รมช.สุชาติ ร่วมเวทีครบรอบ 40 ปี COMCEC กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับโลกมุสลิม มุ่งส่งเสริมการค้าผ่านระบบดิจิทัล
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมประชุม COMCEC ครั้งที่ 40 ณ นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า มุ่งกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศมุสลิม
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการถาวรว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า (The Standing Committee for Economic and Commercial Cooperation of the Organisation of the Islamic Cooperation: COMCEC) ครั้งที่ 40
ซึ่งเป็นกลไกหารือด้านเศรษฐกิจสำคัญภายใต้องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation : OIC) ตามคำเชิญของรัฐบาลสาธารณรัฐตุรกี ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ของ OIC โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมประจำปีของประเทศสมาชิก OIC ในระดับรัฐมนตรีการค้า เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน
นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 40 ปีของการประชุม COMCEC โดยมีนายเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (H.E. Recep Tayyip Erdoğan) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐตุรกีเป็นประธานการประชุม และได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นในระดับรัฐมนตรี ภายใต้หัวข้อ ‘การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระบบการชำระเงินของประเทศสมาชิก OIC’ ซึ่งประเทศสมาชิก OIC ต่างได้แลกเปลี่ยนการดำเนินนโยบายและแนวทางการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในระบบชำระเงินของแต่ละประเทศ
สำหรับ ประเทศไทยได้มีพัฒนาการด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระบบชำระเงินอย่างต่อเนื่อง โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการชำระเงินที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน เช่น การสนับสนุนธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินของเอกชน และการส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลให้กับผู้บริโภคชาวไทย
โดยรัฐบาลไทยมีการดำเนินการที่สำคัญ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (National E-payment System) ซึ่งภาครัฐได้ผลักดันการชำระเงินหรือการโอนเงินในระบบพร้อมเพย์โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน การส่งเสริมสังคมไร้เงินสด เช่น บัตรเดบิต บัตรเครดิต และ e-money การส่งเสริมให้ใช้บริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ QR Code และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) การส่งเสริมการค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ (E-Commerce) และการปรับปรุงกฎระเบียบให้รองรับกับเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
กลุ่มประเทศ OIC ประกอบด้วยสมาชิก 57 ประเทศจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ได้แก่ ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกาใต้ เอเชียกลาง เอเชียใต้ และอาเซียน ซึ่งนับเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพของไทย เนื่องจากกลุ่ม OIC มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีความต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภคสูง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาล จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังกลุ่มประเทศ OIC มากขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-กันยายน) การค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ OIC มีมูลค่า 70,103 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกจากไทยมูลค่า 28,673 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญจากไทย อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน ข้าว เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำตาลทราย และการนำเข้าจากกลุ่ม OIC มูลค่า 41,430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป และแผงวงจรไฟฟ้า