กรมการพัฒนาชุมชน ดึงผู้เชี่ยวชาญ เปิดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการพัฒนา ต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล จ.ปทุมธานี
กรมการพัฒนาชุมชน เปิดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล ตามโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล ณ โรงแรม ดิ ไอเดิล โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธาน นางสาวอาภรณ์ เพชรรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาชุมชน สำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน และมีที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ประกอบด้วย นางศรินดา จามรมาน ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก, นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบ เจ้าของแบรนด์ THEATER, นายตะวัน ก้อนแก้ว Fashion features editor, นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบ เจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH, อาจารย์ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.มยุรี ศรีกุลวงศ์ อาจารย์ประจําหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและ อาจารย์พิเศษ บัณฑิตวิทยาลัย และ International School of Management มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, อาจารย์ ดร.กิติศักดิ์ เยาวนานนท์ อาจารย์ประจำวิชาเอกการสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยว วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, อาจารย์ ดร.ณัฐวรรธน์ วิวัฒน์กิจภูวดล Vice President - Retail Business Strategy and Innovation และ อาจารย์ ดร.ฐิศิรักน์ โปตะวณิช อาจารย์ประจำวิชาเอกการจัดการธุรกิจไซเบอร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รวมทั้งผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัดเขตพื้นที่ภาคกลาง หัวหน้าส่วนราชการ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เข้าร่วมอบรม ร่วมพิธี ซึ่งเป็นการดำเนินการจุดที่ 3 ระหว่างวันที่ 18 – 19 มิถุนายน 2567
นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนเพื่ออนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น มุ่งเน้นให้เยาวชนมีบทบาท และมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยดำเนินการเพิ่มทักษะการเรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับเยาวชน ร่วมกันอนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญา ทำให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะต้องอนุรักษ์ไว้ รวมทั้งมีองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพ สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว โครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้ ให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Young OTOP) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาด 2) เพื่อต่อยอดภูมิปัญญายกระดับการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ Young OTOP ให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีอัตลักษณ์เฉพาะ สร้างสรรค์และทันสมัยสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล 3) เพื่อเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ Young OTOP
กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ผ่านการคัดเลือกเป็นเยาวชน Young OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย และประเภทของใช้ของตกแต่ง ของที่ระลึก ที่ผ่านการคัดเลือก รวมทั้งสิ้น 119 ราย จาก 45 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ จำนวน 11 จังหวัด 30 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 14 จังหวัด 32 ราย ภาคกลาง จำนวน 11 จังหวัด 22 ราย และภาคใต้ จำนวน 8 จังหวัด 25 ราย โดยกิจกรรมที่ดำเนินการตามโครงการฯ ประกอบด้วย กิจกรรมที่ 1 การพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากลโดยผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ กิจกรรมที่ 2 การพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล โดยมีการร่างต้นแบบผลิตภัณฑ์ ระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการ Young OTOP ที่เข้าร่วมโครงการ เละผลิตต้นแบบผลิตภัณฑ์ จำนวนไม่น้อยกว่า รายละ 1 ชิ้นงาน กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมการประกวดผลงาน Young OTOP สู่สากล/กิจกรรมทดสอบตลาด/การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และการประชาสัมพันธ์ และผู้ที่ชนะเลิศ การประกวดผลงานฯ จะได้รับรางวัลต้นกล้านารีรัตน รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
นายวรงค์ กล่าวต่อไปว่า กรมเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเป็นการต่อยอดให้เยาวชน Young OTOP ได้รับการพัฒนาศักยภาพเป็นผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP รุ่นใหม่ที่มีความสามารถในการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม โดยดึงเสน่ห์เรื่องราว ผลิตภัณฑ์มาสร้างสรรค์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความร่วมสมัยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและสามารถแข่งขันในช่องทางการตลาดได้ทั้ง Offline และ Online ซึ่งจะทำให้ Young OTOP มีอาชีพ มีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ตลอดจนวางรากฐานให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาทดแทนคนรุ่นเก่า เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิม และต่อยอดการพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่นและในส่วนของกลุ่มที่กรมการพัฒนาชุมชนได้พัฒนาแล้ว ยังคงจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เป็นกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นในอนาคต
การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และที่ปรึกษาผ้าไทยใส่ให้สนุก ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ ตลอดทั้งผู้เชี่ยวชาญ ด้านการตลาด ทุกท่านล้วนเป็นผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมฯผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้ารับการอบรมฯ จะได้นำความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ที่ได้รับจากการอบรมฯ ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของทุกท่าน จนสามารถยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากลทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต
6746