การบริจาคเงินเพิ่มทุนในกองทุนพัฒนาเอเชีย 14
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการบริจาคเงินเพิ่มทุนในกองทุนพัฒนาเอเชีย 14 (Asian Development Fund 14: ADF 14) (กองทุน ADF 14) ของประเทศไทย จำนวน 96,051,216 บาท โดยแบ่งชำระออกเป็น 4 งวด ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2571 (หากประเทศไทยสามารถชำระเงินภายในระยะเวลา 4 ปี ตามที่กำหนดจะได้รับส่วนลดที่อัตราร้อยละ 5.13 ของยอดเงินบริจาค คิดเป็นจำนวนเงิน 4,927,427 บาท ซึ่งจะทำให้ยอดเงินบริจาคหลังหักส่วนลดเท่ากับ 91,123,789 บาท) รวมทั้ง มอบหมายให้กระทรวงการคลัง (กค.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่ กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ADB ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 มีมติเห็นชอบให้เสนอสภาผู้ว่าการ ADB พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างมติการเพิ่มทุนในกองทุน ADF 14 (ร่างมติฯ) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 แนวทางการดำเนินงานของกองทุน ADF 14 เป็นไปตามยุทธศาสตร์ 2030 ของ ADB กรอบการดำเนินการด้านผลลัพธ์ และกรอบการดำเนินการด้านความพอเพียงของทุน โดยมุ่งเน้น 5ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ (2) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพภาคเอกชน (3) ส่งเสริมความร่วมมือและการบูรณาการด้านสินค้าสาธารณะในระดับภูมิภาค (4) การถ่ายทอดความรู้และการพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล และ (5) การให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีความเปราะบางและได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ
1.2 การบริจาคเงินเพิ่มทุนในกองทุน ADF 14 โดยมีประเทศสมาชิกบริจาค จำนวน 35 ประเทศ รวมเป็นเงิน 2,564 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (แบ่งเป็นประเทศในภูมิภาค 17 ประเทศ จำนวนเงินบริจาค 1,820 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเทศนอกภูมิภาค 18 ประเทศ จำนวนเงินบริจาค 744 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งในส่วนของประเทศไทยจะบริจาคตามขนาดสัดส่วนเดิมที่เคยบริจาคเพิ่มทุนในกองทุน ADF 13 ที่ประเทศไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 0.09 ของยอดเงินบริจาคจากประเทศสมาชิกทั้งหมด ทั้งนี้ประเทศไทยได้เข้าร่วมการบริจาคเงินเพิ่มทุนในกองทุน ADF มาแล้วจำนวน 7 ครั้ง (1 เมษายน 2540 19 มิถุนายน 2544 28 ธันวาคม 2547 26 สิงหาคม 2551 6 มีนาคม 2555 26 เมษายน 2559 23 มีนาคม 2564) โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ประเทศไทยเข้าร่วมบริจาค
1.3 การชำระเงินบริจาคในกองทุน ADF 14 ของประเทศไทย แบ่งชำระเงินบริจาคเป็นเวลา 4 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2571 ดังนี้
กำหนดชำระเงิน |
จำนวนเงิน (บาท) |
1 กรกฎาคม 2568 |
22,780,947 |
1 กรกฎาคม 2569 |
22,780,947 |
1 กรกฎาคม 2570 |
22,780,947 |
1 กรกฎาคม 2571 |
22,780,947 |
รวม |
91,123,789* |
* หมายเหตุ: ประเทศไทยมียอดบริจาค จำนวน 96,051,216 บาท ซึ่งเป็นการชำระเงินแบบปกติระยะเวลา 11 ปี แต่หากประเทศไทยสามารถชำระเงินภายในระยะเวลา 4 ปี ตามที่กำหนดจะได้รับส่วนลดที่อัตราร้อยละ 5.13 ของยอดเงินบริจาค คิดเป็นจำนวนเงิน 4,927,427 บาท ซึ่งจะทำให้ยอดเงินบริจาคหลังหักส่วนลดเท่ากับ 91,123,789 บาท
ทั้งนี้ การชำระเงินบริจาคดังกล่าวสามารถชำระเงินเป็นสกุลเงินบาท ส่งผลให้ประเทศไทยไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราการแลกเปลี่ยน สำหรับการชำระเงินบริจาคงวดที่ 1 กค. จะดำเนินการขอรับจัดสรรงบกลาง จากเงินงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ส่วนการชำระเงินบริจาคงวดที่ 2 – 4 ก.ค. จะเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2571 ต่อไป
2. เมื่อสภาผู้ว่าการ ADB เห็นชอบร่างมติฯ แล้ว ADB จะส่งร่างเอกสารยืนยันการบริจาค (Instrument of Contribution: IOC) ให้ประเทศผู้บริจาคเพื่อยืนยันจำนวนเงินที่ต้องการบริจาคอย่างเป็นทางการแก่ ADB และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามใน IOC เพื่อยืนยันจำนวนเงินที่ต้องการบริจาคอย่างเป็นทางการแก่ ADB และลงนามในตั๋วสัญญาใช้เงินคลังประเภทจ่ายเมื่อทวงถามและไม่มีดอกเบี้ย และนำส่งสำเนาให้แก่ ADB เพื่อใช้ในการเรียกชำระเงินบริจาคตามตารางการชำระเงินต่อไป
3. การบริจาคเงินเพิ่มทุนในกองทุน ADF 14 เป็นการรักษาจุดยืนของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศในฐานะการมีบทบาทเป็นประเทศผู้นำในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่มีฐานะยากจน รวมถึงแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ภายใต้กองทุน ADF 14 ยังมีโครงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมาผ่านองค์การสหประชาชาติ จำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศเพื่อนบ้านและอนุภูมิภาคในอนาคต
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 24 กันยายน 2567
9643