ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. ร่างเอกสารผลลัพธ์ที่จะมีการรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นํา ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Subregion Economic Cooperation Program: แผนงาน GMS) ได้แก่ (1) ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดผู้นํา ครั้งที่ 8 แผนงาน GMS (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) และ (2) ร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 (ร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมฯ) ทั้งนี้ ให้ สศช. สามารถปรับปรุงถ้อยคําในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสําคัญ โดยไม่ต้องนําเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีก
2. ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเข้าร่วมการประชุมร่วมกับผู้นําประเทศ ลุ่มแม่น้ำโขงให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมทั้ง 2 ฉบับ โดยไม่มีการลงนาม
3. ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีประจําแผนงาน GMS เพื่อเข้าร่วมการประชุม สุดยอดผู้นํา ครั้งที่ 8 แผนงาน GMS
สาระสําคัญของร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ สรุปได้ ดังนี้
1. ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
รับทราบความก้าวหน้าสําคัญในการดําเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 (GMS-2030) |
เช่น (1) การจัดเตรียมแผนปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล พ.ศ. 2568 - 2570 ซึ่งมุ่งใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติดิจิทัลและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลที่ครอบคลุมแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่ก้าวหน้าในแต่ละสาขาความร่วมมือ ประกอบด้วย สาขาการท่องเที่ยว สาขาการเกษตร และสาขาการค้าและการลงทุน ผ่านขั้นตอนการดําเนินงานที่เป็นรูปธรรม (2) การศึกษาเพื่อประเมินและปรับปรุงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา พื้นที่เศรษฐกิจชายแดนในบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ของแผนงาน GMS (3) การจัดทําแนวทางเชิงกลยุทธ์สําหรับการมีส่วนร่วม ของภาคเอกชนในแผนงาน GMS โดยเน้นแนวทางที่ส่งเสริม และขับเคลื่อนด้วยผลลัพธ์สําหรับการหารือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน การเสนอการจัดการเชิงสถาบันที่เฉพาะเจาะจง และกระบวนการเพื่อส่งเสริมและวางโครงสร้างการมีส่วนร่วม ของภาคเอกชน ในแผนงาน GMS |
|
ความสำเร็จภายใต้ความร่วมมือรายสาขา แผนงาน GMS |
(1) สาขาการเกษตร ซึ่งมีโครงการการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน ซึ่งเสริมสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เกี่ยวกับคุณภาพ ความปลอดภัยทางอาหาร และการเกษตรยั่งยืน (2) สาขาพลังงาน ซึ่งมีความร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนาและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะด้านโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (3) สาขาสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการจัดทํากรอบการดําเนินงาน เชิงยุทธศาสตร์เพื่อเร่งรัดการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2573 (4) สาขาสุขภาพ ซึ่งได้ดําเนินการตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (แนวคิดที่จะปรับปรุงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีผ่านการป้องกันความเสี่ยงและการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมต่อ ระหว่างมนุษย์ สัตว์และสภาพแวดล้อมต่างๆ ) และความพยายาม ในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ผ่านการหารือด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย (5) สาขาการท่องเที่ยว ซึ่งได้มีความพยายามในด้านต่างๆ เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว เช่น การเปิดพรมแดนอีกครั้งอย่างปลอดภัย (6) สาขาคมนาคม ซึ่งมีโครงการใหญ่ที่ประสบความสําเร็จ และจะช่วยพัฒนาความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค เช่น โครงการขยายทางหลวง ระยะที่ 2 ในไทย |
|
การดำเนินการในระยะต่อไป |
มุ่งเน้นถึงความจําเป็นในการออกแบบยุทธศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลและพัฒนาความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลข้ามพรมแดน สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสีเขียว และสนับสนุนความเชื่อมโยงจากความร่วมมือข้ามพรมแดนกับอนุภูมิภาคอื่นๆ |
2. ร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมฯ
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
วัตถุประสงค์ |
เพื่อเร่งรัดกระบวนการที่มุ่งสู่การบรรลุกรอบยุทธศาสตร์แผนงานความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 ผ่านการดําเนินการต่างๆ เช่น การส่งเสริมให้เกิดระบบนวัตกรรมที่สามารถจัดการกับความท้าทายของอนุภูมิภาค และการสนับสนุนการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่มีพลวัต |
|
แนวคิดเชิงกลยุทธ์ |
1. การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล: โดยสนับสนุนการพัฒนาความเชื่อมโยง ด้านดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานข้ามพรมแดน ส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้ามพรมแดน อํานวยความสะดวกในการแบ่งปันความรู้และการอภิปราย ในเรื่องกฎหมาย กฎ ระเบียบ และกรอบการดําเนินการด้านธรรมาภิบาล รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพสําหรับการเป็นผู้ประกอบการด้านดิจิทัล 2. การเปลี่ยนผ่านสีเขียว: ส่งเสริมแนวทางด้านนวัตกรรมและความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงความพยายามในการถ่ายทอดและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสีเขียว สนับสนุน การประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานที่คาร์บอนต่ำและยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ พัฒนาความร่วมมือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อนําไปสู่การพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างตัวแสดงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้เกิดการหารือในเรื่องกรอบการดําเนินการด้านกฎระเบียบสําหรับโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศและเสริมสร้างทักษะเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่ยั่งยืน 3. ความเชื่อมโยง: ส่งเสริมการพัฒนาของทางเลือกความเชื่อมโยงด้านนวัตกรรม และพัฒนาการเชื่อมโยง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพด้านนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยบูรณาการ ระเบียงเศรษฐกิจจีเอ็มเอสเพื่อเชื่อมโยงเมือง ท่าเรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ และศูนย์การผลิต ทางเศรษฐกิจ รวมถึงเอื้อให้เกิดการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านรูปแบบ ความเชื่อมโยง พลังงานขั้นสุดท้าย การเสริมสร้างเครือข่ายข้ามพรมแดนเพื่อส่งเสริมการพัฒนา ศักยภาพและการแลกเปลี่ยน และการส่งเสริมการหารือด้านการบูรณาการ กฎระเบียบเพื่อทําให้เกิดการขยายความเชื่อมโยง ในรูปแบบต่างๆ |
|
กลไกการขับเคลื่อน |
จะดําเนินการผ่านคณะทํางานรายสาขาของ GMS และกลไกอื่นๆ เช่น (1) คณะทํางานเฉพาะกิจด้านนวัตกรรม: เพื่อกําหนดทิศทางการดําเนินงาน ติดตาม และรายงานผลความคืบหน้าของการดําเนินการ (2) การจัดประชุม: เพื่อแบ่งปันความรู้ด้านนวัตกรรมและนโยบายด้านนวัตกรรม (3) ความร่วมมือกับภาคเอกชน และ (4) การติดตามประเมินผล เพื่อใช้วัดผลลัพธ์ความก้าวหน้าเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย |
3. การรับรองร่างเอกสารทั้งสองฉบับจะก่อให้เกิดประโยชน์ ดังนี้
1. ส่งเสริมบทบาท สถานะ และเกียรติภูมิของไทยในเวที ระหว่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากการดําเนินความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคภายใต้แผนงาน GMS ในการพัฒนาและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ร่วมกันในทุกสาขาความร่วมมือที่มีศักยภาพ เพื่อสนับสนุน การดําเนินงานที่มีความสอดคล้องกับประเด็นการพัฒนาที่สําคัญและเป็นประโยชน์ร่วมกันในอนุภูมิภาคให้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันในทุกระดับ ทั้งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
2. เสริมสร้างความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นต่างๆ เช่น การพัฒนาความเชื่อมโยงของระบบคมนาคมขนส่งในอนุภูมิภาค ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศ การสนับสนุนเกษตรกรรมที่ยั่งยืน และส่งเสริมบทบาทของสตรี ในภาคการเกษตร การส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม และการนําดิจิทัลมาปรับใช้ในการพัฒนา รวมถึงขยายความร่วมมือไปสู่การบูรณาการความร่วมมือ กับภาคส่วนต่างๆ
3. ส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและภาคธุรกิจไทยในการขยายการลงทุนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเชื่อมต่อและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ห่วงโซ่มูลค่าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งของไทยและอนุภูมิภาค
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 5 พฤศจิกายน 2567
11123