงื่อนไข ข้อจำกัด และความจำเพาะกับปัจจัยการบริหารจัดการผลิตของตน และใช้ประโยชน์ในเชิงการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังสามารถสะสมข้อมูลดิจิทัล (จากปลานิล พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ การจัดการเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อม ฯลฯ) ได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถนำข้อมูลดิจิทัลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ศักยภาพทางพันธุกรรม และความสามารถในการแข่งขันได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

 


A1761

Click Donate Support Web  

BANPU 720x100TU720x100EXIM One 720x90 C Jsme 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100pxPF 720x100

 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!