ส่งออก ส.ค.67 พุ่งต่อ 7% บวก 2 เดือนติด รวม 8 เดือน เพิ่ม 4.2% ห่วงบาทแข็งฉุด
พาณิชย์ เผยการส่งออกเดือน ส.ค.67 มีมูลค่า 26,182.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 7% พลิกกลับมาเป็นบวก 2 เดือนติดต่อกัน เหตุส่งออกเพิ่มทั้งเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรม รวม 8 เดือน มูลค่า 197,192.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 4.2% ห่วงบาทแข็งกระทบส่งออกไตรมาส 4 แต่ยังคงเป้าทั้งปี 1-2% มีลุ้นเกิน 2% ด้วย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ส.ค.2567 มีมูลค่า 26,182.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7% กลับมาขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 939,521 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 25,917.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.9% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 941,019 ล้านบาท เกินดุลการค้า 264.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทขาดดุลการค้า มูลค่า 1,497 ล้านบาท
รวม 8 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) การส่งออก มีมูลค่า 197,192.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.2% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 7,068,821 ล้านบาท การนำเข้า มูลค่า 203,543.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 7,378,253 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 6,351.0 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 309,432 ล้านบาท
สำหรับ การส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 17.4% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 17.5% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 17.1% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์
ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และผักกระป๋องและผักแปรรูป ทั้งนี้ 8 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 5.6%
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 5.2% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ทั้งนี้ 8 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 4%
ทางด้านตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยตลาดหลัก เพิ่ม 5.7% ได้แก่ สหรัฐฯ เพิ่ม 3% จีน เพิ่ม 6.7% สหภาพยุโรป (27) เพิ่ม 26.4% อาเซียน (5) เพิ่ม 4.5% และ CLMV เพิ่ม 13.7% แต่ญี่ปุ่น ลด 11.3% ตลาดรอง เพิ่ม 7.9% โดยเอเชียใต้ เพิ่ม 22.8% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 34.6% แอฟริกา เพิ่ม 20.3% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 19.1% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 9.3% และสหราชอาณาจักร เพิ่ม 2.6% แต่ทวีปออสเตรเลีย ลด 14% ตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 106.8%
“การส่งออกเดือน ส.ค.2567 ที่เพิ่มขึ้น มีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนในหลายประเทศ ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคบริการในตลาดสำคัญ ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น สถานการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
กระตุ้นความต้องการสินค้าจากไทย และยังมีปัจจัยบวกจากค่าระวางเรือที่ลดลง โดยเฉพาะเส้นทางการขนส่งไปยังสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนลดลง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา”นายพูนพงษ์กล่าว
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่า จะเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกมาจากการคลี่คลายของภาวะเงินเฟ้อระดับสูงในหลายประเทศ การใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภค มีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหาร ค่าระวางเรือชะลอตัวลง ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์
แต่มีปัญหาที่ต้องจับตาและมีผลต่อการส่งออก คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ที่ประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกในไตรมาสที่ 4 รวมไปถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่แน่นอนสูง โดยกระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าทั้งปีจะส่งออกได้ตามเป้า 1-2% และมีโอกาสเกิน 2% เพราะเศรษฐกิจคู่ค้าหลักเริ่มฟื้นตัว เช่น สหรัฐฯ แต่ขอคงเป้าไว้ที่ 2% ก่อน โดยมีมูลค่าประมาณ 290,776 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือน ส.ค.2567 ที่ขยายตัวเป็นบวกได้ เป็นผลมาจากการทำงานหนักของภาครัฐและเอกชนที่ได้ร่วมมือกัน แต่ก็เป็นห่วงการส่งออกจากนี้ไป ที่จะทำได้ยาก เพราะเงินบาทแข็งค่า
ซึ่งตอนนี้กระทบเรื่องสภาพคล่องแล้ว เมื่อแปลงเป็นเงินบาทที่ได้เงินน้อยลง และจะกระทบต่อการสั่งซื้อในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. และไตรมาสแรกปี 2568 ที่จะขายได้ยากขึ้น แข่งขันได้ลดลง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาดูแล ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกมาก
ส่งออก ส.ค. บวก 7.0% กลับมาเกินดุล ขยายตัวในทุกหมวดสินค้า 🚢✈️🌏📊
การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2567 มีมูลค่า 26,182.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (939,521 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 7.0 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 6.6 การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา
โดยขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวสูง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมก็เติบโตได้ดี มีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนในหลายประเทศ ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคบริการในตลาดสำคัญ ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น
ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น กระตุ้นความต้องการสินค้าจากไทย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากค่าระวางเรือที่ลดลง
โดยเฉพาะเส้นทางการขนส่งไปยังสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนลดลง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ทั้งนี้ การส่งออกไทย 8 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 4.2 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.3
📊 มูลค่าการค้ารวม
💰 มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ
เดือนสิงหาคม 2567 การส่งออก มีมูลค่า 26,182.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.0 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 25,917.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.9 ดุลการค้า เกินดุล 264.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 197,192.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 203,543.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.0 ดุลการค้า 8 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,351.0 ล้านเหรียญสหรัฐ
💰 มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท
เดือนสิงหาคม 2567 การส่งออก มีมูลค่า 939,521 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.0 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 941,019 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.0 ดุลการค้า ขาดดุล 1,497 ล้านบาท ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 7,068,821 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 7,378,253 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.5 ดุลการค้า 8 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 309,432 ล้านบาท
📊 แนวโน้มการส่งออกในปี 2567
กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2567 จะเติบโตต่อเนื่อง ปัจจัยบวกที่สำคัญมาจากสัญญาณการคลี่คลายของภาวะเงินเฟ้อระดับสูงในหลายประเทศ และแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการบริโภคในตลาดโลก ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สอดคล้องกับนโยบายรักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศคู่ค้า และสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนทั่วโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตในหลายประเทศ นอกจากนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของอัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้าจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออกไทย
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจกระทบต่อการส่งออกไทยในระยะถัดไป อาทิ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัญหาอุทกภัยในประเทศที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทย เพื่อให้มั่นใจว่าการส่งออกจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไป
💾 ข้อมูลประกอบการแถลง: ในคอมเมนต์ด้านล่าง
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจการค้าก่อนใครที่
📌 LINE: @TPSO.tradeinsights
📌 Website : tpso.go.th