หมวดหมู่: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ

31076 KT Compass


ถอดรหัสวิกฤตธนาคารยักษ์ใหญ่ ภาคธนาคารโลกสั่นคลอนหลังวิกฤตการเงินโลกปี 2551

โดย ภวิกา กล้าหาญ

ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์

Krungthai COMPASS

 

Key Highlights

          • ตลาดสูญเสียความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของ Silicon Valley Bank, Signature Bank และ Credit Suisse ซึ่งนำไปสู่การเร่งถอนเงินฝากเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว โดยเกิดจากปัญหาหลายประการแตกต่างกันในแต่ละธนาคาร อาทิ การบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ดีพอ การกระจุกตัวสูงในลูกค้าบางกลุ่ม ระบบควบคุมภายในที่อ่อนแอ ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง

          • Krungthai COMPASS มองว่า แม้ภาคธนาคารไทยจะมีฐานะการเงินแข็งแกร่งและได้รับผลกระทบจำกัดจากวิกฤตการเงินของธนาคารในต่างประเทศ แต่ยังต้องเฝ้าระวังปัญหาสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไทยก็ประสบกับภาวะการเงินตึงตัวและผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อยู่เบื้องหลังของวิกฤตการเงินของธนาคารในต่างประเทศ

          • แม้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้การฝากเงินน่าจูงใจมากขึ้น แต่พฤติกรรมการลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search-for-yield) ยังมีอยู่และเป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยรวมควรบริหารจัดการความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับบริบทความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา

 

          ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวการล่มสลายของธนาคารยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ อย่าง Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank (SB) ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบสถาบันการเงินในสหรัฐ ยังไม่นับรวมข่าวการขอกู้เงินของสถาบันการเงินรายใหญ่ระดับโลกอย่าง Credit Suisse จากธนาคารกลางของสวิสเซอร์แลนด์ในวงเงินที่สูงถึง 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ซ้ำเติมความกังวลที่มีต่อภาคการเงินทั่วโลก แม้ว่าทางการของสหรัฐฯ และสวิสเซอร์แลนด์ได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งได้คลายความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของปัญหาสถาบันการเงินเหล่านี้ที่อาจลามไปสู่ภาคการเงินทั่วโลก แต่ก็นับเป็นเหตุการณ์ความล้มเหลวครั้งใหญ่ของสถาบันการเงินในการจัดการกับปัญหาของตนเองในรอบ 15 ปีหลังการล้มละลายของ Lehman Brothers และ Washington Mutual ในปี 2551 บทวิเคราะห์นี้มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาที่ทำให้ธนาคารยักษ์ใหญ่ต่างๆ ต้องประสบกับความล้มเหลว ท่ามกลางความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทำให้ความกังวลของผู้คนแพร่สะพัดอย่างรวดเร็วและปัญหารุนแรงขึ้น พร้อมทั้งถอดบทเรียนไปสู่การปรับตัวของภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจไทย

 

          ธนาคารยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ ล้ม...ครั้งใหญ่สุดในรอบ 15 ปีหลังวิกฤตสินเชื่อซับไพร์มปี 2551

          การล้มละลายของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งประกอบด้วย Silicon Valley Bank และ Signature Bank ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นวิกฤตการเงินในภาคธนาคารครั้งใหญ่ในรอบ 15 ปีหลังเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 ที่เข้ามาสั่นครอนความเชื่อมั่นของภาคธนาคาร ที่ผ่านมา SVB และ SB เคยเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่มีสินทรัพย์มากที่สุดอยู่ใน 30 อันดับแรกของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ และมีบทบาทสำคัญต่อการทำธุรกิจของลูกค้าสายเทคโนโลยี เช่น Silicon Valley Bank มีความเชี่ยวชาญในการปล่อยสินเชื่อและให้บริการทางการเงิน รวมถึงการร่วมลงทุนในบริษัท Tech Startup และบริษัทร่วมทุน (Venture Capital) โดยประมาณ 50% ของธุรกิจ Startup ด้านเทคโนโลยีและสุขภาพ และ 88% ของธุรกิจที่มีรายชื่ออยู่ใน 2022 Next Billion-Dollar Companies List ของ Forbes เป็นลูกค้าของ SVB ในขณะที่ Signature Bank เป็นธนาคารรายใหญ่ที่เน้นให้บริการแก่ลูกค้าที่เกี่ยวกับ Cryptocurrency ค่อนข้างมากในระยะหลัง โดยล่าสุดมีฐานเงินฝากจากธุรกิจดังกล่าวสูงถึง 30%

          แต่ความล้มเหลวในการบริหารงานทำให้ธนาคารยักษ์ใหญ่ดังกล่าวสูญเสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุน สะท้อนจากมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ที่ปรับตัวลงอย่างมาก ล่าสุด ณ วันที่ 19 มี.ค. 2566 มูลค่าตลาดของ SVB และ SB ลดลงมากถึง 84% และ 78% ตามลำดับ เทียบกับมูลค่า ณ สิ้นปี 2564 (รูปที่ 1) โดยที่ SVB และ SB ประสบกับปัญหาขาดสภาพคล่องรุนแรงจากการเร่งถอนเงินฝากของลูกค้าเป็นจำนวนที่มากถึง 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 1.78 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในวันเดียว เทียบกับการถอนเงินของลูกค้า Washington Mutual จำนวน 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ใช้เวลา 9 วัน 

 

31076 KT Compass p01

 

          ในที่สุดทางการสหรัฐฯ สั่งปิดกิจการของ Silicon Valley Bank เป็นรายแรกและตามด้วย Signature Bank ในเวลาต่อมา โดยมีสถาบันคุ้มครองเงินฝากของรัฐบาลสหรัฐฯ (FDIC) ทำหน้าที่ควบคุมกิจการและทรัพย์สินของธนาคารที่ถูกปิด ซึ่งกลายเป็นกรณีการล้มละลายของธุรกิจสหรัฐฯ ที่มีขนาดใหญ่สุดติดอันดับที่ 3 และ 4 (รูปที่ 2) ในรอบ 15 ปีนับตั้งแต่การล้มละลายของ Lehman Brothers และ Washington Mutual ในปี 2551 นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อธนาคารอื่นเช่นกัน (Box 1)

 

31076 KT Compass p02

 

          อนึ่งในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ธนาคารสหรัฐฯ ถูกสั่งปิดนั้น ธนาคารยักษ์ใหญ่ในยุโรปอย่าง Credit Suisse ซึ่งเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์และเป็น 1 ใน 9 ธนาคารขนาดใหญ่ระดับโลกที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินของโลก (Bulge Bracket Bank) ทั้งในแง่การให้บริการที่หลากหลายทั่วทุกภูมิภาคของโลกและการคิดค้นนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไป ประสบปัญหาทางการเงินจากผลประกอบการที่ไม่ดีต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีผลขาดทุน 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 มากที่สุดในช่วง 2552-2565 มีปัญหาสะสมมาหลายปีจากการบริหารงานและระบบควบคุมภายในที่อ่อนแอ ขาดการป้องกันธุรกรรมการฟอกเงินและการทุจริตของพนักงาน รวมทั้งมีปัญหาสภาพคล่องพร่องอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาหลังมีการถอนเงินฝากไปมากกว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 4/2565 อีกทั้งไม่สามารถได้รับการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง Saudi National Bank ในที่สุด Credit Suisse จำเป็นต้องขอกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางของสวิสเซอร์แลนด์ในวงเงินที่สูงถึง 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ท่ามกลางการปรับลดลงของราคาหุ้นถึง 69% (YTD) ตามความกังวลของตลาดที่เพิ่มขึ้น (รูปที่ 3)

 

31076 KT Compass Box1

 

31076 KT Compass p03

 

          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Silicon Valley Bank, Signature Bank และ Credit Suisse สร้างความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคาร สอดคล้องกับการปรับมุมมองของ Moody’s Investors Service ที่มีต่อระบบธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐฯ จาก “มีเสถียรภาพ” เป็น “ลบ” จากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นภายหลังการล้มลงของ SVB และ SB ขณะเดียวกัน Moody’s, S&P Global Ratings และ Fitch Ratings ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ First Republic Bank สู่สถานะ “Junk” เนื่องจากเผชิญกับปัญหาขาดสภาพคล่องจากการไหลออกต่อเนื่องของเงินฝาก และอยู่ระหว่างทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารบางแห่งเพิ่มเติม ในขณะที่ตลาดตอบสนองเชิงลบต่อปัญหาของ Credit Suisse โดยจะเห็นได้ว่าอัตรา Credit Default Swap (CDS) ของธนาคารได้แตะระดับ 1,000 basis points สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา และสูงกว่าธนาคารในกลุ่ม Bulge Bracket Banks ด้วยกันค่อนข้างมาก (รูปที่ 4) อนึ่ง CDS เป็นตราสารอนุพันธ์ที่นำมาใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้หากอัตรา CDS ยิ่งมีค่าสูงมาก ยิ่งสะท้อนถึงความกังวลของตลาด เนื่องจากมีโอกาสที่จะผิดชำระหนี้ในอัตราที่สูงกว่า

 

31076 KT Compass p04

 

          ปัญหาทางการเงินของธนาคารยักษ์ใหญ่เกิดจากการบริหารความเสี่ยงที่ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

          ในรอบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อสูง ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและถอนสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีขนาดและความถี่ที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ในรอบปีที่ผ่านมา FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งรวมกันมากถึง 4.5% จากช่วงต้นปี 2565 อยู่ที่ 0-0.25% มาอยู่ที่ 4.5-4.75% ขณะที่ ECB ปรับขึ้นรวมกัน 3% มาอยู่ที่ 2.5% ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ผลของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายส่งผลทำให้ลูกหนี้มีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นและมีผลประกอบการที่แย่ลง และยังส่งผลกระทบต่อมูลค่าของพันธบัตรและตราสารหนี้เช่นกัน

          ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและเศรษฐกิจชะลอตัวลง ภาคธุรกิจโดยทั่วไปซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะธุรกิจในกลุ่ม Tech Startup และ Venture Capital ต้องเผชิญกับปัจจัยกดดันผลประกอบการรอบด้าน สำหรับกรณี SVB ก็เช่นกัน เนื่องด้วยลูกค้าในกลุ่มธุรกิจ Startup และ Venture Capital ทำธุรกิจยากขึ้นและเริ่มประสบปัญหาทางการเงินจากต้นทุนทางการเงินและต้นทุนธุรกิจที่สูงขึ้น ประกอบกับการชะลอตัวลงของการร่วมลงทุนในสหรัฐฯ จากปีก่อนหน้ากว่า 35% ส่งผลให้ลูกค้าธุรกิจของธนาคาร ระดมทุนได้ยากขึ้นและมีความต้องการที่จะถอนเงินฝากเพื่อใช้ประคับประคองธุรกิจ

          กรณีของ Silicon Valley Bank หากพิจารณาลักษณะการทำธุรกิจ กลุ่มลูกค้า และโครงสร้างทางการเงิน จะเห็นถึงความน่ากังวลใน 2 ประเด็นหลัก คือ 

          1) ธนาคารมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวสูงของลูกค้าในธุรกิจ Startup และ Venture Capital เพียงไม่กี่กลุ่ม เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพในระยะเริ่มแรก (Early Stage) ธุรกิจเงินร่วมลงทุนในสาขา Technology, Healthcare และ Life Science แม้ว่าธุรกิจบางส่วนมีความต้องการกู้ยืมเงิน แต่ส่วนใหญ่นำเงินมาฝากไว้กับธนาคารเป็นหลัก ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2565 ธนาคารมีสัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ 43% เท่านั้น 

 

31076 KT Compass p05

 

          อนึ่งในช่วงที่ผ่านมา Silicon Valley Bank เติบโตอย่างก้าวกระโดด สอดรับกระแสการลงทุนใน Tech Startup ข้อมูลจาก Dealroom ระบุว่าในปี 2564 การลงทุนรูปแบบ Venture Capital ในสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งขยายตัวราว 2 เท่าตัวจากปี 2563 นอกจากนี้ รายงาน Pulse of Fintech H2 2021 ที่จัดทำโดย KPMG พบว่า ในปี 2564 การลงทุนในเทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) ในสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยกว่า 61.9% เป็นการลงทุนรูปแบบ Venture capital เมื่อเงินลงทุนมหาศาลไหลเข้ามาในกลุ่ม Tech Startup ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของ SVB จึงส่งผลให้ปริมาณเงินฝากมหาศาลไหลเข้าสู่ SVB (รูปที่ 5) โดยในช่วงปี 2562-2564 เงินฝากเติบโตเฉลี่ยปีละ 75% CAGR และมีมูลค่าสูงสุดถึง 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 (รูปที่ 5) อย่างไรก็ตาม ปริมาณเงินรับฝากของ SVB เริ่มลดลงในปี 2565 ก่อนจะมีการถอนเงินฝากอย่างหนักในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาภายหลังผู้บริหาร SVB เปิดเผยถึงตัวเลขขาดทุนจากการขายตราสารหนี้จำนวน 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และความจำเป็นที่จะต้องระดมทุนเพิ่มเติม

          นอกจากนั้น เงินฝากส่วนใหญ่ของธนาคารราว 39% มาจากกลุ่ม Early-Stage Startup (รูปที่ 6) แต่โดยปกติแล้วลูกค้ากลุ่ม Early-Stage มักจะไม่มีรายได้หรือมีผลประกอบการขาดทุนอยู่ ฉะนั้นเมื่อธุรกิจต้องประสบกับวิกฤตโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา จะมีความยากลำบากในการหานักลงทุนเพราะนักลงทุนไม่กล้าเสี่ยงและค่อนข้างระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น ทำให้สตาร์ทอัพหลายรายไม่มีเงินก้อนใหม่เข้ามาฝากกับธนาคาร ขณะที่ต้องถอนเงินฝากออกไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประคับประคองธุรกิจหรือนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้มีการถอนเงินฝากออกไปพอสมควรในปี 2565 ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวชัดเจนขึ้น 

 

31076 KT Compass p06

 

          2) ธนาคารไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) และอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) หากพิจารณาโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินของ SVB จะเห็นถึงความไม่สมดุล (Mismatch) ของอายุระหว่างแหล่งได้มาของเงินทุนกับทางที่ใช้ไปของเงินทุน

          เมื่อพิจารณาแหล่งได้มาของเงินทุน พบว่ามาจากเงินฝากของลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นพอร์ตเงินฝากประเภทเผื่อเรียก กระแสรายวัน และออมทรัพย์ รวมกันคิดเป็นสัดส่วนที่สูง ขณะที่สัดส่วนของเงินฝากประจำมีเพียง 4% ของเงินฝากทั้งหมด สวนทางกับแหล่งที่ใช้ไปของเงินทุน โดย SVB มีการให้สินเชื่อราว 34.8% นำไปลงทุนในตราสารหนี้ที่จะถือจนครบกำหนด (มีอายุเฉลี่ย 6.2 ปี แต่ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 10 ปี) และหลักทรัพย์เพื่อขาย คิดเป็น 43.1% และ 12.3% ของสินทรัพย์รวม ตามลำดับ (รูปที่ 7) สะท้อนว่าโดยรวมแล้ว SVB อาจไม่สามารถคืนเงินฝากให้กับลูกค้าหากมีการถอนเงินเกินกว่าเงินสดที่มีอยู่ในมือและหลักทรัพย์เผื่อขาย และทำให้จำเป็นต้องขายขาดทุนตราสารหนี้ก่อนครบกำหนดไถ่ถอน 

 

31076 KT Compass p07

 

          นอกจากนี้ Silicon Valley Bank มีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างชัดเจน เพราะมีการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวเป็นจำนวนมาก สะสมมาตั้งแต่ก่อนทางการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าโดยทั่วไป การลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกและค้ำประกันโดยหน่วยงานของรัฐ (Agency issued) จะไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย หากเป็นการถือครองไปจนครบกำหนดอายุโดยจะได้รับเงินตามมูลค่าที่ตราไว้ แต่ถ้าผู้ถือตราสารหนี้จำเป็นต้องขายตราสารหนี้เหล่านั้นออกไปก่อนกำหนด โดยเฉพาะในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่ถืออยู่นั้น จะทำให้ต้องขายตราสารหนี้ออกไปในราคาที่ถูกกว่ามูลค่าที่ตราไว้ (ขายขาดทุน) เพราะราคาของตราสารหนี้จะเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด 

          ดังเช่นในกรณีของ Silicon Valley Bank ท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้สินทรัพย์ลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ระยะยาวที่ถือไว้ตั้งแต่ช่วงก่อน FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย มีมูลค่าลดลงอย่างมากในปี 2565 สะท้อนจากรายการขาดทุนที่ยังไม่รับรู้สุทธิ (net unrealized losses) จากการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีมูลค่าสูงถึง 17.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 15.7 เท่าจากปีก่อนหน้า (รูปที่ 8) หรือคิดเป็นกว่า 1.1 เท่าของส่วนของเจ้าของ (Equity) อย่างไรก็ดี SVB จะไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าตราสารหนี้ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นนี้หากมีการถือจนครบระยะเวลา แต่เนื่องจาก SVB ต้องการเพิ่มสภาพคล่องเพื่อรองรับการถอนเงินจำนวนมากของลูกค้ากลุ่ม Startup และ รูปแบบ Venture capital จึงจำเป็นต้องขายตราสารหนี้จำนวน 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออกมาและเกิดผลขาดทุนที่สูงถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

31076 KT Compass p08

 

          ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่งสำคัญที่ทำให้สถาบันการเงินประสบกับปัญหาขาดสภาพคล่องรุนแรงได้ในระยะเวลาอันสั้นในยุคดิจิทัล สำหรับกรณีการล้มของ SVB อย่างรวดเร็วจะเห็นว่าสื่อสังคมออนไลน์และช่องทางการสื่อสารทางดิจิทัล เช่น Twitter, Email, Digital Messaging ถูกใช้ในวงกว้าง ทำให้ข่าวสารในด้านลบและความวิตกกังวลที่เกี่ยวกับธนาคารถูกแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันเทคโนโลยีดิจิทัลแบงก์กิ้งช่วยให้ลูกค้าของ SVB ถอนและโอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์เป็นไปได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และไม่จำกัดสถานที่ ต่างจากเมื่อในอดีตที่ผู้ใช้บริการจำเป็นต้องเดินทางไปเข้าคิวและต่อแถวเพื่อทำธุรกรรมที่สาขา

          สำหรับปัญหาสภาพคล่องและความยากลำบากของ Credit Suisse ในการเพิ่มทุน ก่อนที่จะต้องจบลงด้วยการขอกู้เงินจาก Swiss National Bank และถูกซื้อกิจการโดย UBS Group ในเวลาต่อมา เกิดจากสาเหตุพื้นฐานที่ต่างจาก Silicon Valley Bank และ Signature Bank กล่าวคือ CS มีปัญหาสะสมตั้งแต่ในอดีตหลายประการ ที่ลดทอนความเชื่อมั่นของตลาด (รูปที่ 3) ทั้งที่เกี่ยวกับประเด็นอื้อฉาวเรื่องการทุจริตของเจ้าหน้าที่ธนาคาร การรั่วไหลของข้อมูลลูกค้ากว่า 30,000 ราย โดยที่บางส่วนเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวพันกับการกระทำผิดกฎหมาย อาทิ การฟอกเงิน การค้ายาเสพติด และการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ในช่วงต้นปี 2565 CS ถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดฐานช่วยเหลือกลุ่มลักลอบขนยาเสพติดทำการฟอกเงินรวมหลายล้านยูโร ขณะที่ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของการกระจุกตัวของกลุ่มลูกค้าเหมือน SVB และ SB และไม่ได้มีการถือครองตราสารหนี้ในสัดส่วนต่อสินทรัพย์รวมที่สูงเหมือน SVB และ SB นอกจากนั้น CS มีการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าคิดเป็นสัดส่วนต่อเงินฝากในระดับที่สูงกว่าของ SVB และ SB อนึ่งจะสังเกตได้ว่า ณ สิ้นไตรมาส 4/2565 สัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากเพิ่มขึ้นแตะ 113% เป็นเพราะลูกค้าถอนเงินฝากมากกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (รูปที่ 9)

 

31076 KT Compass p09

 

          ในเบื้องต้น ทางการสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทัน คลายกังวลวิกฤตธนาคาร แต่ยังมีความเปราะบาง

          สำหรับธนาคารในสหรัฐฯ FED ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนด้วยการคุ้มครองเงินฝากทุกบัญชีของ Silicon Valley Bank และ Signature Bank เพื่อลดการแห่ถอนเงิน (Bank Run) พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องกับธนาคารต่างๆ กรณีของ SVB เป็นตัวอย่างของธนาคารที่มีสัดส่วนของเงินรับฝากที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของ FDIC ในระดับที่ต่ำมาก เพียง 6.1% เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 56.6% (รูปที่ 10) เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ของ SVB เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีเงินฝากต่อบัญชีเกิน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเงินฝากส่วนเกินจากความคุ้มครองของ SVB มีมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ภายหลังการประกาศสั่งปิด SVB และ SB นั้น FED ได้ออกมาสร้างความเชื่อมันต่อระบบธนาคารให้กับประชาชนเพื่อป้องกันการแห่ถอนเงินออกจากธนาคารอื่นๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วยการยืนยันว่าเงินฝากทุกบัญชีของ SVB และ SB จะได้รับการคุ้มครอง นอกจากนั้น ยังได้ประกาศจัดตั้ง Bank Term Funding Program วงเงิน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อปล่อยสินเชื่ออายุไม่เกิน 1 ปี ให้แก่สถาบันการเงินที่ต้องการสภาพคล่องและมีตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐวางเป็นหลักประกัน

 

31076 KT Compass p10

 

          แม้ทางการสหรัฐฯ จะตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างทันท่วงที แต่ภาคธนาคารของสหรัฐฯ ยังคงมีความเปราะบาง และมีความต้องการสภาพคล่องเพิ่มขึ้นชัดเจน จะเห็นได้จากข้อมูลเปิดเผยของ FED ที่ชี้ให้เห็นว่ามูลค่าการกู้ยืมเพื่อปรับสภาพคล่องผ่านหน้าต่างคิดลด หรือ Discount Window ของธนาคารสหรัฐฯ ในช่วงวิกฤตของ SVB และ SB ได้ทะยานสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะเวลาอันสั้นจากช่วงก่อนหน้าที่มีมูลค่าเพียง 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ มูลค่าดังกล่าวสูงกว่ามูลค่า ณ ช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกปี 2551 ราว 38% สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ SVB และ SB ที่กดดันต่อสภาพคล่องของธนาคารสหรัฐฯ (รูปที่ 11) 

 

31076 KT Compass p11

 

          Krungthai COMPASS มองว่าภาคธนาคารของสหรัฐฯ จะยังคงเผชิญความท้าทายจากความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยต่อไป ขณะเดียวกันภาคเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นอีกตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED ในระยะข้างหน้า เนื่องจาก FED ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้ดอกเบี้ยนโยบายในการควบคุมเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% แต่จะมีความระมัดระวังมากขึ้นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหลังวิกฤต SVB และ SB โดยล่าสุดจากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา FED ได้มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องครั้งที่ 9 แล้ว ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขึ้นมาอยู่ในช่วง 4.75-5.00% นอกจากนั้นจากการสำรวจความคิดเห็นของคณะกรรมการ FOMC เป็นไปได้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 5.1% ในปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่า FED อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง

          นอกจากนั้น ทางการสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญมากขึ้นกับการกับดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งหมายรวมถึงธนาคารพาณิชย์ที่มีสินทรัพย์น้อยกว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่กรอบการกำกับดูแลเน้นการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) เป็นประจำทุกปีสำหรับสถาบันการเงินที่มีสินทรัพย์มากกว่า 2.5 แสนล้านดออลาร์สหรัฐฯ และการทำ Stress Test ทุก 2 ปี สำหรับสถาบันการเงินที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1 แสนล้านดออลาร์สหรัฐฯ แต่ไม่เกิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อนึ่ง ภาวะดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงและแนวโน้มความเข้มงวดของการกำกับดูแลสถาบันการเงิน จะเป็นแรงกดดันด้านต้นทุนกู้ยืมของภาคเศรษฐกิจ ภาวะการเงินตึงตัว รวมถึงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่ ซึ่งจะกระทบการลงทุน และการใช้จ่าย อันอาจจะส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

          สำหรับกรณี Credit Suisse นั้น UBS Group ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ได้ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของธนาคาร ซึ่งจะทำให้สินทรัพย์ของ UBS Group หลังควบรวมมีมูลค่าสูงขึ้นอีกมาก และจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดของ UBS Group เพิ่มขึ้นแตะระดับ 30% ซึ่งนับว่าเป็นความเสี่ยงด้านการการกระจุกตัวของธุรกิจที่ทางการสวิสเซอร์แลนด์ไม่อาจมองข้าม 

ทั้งนี้ UBS Group จะมีความท้าทายอย่างมากในการรวมกิจการ (Integration) ของสององค์กรที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันให้เกิดประสิทธิภาพ และยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3-5 ปีกว่าการรวมกิจการจะสำเร็จ ฉะนั้น จึงควรติดตามสถานการณ์การแก้ปัญหาของ CS และ UBS Group อย่างใกล้ชิด ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอและภาวะเงินเฟ้อสูงยังไม่สิ้นสุด

 

          ภาคธนาคารไทยแข็งแกร่ง แต่ต้องระมัดระวังต่อเนื่อง

          ธนาคารพาณิชย์ไทยได้รับผลกระทบจำกัดจากวิกฤตธนาคารสหรัฐฯ และปัญหาของ Credit Suisse เนื่องจากมีความเชื่อมโยงน้อยกับกลุ่มธนาคารที่มีปัญหาข้างต้น และมีโอกาสน้อยที่จะซ้ำรอยวิกฤตธนาคารของต่างประเทศ โดยพิจารณาได้จากธนาคารพาณิชย์ไทยมีโครงสร้างทางการเงินที่แตกต่างกัน มีความมั่นคงและเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง[1] นอกจากนั้น หากพิจารณาโครงสร้างสินทรัพย์เงินของธนาคารพาณิชย์ไทย พบว่า มีความแตกต่างกันกันอย่างชัดเจนกับกรณีของ SVB (รูปที่ 12) ธนาคารพาณิชย์ของไทยเน้นระดมเงินฝากไปสู่การปล่อยสินเชื่อ โดยมีสัดส่วนสูงถึง 61.9% ของสินทรัพย์รวม และมีสัดส่วนของเงินลงทุนเพียง 14.4% อีกทั้งมีสัดส่วนของรายการเงินสดและรายการเทียบเท่าราว 20% ประกอบกับ ธปท. มีนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่สร้างผลกระทบที่รุนแรงกับภาคเศรษฐกิจ

 

31076 KT Compass p12

 

          อย่างไรก็ดี ผลข้างเคียงจากการเข้าซื้อกิจการ Credit Suisse โดย UBS Group นั้น จะทำให้ธนาคารทั่วโลกรวมถึงธนาคารพาณิชย์ของไทย มีความยากลำบากในการออกตราสารหนี้ที่นับเป็นกองทุนสำรองส่วนเพิ่มชั้นที่ 1 หรือ AT1[2] ในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ นักลงทุนมีความกังวลที่อาจจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ในลักษณะเดียวกันกับกรณีการถือตราสารหนี้ AT1 ของ CS กล่าวคือ เนื่องจากการเข้าซื้อกิจการโดย UBS Group มีข้อตกลงในการตัดมูลค่าตราสารหนี้ AT1 ของ Credit Suisse มูลค่ากว่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นศูนย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดตราสารหนี้โดยรวมของโลก โดยเฉพาะตลาด AT1 ในยุโรปที่มูลค่ามากถึง 2.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความกังวลต่อนักลงทุนทั่วโลก และส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ AT1 ของธนาคารอื่นๆ ปรับตัวลดลง สำหรับในโซนเอเชียราคาของตราสารหนี้ AT1 ของธนาคารในเอเชียที่ซื้อขายในตลาดปรับตัวลงราว 4.1% (ข้อมูลจากสำนักข่าว Reuters วันที่ 23/3/2566)

          นอกจากนี้ ภาคการเงินของไทยยังต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะนำมาสู่การสะสมความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (search-for-yield) แม้ ธปท. จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบมาก (รูปที่ 13) สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นตัวกระตุ้นพฤติกรรมการเก็งกำไร และการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป ทั้งการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและการลงทุนของภาคเอกชนในกิจการที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ซึ่งเป็นการสะสมความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

 

31076 KT Compass p13

 

          นอกจากนั้น ประเทศไทยมีกลไกการคุ้มครองเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงินที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ฝากเงินครอบคลุมกว่า 98% ของผู้เงินฝาก สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีหน้าที่เก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครอง เพื่อสะสมไว้เป็นกองทุนคุ้มครองเงินฝาก สำหรับใช้ในการจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากเงินตามวงเงินและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหากสถาบันการเงินใดถูกเพิกถอนใบอนุญาต ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท/1 รายผู้ฝาก/สถาบันการเงิน[3] ทั้งนี้ ข้อมูล ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2565 สถาบันฯ มีจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองกว่า 16.12 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมผู้มีเงินฝากรายย่อยที่มีวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาททั้งหมด 89.66 ล้านราย และในจำนวนนี้เป็นผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน 87.88 ล้านราย คิดเป็น 98% ของจำนวนผู้ฝากทั้งหมด โดยกองทุนคุ้มครองเงินฝากมีมูลค่าสินทรัพย์อยู่ที่ 1.37 แสนล้านบาท และมีธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง 32 แห่ง (ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19/1/2566)

          อย่างไรก็ดี ไม่มีการลงทุนในสินทรัพย์ใดที่ปลอดความเสี่ยง 100% การลงทุนทุกรูปแบบมีความเสี่ยง ตั้งแต่ปลายปี 2565 เราเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและเงินเฟ้ออยู่แล้ว จนกระทั่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับภาคธนาคารสหรัฐฯ ยิ่งกดดันต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินมากยิ่งขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสียขนาดใหญ่ จากถือครองสินทรัพย์ทรัพย์ใดเพียงสินทรัพย์หนึ่ง การกระจายการถือครองสินทรัพย์จึงมีความสำคัญ เนื่องจากสินทรัพย์แต่ละประเภทก็มีความเหมาะสมแตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์

 

Implication:

          • ความล้มเหลวของธนาคารในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบค่อนข้างจำกัดและมีโอกาสน้อยที่จะพัฒนาไปสู่วิกฤตการเงินที่รุนแรง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของระบบการเงินโลก อันจะส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวม ปัญหาในครั้งนี้เกิดจากความเสี่ยงเฉพาะตัวของแต่ละสถาบันการเงิน โดยมีแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญ ต่างจากวิกฤตการเงินเมื่อปี 2551 นั้นเกิดจากปัญหาการขาดความสามารถในการชำระหนี้ที่มีความเชื่อมโยงกับภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจริง ซึ่งนำไปสู่วิกฤตเชิงระบบ

          • ภาคธนาคารไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดจากวิกฤตการเงินของ Silicon Valley Bank, Signature Bank และ Credit Suisse เพราะธนาคารพาณิชย์ของไทยไม่ได้มีธุรกรรมโดยตรงกับกลุ่มธนาคารที่มีปัญหาดังกล่าว กอปรกับปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทยในธุรกิจ Fintech และ Startup ตลอดจนการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ท่ามกลางทิศทางดอกเบี้ยที่ยังเป็นขาขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อในสหรัฐ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และทั่วโลกที่ชะลอลงจากภาวะเงินตึงตัวและผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยกดดันภาคการส่งออกของไทย

        • ภาคธนาคารไทยมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ทั้งในแง่เงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง แต่ยังต้องคอยติดตามและเฝ้าระวังปัญหาสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ภาคครัวเรือนและธุรกิจอย่างใกล้ชิดท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการสะสมความเสี่ยงที่เกิดจากพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (search-for-yield) ที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

          • การฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองเงินฝากของภาครัฐ เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการลงทุน คงมีผู้ฝากเงินจำนวนไม่น้อยที่มีการนำเงินบางส่วนไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีความเสี่ยงมากกว่าเพื่อผลตอบแทนที่สูงกว่า ฉะนั้น การบริหารจัดการความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนยังคงเป็นกฎพื้นฐานสำคัญของนักลงทุน ควรปรับพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ให้เหมาะสมกับบริบทความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา โดยกระจายการถือครองสินทรัพย์และลดการกระจุกตัวของการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งที่มากเกินไป

 

 

[1] ณ สิ้นปี 2565 มีอัตราส่วนของเงินกองทุน (BIS ratio) อยู่ที่ระดับ 19.4% (กำหนดขั้นต่ำอยู่ที่ระดับ 11% ) การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio) อยู่ที่ระดับ 197.3% (กำหนดขั้นต่ำอยู่ที่ 100%) และเงินสำรองต่อ NPL (NPL coverage ratio) อยู่ที่ระดับ 171.9% รวมถึงมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.7%

[2] ตราสารหนี้ AT1 เป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ ซึ่งสามารถแปลงสภาพได้ และนับเป็นส่วนหนึ่งของเงินทุนสำรองที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดให้ธนาคารถือครอง เพื่อรองรับกับวิกฤตการเงินที่อาจเกิดขึ้น

[3] สถาบันคุ้มครองเงินฝากให้ความคุ้มครองเงินรับฝากที่เป็นสกุลเงินบาทที่ฝากกับธนาคารพาณิชย์ รวมถึงสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกแห่งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยบัญชีประเภทที่ได้รับความคุ้มครอง ได้แก่ บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก ใบรับฝากเงิน และบัญชีเงินฝากอื่นๆ ที่สถาบันการเงินมีความผูกพันต้องจ่ายคืนแก่ผู้ฝาก

 

 

A31076

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!