วว. มุ่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ พร้อมผลักดันการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ยั่งยืน ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ The 8th STS forum ASEAN-Japan Workshop
ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยผู้บริหารและบุคลากร วว. ได้แก่ ดร.บุณณนิดา โสดา ผอ.กองวิเทศสัมพันธ์ (กวส.) ดร.ปิยาลัคน์ เงินชูกลิ่น นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ และนางสาวพิมประไพ ศุภรรัตน์ นักวิเทศสัมพันธ์อาวุโส กวส. เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ The 8th STS forum ASEAN-Japan Workshop ซึ่งหน่วยงานของประเทศไทย ได้แก่ กระทรวง อว. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหน่วยงานฝ่ายญี่ปุ่น ได้แก่ Science and Technology in Society forum (STS forum) และ Japan External Trade Organization (JETRO) ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และผู้นำจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่นเข้าร่วมการประชุม ในวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว
ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นผู้แทนฝ่ายไทยกล่าวในพิธีเปิดงานร่วมกับผู้แทนจากฝ่ายญี่ปุ่น คือ Prof. KOMIYAMA Hiroshi, ประธาน STS forum นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก H.E. Mr. OTAKA Masato เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. และศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม
การประชุมเชิงปฏิบัติการ The 8th STS forum ASEAN-Japan Workshop มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่น พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือในด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคไปอีก 50 ปีข้างหน้า ภายใต้ธีม “For the next 50 years of ASEAN-Japan Science and Technology Cooperation” โดยการประชุมมีการเสวนาวิชาการในประเด็นสำคัญ เช่น กลยุทธ์การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับงานวิจัยสีเขียวต่อภาคอุตสาหกรรม และการส่งเสริมผู้ประกอบการ Start-ups
ในโอกาสที่ วว. เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญขององค์กรในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ และผลักดันการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ผ่านเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศและองกรระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสากลของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยและพัฒนา หน่วยงานพันธมิตรในต่างประเทศ เพื่อยกระดับองค์ความรู้ ทักษะบุคลากร และความพร้อมของ วว. ในงานวิจัย พัฒนา และบริการ ตามแนวทาง เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) หรือ BCG Model และการเป็นผู้ให้บริการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างครบวงจร (Total Solutions Provider)
6866