หมวดหมู่: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ

111036 KT Compass


Krungthai COMPASS นำเสนอบทวิเคราะห์เรื่อง ‘BEV ทางเลือกใหม่ตลาดรถยนต์ไทย คาดปี 2566 ยอดขายโตแรงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 2.4 หมื่นคัน’

โดย มานะ นิมิตรวานิช
วีระยา ทองเสือ
Krungthai COMPASS

 

Key Highlights
          • กระแสรถยนต์เครื่องยนต์ไฟฟ้า 100% (Battery Electric Vehicle: BEV) เป็นที่จับตามองอีกครั้ง หลังปรากฏข่าวการจองรถยนต์ BEV ยี่ห้อหนึ่งที่คนเข้าคิวจองรถยาวข้ามคืน ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความคึกคักในตลาดรถยนต์เป็นอย่างมาก มองไประยะข้างหน้า ยังมีหลายปัจจัยแวดล้อมที่ล้วนสนับสนุนการเข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งของตลาดรถยนต์ BEV จากรถยนต์สันดาปภายใน ทำให้ Krungthai COMPASS คาดว่ารถยนต์ BEV ในปี 2565 จะมียอดขายที่ 12,500 คัน ขยายตัวจากยอดจดทะเบียนรถยนต์ BEV ในปี 2564 ถึง 212.5% และยอดขายในปี 2566 จะขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง โดยคาดว่ายอดขายรถยนต์ BEV จะอยู่ที่ 24,000 คัน หรือขยายตัว 92.0 %
          • 3 ปัจจัยหลักที่สนับสนุนรถยนต์ BEV ได้แก่ 1.การสนับสนุนจากภาครัฐที่ทำให้ราคาที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้มากขึ้น รวมทั้ง จูงใจผู้ประกอบการให้เข้ามาลงทุนทำให้ทางเลือกในตลาดเพิ่มขึ้น 2.การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยี ทำให้รถยนต์ BEV มันใช้งานได้จริง และ 3.ต้นทุนการใช้งานที่มีความคุ้มค่ากว่ารถยนต์สันดาปภายในถึงเกือบ 20%
          • อย่างไรก็ดี ยังมีหลายคำถามที่ยังเป็นข้อสงสัย และอาจกดดันการเติบโตของรถยนต์ BEV ทั้งราคาขายต่อที่มีความไม่แน่นอนสูง และราคาแบตเตอรี่ที่ยังมีราคาแพง เป็นต้น

          1. ตลาดรถยนต์ BEV คึกคักจากมาตรการภาครัฐ
          นโยบายภาครัฐตัวกระตุ้นสำคัญของตลาดรถยนต์ BEV
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีที่นำเข้าจากต่างประเทศมาขายระหว่างปี 2565-2566 โดยค่ายรถที่เข้าร่วมโครงการต้องผลิตชดเชยให้เท่ากับจำนวนรถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้ามาทั้งคัน (CBU) ในปี 2565-2568 เป็นตัวกระตุ้นให้ค่ายรถโดยเฉพาะจากประเทศจีน ได้เข้ามาร่วมโครงการและลงทุนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย และทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าคึกคักขึ้นเป็นอย่างมาก ข้อมูลจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้อนุมัติให้การส่งเสริมในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท รวมทั้งสิ้น 26 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) รวม 80,208 ล้านบาท (เฉพาะรถยนต์ BEV 27,745 ล้านบาท) จำนวนกำลังการผลิตยานยนต์ที่ได้รับอนุมัติเป็นจำนวน 838,775 คัน (เฉพาะรถยนต์ BEV 256,220 คัน) นอกจากนี้ กรมสรรพสามิต ได้ลงนามข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าระหว่างกรมสรรพสามิตกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า แล้วรวม 10 ราย และล่าสุด ครม. ยังได้อนุมัติลดค่าภาษีรถยนต์ BEV ลง 80% สำหรับรถที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 9 พ.ย.2565 – 8 พ.ย.2568 เป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่จดทะเบียน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ใช้รถยนต์ BEV ลงไปได้อีก

 

111036 KT Compass p01

 

          หลายค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการมีแผนการลงทุนที่ชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะค่ายรถยนต์จากประเทศจีนได้แก่ GWM MG และ BYD โดย ค่ายรถยนต์ Great Wal Motor (GWM) ที่ได้เดินสายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วกว่า 1 หมื่นคัน และยังมีแผนลงทุนต่อเนื่อง ขณะที่ค่าย MG ที่ได้ประกาศแผนเปิดสายประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในไทยที่โรงงาน เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จ.ชลบุรี ที่คาดว่าจะเริ่มการผลิตในปี 2566 เช่นเดียวกันกับ โรงงานผลิตรถยนต์ BEV และ Plug-in Hybrid ของ BYD ที่คาดว่าจะเริ่มผลิตในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี เพื่อขายในประเทศ และ ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน และ ยุโรป โดยลงทุน 17,891 ล้านบาท (รูปที่ 2) ส่วนรถยนต์จากค่ายญี่ปุ่นอย่าง โตโยต้าที่ได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ โดยนำรถยนต์ BEV มาขอรับสิทธิตามมาตรการ จำนวน 1 รุ่น คือ Toyota bZ4X ยังไม่มีการประกาศแผนการลงทุนเพิ่มเติมที่ชัดเจน

 

111036 KT Compass p02


          รถยนต์ BEV หลากหลายรุ่นจะเข้ามาสู่ตลาดในปี 2565-2566 เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น ค่ายรถยนต์จากหลายประเทศที่เข้าร่วมโครงการกับภาครัฐ และได้มีแผนการลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์เพื่อทดแทนการนำเข้ารถยนต์ตามข้อตกลง ทำให้หลายค่ายได้มีแผนที่จะนำรถรุ่นใหม่เข้ามาจำหน่ายมากขึ้น เช่น ค่ายรถ BYD มีแผนที่จะนำเข้ารุ่น Dolphin และ Seal ส่วนค่ายรถ MG มีแผนที่จะนำเข้ารถยนต์รุ่น MG 4 รวมถึงเจ้าตลาดอย่าง โตโยต้าที่พึ่งเปิดตัวรถยนต์รุ่น bZ4X นอกจากนั้น ค่ายรถยนต์ที่แม้ว่าจะไม่ได้เข้าร่วมโครงการ หรือเข้าร่วมโครงการแต่ได้รับเงินอุดหนุนไม่สูงนักจากราคาขายปลีกที่สูงของรถก็เกาะกระแสการเติบโตของรถยนต์ BEV ไปด้วยเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าหลายค่ายจะนำเข้ารถยนต์ BEV เข้ามาในไลน์อัพมากขึ้นด้วยเช่นกัน (รูปที่ 3)

 

111036 KT Compass p03

 

          2. EV Ecosystem ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยเปลี่ยนผ่านจาก “รถยนต์สันดาปภายใน” สู่ “รถยนต์ BEV”
          Ecosystem ของรถยนต์ BEV พัฒนาอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนของรถยนต์ BEV ในตลาด
ทั้งทางด้าน 1) ระยะทางที่วิ่งได้ไกลขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต 2) แนวโน้มสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้ง 3) เทคโนโลยีหัวจ่ายไฟฟ้าที่ใช้ระยะเวลาการชาร์จต่อครั้งสั้นลง ปัจจัยเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านจาก “รถยนต์สันดาปภายใน” สู่ “รถยนต์ BEV” บนท้องถนนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
          ระยะทางการขับขี่ที่ไกลขึ้นเป็นปัจจัยที่ช่วยให้คนตัดสินใจปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ BEV กันมากขึ้น โดยข้อมูลจาก International Energy Agency (IEA) ระบุว่ารถยนต์ BEV มีระยะทางขับขี่โดยเฉลี่ยต่อการชาร์จ 1 ครั้งเพิ่มขึ้นจาก 243 กิโลเมตรในปี 2560 ขึ้นมาอยู่ที่ 349 กิโลเมตร หรือเพิ่มขึ้นกว่า 44% (รูปที่ 4) โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า แนวโน้มด้านระยะทางของรถยนต์ BEV ที่สามารถวิ่งได้ไกลขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อรถประเภทนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากในอดีตรถยนต์ BEV รุ่นเก่ายังไม่สามารถเก็บไฟฟ้าได้มากนัก ส่งผลให้ระยะทางการวิ่งของรถยนต์ BEV เมื่อชาร์จเต็มที่ในช่วงก่อนหน้ายังไม่มากเท่ากับรถยนต์สันดาปภายใน ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อจำกัดของการตัดสินใจเลือกใช้รถยนต์ BEV เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนกังวลเรื่องการเดินทางระยะไกล แต่ปัจจุบันแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ BEV ถูกพัฒนาให้สามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้นและใช้งานได้ทนทานขึ้น ช่วยลดข้อจำกัดการเดินทางระยะไกล และตอบโจทย์ผู้ใช้รถยนต์ BEV มากขึ้น
          รถยนต์ BEV ในตลาดประเทศไทยมีแนวโน้มระยะทางการวิ่งของรถยนต์ BEV ที่วิ่งได้ไกลขึ้น สอดคล้องกับตลาดต่างประเทศ จากข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง พบว่า รถยนต์ BEV ที่จำหน่ายในประเทศไทย ปี 2561 สามารถวิ่งได้ระยะทางสูงสุดเฉลี่ยเพียง 280 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง แต่ในปี 2565 วิ่งได้ระยะทางสูงสุดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 395 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 41% (รูปที่ 4)

 

111036 KT Compass p04

 

          นอกจากระยะทางขับขี่ที่ไกลขึ้นแล้ว การมีสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เข้าถึงง่าย และครอบคลุมหลายพื้นที่ในประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ BEV สถานีชาร์จไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการซื้อรถยนต์ BEV แนวโน้มสถานีชาร์จไฟฟ้าในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นและกระจายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้ง หัวจ่ายไฟฟ้าถูกพัฒนาให้ใช้ระยะเวลาการชาร์จที่สั้นลงด้วยหัวจ่ายแบบ Fast Charge ซึ่งเป็นการชาร์จโดยใช้ไฟฟ้ากระแสตรง (DC) โดยจะใช้เวลาชาร์จไฟจนถึงระดับ 80% ของความจุแบตเตอรี่เฉลี่ยไม่เกิน 1 ชั่วโมง จะช่วยคลายความกังวลและเป็นแรงขับเคลื่อนกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อรถยนต์ BEV เพิ่มขึ้น
          ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน พบว่า ปัจจุบันสถานีชาร์จไฟฟ้าในประเทศไทยมีจำนวน 944 สถานี กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ขณะที่ข้อมูลจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ณ เดือน ก.ย. 2565 ไทยมีจำนวนหัวจ่ายไฟรวม 2,572 หัวจ่าย เพิ่มขึ้น 13%YOY เป็นหัวจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง (DC) 46% เพิ่มขึ้น 53%YOY และ หัวจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) 54% ลดลง 8%YOY (รูปที่ 5) ทั้งนี้ สถานีชาร์จไฟฟ้าจะตั้งอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑลเป็นหลัก และมีแนวโน้มขยายไปสู่พื้นที่ต่างๆ ในเขตต่างจังหวัดมากขึ้น โดยมีจุดให้บริการสาธารณะหรือตามอาคารต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า พื้นที่จอดรถ MRT คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน นอกจากนี้ ยังมี Application เพื่อใช้ค้นหาตำแหน่งที่ตั้ง ดูข้อมูลหัวชาร์จที่พร้อมใช้งาน หรือจองคิวการชาร์จล่วงหน้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานอีกด้วย

 

111036 KT Compass p05

 

          แนวโน้มจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าในประเทศไทยคาดว่าเติบโตขึ้น ตามนโยบายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 30@30 โดยประเมินว่า หัวจ่ายไฟฟ้าแบบ Fast Charge มีแนวโน้มเพิ่มในปี 2568 เป็น 2,200 - 4,400 หัวจ่าย และปี 2573 เพิ่มเป็น 12,000 หัวจ่าย โดยสถานีชาร์จไฟฟ้าจะครอบคลุมทั้งเมืองใหญ่ พื้นที่ท่องเที่ยว จุดแวะพัก และพื้นที่ชุมชน โดยมีแรงหนุนจากนโยบายภาครัฐ การตื่นตัวของภาคเอกชนและกระแสความต้องการใช้รถ BEV ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อนุมัติส่งเสริมการลงทุนสร้างสถานีชาร์จ BEV กับผู้ประกอบการ 5 ราย มีหัวจ่ายไฟฟ้ารวม 7,036 หัวจ่าย แบ่งเป็นหัวจ่ายไฟฟ้าแบบ Fast Charge 3,086 หัวจ่าย ยอดเงินลงทุนรวม 2,175 ล้านบาท ทำให้ในอนาคตประเทศไทยจะมีจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้ามากที่สุดในอาเซียน
          นอกจากนี้ เครื่องชาร์จ BEV ในที่อยู่อาศัย (Wallbox) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ใช้รถ BEV แม้แนวโน้มสถานีชาร์จไฟฟ้าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง หัวจ่ายไฟที่สถานีชาร์จไฟฟ้าถูกพัฒนาให้ใช้ระยะเวลาการชาร์จต่อครั้งที่สั้นลง แต่ยังคงต้องใช้ระยะเวลาชาร์จอย่างน้อย 40–60 นาที การติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ BEV ในที่อยู่อาศัย จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ใช้รถยนต์ BEV เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเสียเวลาเดินทางไปสถานีชาร์จไฟฟ้า หรือ ไม่มีสถานีชาร์จไฟฟ้าอยู่บริเวณใกล้บ้าน อย่างไรก็ตาม อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่เร่งรีบเนื่องจากต้องใช้ระยะเวลา 4–5 ชั่วโมง สำหรับชาร์จไฟจนถึงระดับ 80% ของความจุแบตเตอรี่
          ในปัจจุบันเครื่อง WallBox เข้าถึงได้ง่ายขึ้นทั้งจาก 1) ค่ายรถยนต์หลายค่าย จัดโปรโมชั่นมอบเครื่อง WallBox พร้อมทั้งมอบส่วนลดค่าติดตั้ง ให้กับผู้ซื้อรถยนต์ BEV 2) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มักจะติดตั้งเครื่อง WallBox ในโครงการใหม่ๆ ทำให้การชาร์จไฟสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคยังสามารถติดต่อ 3) ผู้รับเหมาติดตั้งรายอื่นๆ ในท้องตลาด ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งตั้งแต่ 35,000-85,000 บาท อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ไม่มีเครื่อง WallBox สามารถชาร์จไฟจากอุปกรณ์ที่ค่ายรถให้มาพร้อมกับรถยนต์ BEV ได้ แต่อาจต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง 2 สำหรับชาร์จไฟจนถึงระดับ 80% ของความจุแบตเตอรี่ และผู้ใช้งานต้องเพิ่มความระวัง เนื่องจากอุปกรณ์ชนิดนี้ไม่มีระบบการป้องกัน (รูปที่ 6)

 

111036 KT Compass p06


          3. BEV มีต้นทุนการใช้งาน (Cost of Ownership) ที่น่าดึงดูดใจกว่ารถยนต์ทั่วไปในท้องตลาด
          Krungthai COMPASS ประเมินต้นทุนในการใช้งาน หรือ Cost of Ownership ของรถยนต์ BEV ว่าโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2.85 บาท/กม. ประหยัดกว่ารถยนต์ทั่วไปในท้องตลาดที่ 3.47 บาท/กม. อยู่ถึง 18%
ทั้งนี้ ต้นทุนการใช้งานประเมินจากค่าเชื้อเพลิงทั้ง ไฟฟ้า น้ำมัน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง การซ่อมบำรุง ประกันภัย และภาษีประจำปี สำหรับการขับขี่รถยนต์ปีละ 10,000 กม. เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 4 ปี หรือ 40,000 กม. โดย สาเหตุที่ทำให้รถยนต์ BEV มีต้นทุนการใช้งานที่ต่ำเป็นเพราะจุดเด่นด้านค่าเชื้อเพลิงที่ 0.73-0.83 บาท/กม. ซึ่งประหยัดกว่ารถยนต์ทั่วไปในท้องตลาดที่มีค่าใช้จ่ายดังกล่าวในช่วง 1.29-1.63 บาท/กม. อย่างเห็นได้ชัด ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งค่าซ่อมบำรุง ประกันภัย และภาษีประจำปีพบว่าไม่แตกต่างกันมากนัก ดังแสดงในรูปที่ 7

 

111036 KT Compass p07


          อย่างไรก็ตาม แม้การมีต้นทุนการใช้งานที่ต่ำจะฟังดูค่อนข้างน่าสนใจ แต่ในระยะยาว คาดว่ารถยนต์ BEV จะยังมีคำถามที่ยังรอคำตอบอยู่ทั้ง 1) ราคาขายต่อมือสองที่ไม่แน่ใจว่าจะถูกกดราคามากแค่ไหน และ 2) เมื่อหมดการรับประกันแล้ว การเปลี่ยนอะไหล่สำคัญๆ โดยเฉพาะแบตเตอรี่จะมีค่าใช้จ่ายมากน้อยเพียงใด โดยในส่วนของปัจจัยด้าน “ราคาขายต่อมือสอง” พบว่าเมื่อใช้งานครบ 4 ปี รถยนต์ทั่วไปในท้องตลาดจะมีราคาลดลงโดยเฉลี่ยที่ราว 30-40% ตัวเลขดังกล่าวจึงจะเป็นโจทย์สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ BEV ว่าจะทำอย่างไรให้ราคาขายต่อมือสองของรถยนต์ BEV ไม่ต่ำไปกว่ารถยนต์ทั่วไปในท้องตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่จะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ BEV กันมากขึ้นในอนาคต สำหรับประเด็นด้าน “ราคาอะไหล่สำคัญๆ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ เมื่อหมดการรับประกัน” พบว่าแม้ในปัจจุบันผู้ผลิต BEV จะมีการรับประกันแบตเตอรี่เป็นระยะเวลาถึง 8 ปี แต่หากแบตเตอรี่เกิดเสียขึ้นมาหลังหมดอายุรับประกัน ในกรณีเลวร้ายที่สุด ผู้บริโภคอาจมีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สูงถึง 50-60% ของราคารถยนต์ BEV ที่ซื้อมา ณ วันแรกเลยทีเดียว

 

111036 KT Compass p08

Implication:
          ตลาดรถยนต์ BEV มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดย Krungthai COMPASS คาดการณ์ว่า รถยนต์ BEV ในปี 2565-2566 จะมียอดขายอยู่ที่ 12,500 คัน และ 24,000 คัน ไปในทิศทางเดียวกับคาดการณ์ของ Bloomberg ที่ประเมินยอดขายรถยนต์ BEV ของไทยในปี 2565-2566 ที่ 15,600 คัน และ 24,000 คัน โดยในปี 2565 ที่ทาง Krungthai COMPASS ประเมินต่ำกว่า Bloomberg ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนที่ทำให้การส่งมอบรถอาจล่าช้าออกไป
          Krungthai COMPASS ประเมินว่าในช่วงปี 2565-2566 รถยนต์สันดาปภายในจะยังครองตลาดในประเทศ รวมทั้งตลาดโลก ทำให้ตลาดชิ้นส่วนรถยนต์โดยรวมจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักในระยะสั้น แม้รถยนต์ BEV ในตลาดโลกจะเติบโตสูงจากแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักที่สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งตลาดในประเทศที่ได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายของภาครัฐที่มีความชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ดี จากการประเมินของ Bloomberg New Energy Finance (BNEF) กว่าที่รถยนต์ BEV จะมีสัดส่วนในตลาดโลกมากกว่า 40% ของรถยนต์เชื้อเพลิงทุกประเภทอาจต้องใช้เวลาจนถึงปี 2583 เช่นเดียวกันกับตลาดในประเทศที่ถึงแม้รถยนต์ BEV จะเติบโตได้ดี แต่ยอดขายในปี 2565-2566 ก็ยังคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.3% และ 2.4% ของยอดขายรถยนต์ทุกประเภทเท่านั้น มองไปข้างหน้า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศส่วนใหญ่คาดว่าจะยังคงเป็นรถยนต์ไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle หรือ HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle หรือ PHEV) ซึ่งก็จะยังต้องใช้ชิ้นส่วนระบบขับเคลื่อนเครื่องยนต์แบบสันดาปภายในควบคู่กับระบบไฟฟ้า แต่กระนั้น ในอนาคตจะมีชิ้นส่วนบางประเภท โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับระบบส่งกำลัง ซึ่งได้แก่ ระบบระบายความร้อน ระบบเครื่องยนต์ ระบบควบคุมไอเสีย และระบบเชื้อเพลิง ที่จะได้รับผลกระทบ

 

A111036

Click Donate Support Web  

EXIM One 720x90 C J

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

PTG 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100px

ais 720x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!