ดีเซล ผัก ผลไม้ ค่าไฟขยับ ดันเงินเฟ้อ ต.ค. เพิ่ม 0.83% บวกต่อเนื่อง 7 เดือนติด
พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อ เดือน ต.ค.67 เพิ่มขึ้น 0.83% เหตุผัก ผลไม้ น้ำมันดีเซล ค่าไฟฟ้า ปรับตัวสูงขึ้น ทำบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน รวม 10 เดือน เพิ่ม 0.26% คาด พ.ย. ยังเพิ่มอีก ทั้งปีอยู่ในเป้า 0.2-0.8% ค่ากลาง 0.5%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ต.ค..2567 เท่ากับ 108.61 เทียบกับ ก.ย.2567 ลดลง 0.06% เทียบกับเดือน ต.ค.2566 เพิ่มขึ้น 0.83% เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร
โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้าได้มีการปรับสูงขึ้น เนื่องจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน ซึ่งมีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากภาครัฐมากกว่าปีนี้ ขณะที่ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก และหากรวมเงินเฟ้อ 10 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ต.ต.) เพิ่มขึ้น 0.26%
สำหรับ รายละเอียดเงินเฟ้อเดือน ต.ค..2567 ที่สูงขึ้น 0.83% มาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.95% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น กลุ่มอาหารสด อาทิ ผักสด (ต้นหอม กะหล่ำปลี ผักชี ผักกาดขาว มะเขือ พริกสด กะหล่ำดอก) ผลไม้สด (เงาะ กล้วยน้ำว้า มะม่วง แตงโม กล้วยหอม) ไก่สด ไข่ไก่ กุ้งขาว เนื้อสุกร และข้าวสารเจ้า กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟร้อน/เย็น น้ำหวาน) และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำตาลทราย มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) กะทิสำเร็จรูป) ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ไก่ย่าง มะนาว น้ำมันพืช หัวหอมแดง กระเทียม ปลาทู และอาหารโทรสั่ง (Delivery) เป็นต้น
ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 0.04% จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี) และค่าถ่ายเอกสาร ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ แก๊สโซฮอล์ ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาปรับผ้านุ่ม) และเสื้อผ้า (เสื้อยืดบุรุษและสตรี เสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี) เป็นต้น
ทางด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน ต.ค.2567 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.08% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย..2567 และเพิ่มขึ้น 0.77% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.2566 เฉลี่ย 10 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้น 0.52%
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ย. 2567 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นต่แเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่ากระแสไฟฟ้าของภาครัฐในปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง มาจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ต่ำกว่าปีก่อน ราคาผักสดกลับเข้าสู่ระดับปกติ เนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัยและน้ำท่วมหนักในบางพื้นที่สิ้นสุดลง และคาดว่าผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.2-0.8% ค่ากลาง 0.5)% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง
ดัชนี เศรษฐกิจการค้า ประจำเดือนตุลาคม 2567 🛒🛍️📊💰
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเดือนตุลาคม 2567 เท่ากับ 108.61 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.72 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.83 (YoY) โดยปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้าได้มีการปรับสูงขึ้นเนื่องจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน ซึ่งมีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากภาครัฐมากกว่าปีนี้ ขณะที่ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
📊 แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2567 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนตุลาคม 2567 โดยปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ได้แก่
(1) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
(2) ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่ากระแสไฟฟ้าของภาครัฐในปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา
(3) สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยว
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่
(1) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า (เดือนพฤศจิกายน 2566 มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ซึ่งส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลง
(2) ราคาผักสดกลับเข้าสู่ระดับปกติ เนื่องจากผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวของอุทกภัยและน้ำท่วมหนักในบางพื้นที่สิ้นสุดลง
(3) คาดว่าผู้ประกอบการค้าส่ง - ค้าปลีกรายใหญ่ จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง
💾 ข้อมูลฉบับเต็ม: ในคอมเมนต์ด้านล่าง
🙏 ขอขอบคุณข้อมูล: กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า (ดศ.)
.
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจการค้าก่อนใครที่
📌 LINE: @TPSO.tradeinsights
📌 Website : tpso.go.th