หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov 49


ร่างแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตระหว่างประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (ค.ศ. 2024 - 2026)

          คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตระหว่างประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (ค.ศ. 2024 - 2026) [Three-Year Plan of Action on Lancang - Mekong Production Capacity Cooperation (2024 - 2026)] (ร่างแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปีฯ) โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปีฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง และให้เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้างหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีหนังสือแจ้งให้การรับรองร่างแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปีฯ ตามที่ประเทศสมาชิกมีฉันทามติ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

          คราวประชุมคณะทำงานร่วมสาขาศักยภาพในการผลิตภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ประเทศสมาชิกได้เจรจาจัดทำร่างแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปีฯ โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิต สรุปได้ ดังนี้

 

ประเด็น

 

สาระสำคัญ

วัตถุประสงค์

 

- ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านและการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง โดยใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศและแสวงหาศักยภาพของความร่วมมืออย่างเต็มที่ ผลักดันความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตเชิงลึกและมีคุณภาพสูง และยกระดับอุตสาหกรรมให้ทันสมัยและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล

- ขยายความร่วมมือที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ในสาขาการเกษตร อุตสาหกรรมการบริการ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนารูปแบบความร่วมมือที่ส่งเสริมนวัตกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ข้อริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลกของจีนและข้อริเริ่มระดับภูมิภาคและระดับโลกอื่นๆ

- แสวงหาแนวทางเพื่อยกระดับสถานะของประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง อย่างครอบคลุมในห่วงโซ่มูลค่าของภูมิภาคและโลก ผ่านการกระจายการผลิตภายในภูมิภาค การสร้างงาน การบรรเทาความยากจนและการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อสร้างประชาคมแห่งอนาคตที่มีสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองและใกล้ชิดกันมากขึ้น

หลักการสำหรับความร่วมมือ

 

- การหารืออย่างกว้างขวางและการมีส่วนร่วมเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันและความร่วมมือที่ได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยประเทศสมาชิกจะหารือเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือต่างๆ อย่างสร้างสรรค์และพิจารณาข้อคิดเห็นของทุกฝ่ายและสร้างเวทีความร่วมมือและแบ่งปันผลลัพธ์ของความร่วมมือ โดยการดำเนินการจะสอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศ และสนธิสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง เป็นภาคี รวมทั้งกฎหมายและกฎระเบียบภายในของประเทศสมาชิกด้วย

- การส่งเสริมความร่วมมือที่มีการประสานงานบนพื้นฐานของเงื่อนไขท้องถิ่น ให้คำนึงถึงของทุนทรัพยากรและระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศสมาชิก พร้อมทั้งปรับรูปแบบความร่วมมือและโครงสร้างอุตสาหกรรมระดับภูมิภาคให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมความได้เปรียบที่เกื้อกูลกันของภูมิภาคแม่โขง - ล้านช้าง

- การชี้นำของรัฐบาลและการเน้นบทบาทของตลาด ผลักดันให้มีการสื่อสารและการประสานงานเชิงนโยบายระหว่างรัฐบาลเพื่อให้ภาครัฐมีบทบาทนำในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน และสร้างเวทีความร่วมมือสำหรับองค์กรและสถาบันการเงิน รวมถึงดำเนินความร่วมมือตามกลไกตลาดและขับเคลื่อนโดยวิสาหกิจตามแนวปฏิบัติสากล

- การพัฒนาที่เปิดกว้าง ครอบคลุม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการดำเนินการตามแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปีฯ จะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน พลังงานสีเขียว โดยสอดคล้องกับกฎหมายของประเทศสมาชิก และความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และความมั่นคงของมนุษย์

- การหารืออย่างใกล้ชิด การสอดประสาน และประสิทธิภาพขั้นสูง การดำเนินงานตามแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปีฯ จะมีการหารืออย่างใกล้ชิดและสอดประสานการทำงานกับคณะทำงานร่วมอื่นๆ ในสาขาความร่วมมือที่เกี่ยวข้องเพื่อหลีกเลี่ยงซ้ำซ้อนและปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร

โครงสร้างการดำเนินงาน

 

- คณะทำงานร่วมสาขาความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง เป็นกลไกขับเคลื่อนและประสานการดำเนินการตามแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปีฯ พร้อมทั้งกำหนดให้มีการประชุมของคณะทำงานร่วมฯ ปีละ 1 ครั้ง โดยประเทศสมาชิกจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมตามลำดับตัวอักษร

- คณะทำงานร่วมฯ จะกำหนดจุดประสานงาน (Focal Point for Coordinating) กับประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง โดยมีรายละเอียดจุดประสานงานของแต่ละประเทศ มีดังนี้

 

ประเทศสมาชิก

จุดประสานงาน

ไทย

กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง กต.

จีน

ศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ

กัมพูชา

กรมประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนของคณะกรรมการการลงทุนภายใต้สภาการพัฒนากัมพูชา

สปป.ลาว

กรมเจรจาการค้าและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า

เมียนมา

กรมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

เวียดนาม

องค์การการลงทุนจากต่างประเทศ กระทรวงการวางแผนและการลงทุน

 

ทั้งนี้ จุดประสานงานของแต่ละประเทศควรส่งเสริมการทำวิจัยร่วมและการลงทุนสำหรับสมาคมธุรกิจ วิสาหกิจ สถาบันการเงิน และหน่วยงานคลังสมอง (Think Tank) ทั้งในและนอกภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก

ความร่วมมือเชิงปฏิบัติที่สำคัญ

 

- การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านศักยภาพการผลิตและการลงทุนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ครอบคลุมประเด็นต่างๆ เช่น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและความท้าทายที่เป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิต เป็นต้น

- การแสวงหาความเป็นไปได้ในการดำเนินความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ในรูปแบบหลายประเทศและหลายนิคมอุตสาหกรรม (Multi - Country and Multi - Park)” โดยให้ความสำคัญกับการสำรวจและจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค ส่งเสริมความร่วมมือในรูปแบบหลายประเทศและหลายนิคมอุตสาหกรรม” 

- การสนับสนุนทางการเงิน รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนความร่วมมือสาขาศักยภาพในการผลิตแม่โขง - ล้านช้าง (Lancang-Mekong Production Capacity Cooperation Fund) และเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการสำคัญ

- การทำวิจัยร่วม พิจารณาแนวทางในการจัดตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความร่วมมือ ด้านศักยภาพในการผลิตภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (Expert Committee on Lancang-Mekong Production Capacity Cooperation) (คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญฯ) ทั้งนี้ ทุนสำหรับการวิจัยจะได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง (Lancang-Mekong Cooperation Special Fund) และช่องทางอื่นๆ

- การสร้างแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนข้อมูล พิจารณาให้ความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตและการลงทุนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง เป็นแพลตฟอร์มหลักในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและบูรณาการแหล่งข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ สมาคมธุรกิจ ผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดตั้งเว็บไซต์ทางการเพื่อให้บริการแบ่งปันและเผยแพร่ข้อมูลอย่างทันท่วงที

- การอบรมทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเสริมสร้าง ขีดความสามารถทางอุตสาหกรรมด้านการบริการและเชิงเทคนิค และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการฝึกอบรมพิเศษในกระบวนการดำเนินโครงการการผลิตและการสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่น

ความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่สำคัญ

 

- ด้านคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน วิสาหกิจจะได้รับการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในโครงการความร่วมมือในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม อาทิ ทางรถไฟสายหลัก ระบบขนส่งมวลชนทางราง ทางหลวง ท่าเรือ ท่าอากาศยาน โลจิสติกส์ ไฟฟ้า สายใยแก้วนำแสง โกดัง และโครงการอื่นๆ ของประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคและการรวมตัวทางเศรษฐกิจ และลดความซับซ้อนในกระบวนการขนส่ง

- ด้านเทคโนโลยีสีเขียว สะอาด และประหยัดพลังงาน ไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน ความปลอดภัยของเขื่อน และโครงการพลังงานสะอาดอื่นๆ อาทิ พลังงานชีวภาพ ยานยนต์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (Electric EV) และแบตเตอรี่ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการต่างๆ กระชับความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) และระบบ กักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เพื่อการบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอนและการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

- ด้านอุตสาหกรรมการผลิต แลกเปลี่ยนและร่วมมือในด้านอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมเคมี และอุปกรณ์ทางการแพทย์

- ด้านข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร เสริมสร้างความร่วมมือด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ เครือข่ายข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร และศูนย์ข้อมูลและจุดให้บริการ (Point of Presences: POPs) ตามความต้องการของตลาดท้องถิ่น พร้อมทั้งสำรวจรูปแบบการดำเนินงานของเคเบิลภาคพื้นดินข้ามประเทศและส่งเสริมการยกระดับทักษะด้านดิจิทัล

- ความร่วมมือด้านการเกษตร ส่งเสริมการสร้างโครงการสาธิตเทคโนโลยีการเกษตร การดำเนินโครงการสาธิตการเกษตรคุณภาพสูงและที่ให้ผลตอบแทนสูง และจัดตั้งนิคมความร่วมมือทางการเกษตร การเลี้ยงสัตว์และผลิตภัณฑ์ประมงให้มากขึ้น

 

          การรับรองและดำเนินการตามร่างแผนดำเนินการร่วมระยะ 3 ปีฯ จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิต อุตสาหกรรมและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ผลักดันความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานภายในอนุภูมิภาคแม่โขง - ล้านช้าง ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมการฟื้นตัวและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 13 สิงหาคม 2567

 

 

8356

Click Donate Support Web 

TOA 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!