4 มิติแห่งสายสัมพันธ์ 'สนั่น'มองไทย-จีน 50 ปี ยิ่งแน่นแฟ้นตัดขาดไม่ได้
4 มิติแห่งสายสัมพันธ์ 'สนั่น'มองไทย-จีน 50 ปี ยิ่งแน่นแฟ้นตัดขาดไม่ได้
ไทย-จีน ไม่ใช่หุ้นส่วน แต่เป็น 'ครอบครัว' ความผูกพันธ์ทางใจที่ไม่มีวันตัดขาด เป็นเวลาถึง 50 ปีแล้วที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนไม่ได้ลดน้อยถอยลงไปนับตั้งแต่ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างสองประเทศที่ถือกำเนิดขึ้น
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 แม้เป็นเวลาที่สั้นหากเทียบกับชาติมหาอำนาจอื่นแต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนกลับแนบแน่นเป็นพิเศษดังสะท้อนจากคำกล่าวที่ว่า’ไทย-จีนไม่ใช่อื่นไกลแต่เป็นพี่น้องกัน’ที่คุ้นเคยมาแต่อดีตและหนาหูขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นอกจากการเป็น‘มหามิตร’ ที่มีความสนิทชิดเชื้อจีนยังกลาย เป็น ‘ต้นแบบ’ของไทยหลายอย่างภายในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาในฐานะชาติมหาอำนาจที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในทศวรรษ1990จนสามารถก้าวขึ้นมาแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาที่ฉายเดี่ยวอย่างโดดเด่นในเกมแห่งอำนาจ
อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ความแน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศกำลังถูกทดสอบอีกครั้งท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจโลกและแรงกระเพื่อมจากภูมิรัฐศาสตร์ใหม่
ในโอกาสนี้ 'เดลินิวส์' จึงขอนำเสนอมุมมองของความสัมพันธ์นี้ผ่านสายตาของนักธุรกิจไทยที่เข้าใจและคลุกคลีกับนักธุรกิจจีนมานานนับสิบปี
‘สนั่น อังอุบลกุล’ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการบมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมเมลามีนในจีนเมื่อกว่า 30 ปีก่อนเปิดเผยถึงมุมมองที่ลึกซึ้งว่า’จีน-ไทยไม่ใช่แค่หุ้นส่วนแต่คือครอบครัวเดียวกัน’
โดยความสัมพันธ์ไทย-จีนมีความพิเศษที่ไม่อาจเปรียบเทียบกับประเทศอื่นเพราะเป็นสายสัมพันธ์ที่ผสานกันใน4 ด้านหลักทั้ง ด้านเศรษฐกิจ ที่เริ่มต้นตั้งแต่สมัยอยุธยาไทยและจีนมีการค้าขายกันมายาวนานพ่อค้าชาวจีนเข้ามาตั้งรกรากและหลอมรวมเป็นคนไทยเชื้อสายจีนถึง20% ของประชากรในปัจจุบัน
ด้านวัฒนธรรม ที่ทุกวันนี้ประเพณีจีนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไทยเช่น ตรุษจีน ไหว้พระจันทร์และไหว้บ๊ะจ่างขณะที่ราชวงศ์ไทยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้วัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้งซึ่งเห็นได้ว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีได้เสด็จไปเยือนประเทศจีนมาแล้วกว่า50 มณฑลเช่นเดียวกับ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ที่ทรงโปรดดนตรี“กู่เจิง”
“ในหลายๆเรื่องแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของประเทศไทยราชวงศ์ รวมถึงรัฐบาลที่มีความสนิทสนมและมีความเข้าใจเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันกับจีนแม้ในด้านระบบการปกครองเราจะมีความแตกต่างกันก็ตาม”
นอกจากนี้ ยังมีความมั่นคง–การทูต:ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราชถึงสงครามเย็น จีนและไทยต่างเกื้อกูลกันจนกระทั่งปี 2518ที่เริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการรวมถึงความใกล้ชิดของประชาชน:หอการค้าไทย-จีนก่อตั้งมากว่า 100ปี ศาลเจ้าจีน และตระกูลแซ่ต่างๆ แสดงถึงความผูกพันที่ลึกซึ้งระดับครอบครัว
จากยากจนสู่โรงงานโลก :
'สนั่น' บอกว่า นี่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวแต่คือความผูกพันทางใจที่ไม่มีวันตัดขาดได้ พร้อมย้อนความหลังถึงการตั้งโรงงานเมลามีนแห่งแรกในปักกิ่งเมื่อ 30 ปีก่อน โดย’คืนนั้นมืดสนิท ไม่มีไฟไม่มีถนนที่ดี มีแต่จักรยานเต็มเมืองการแต่งกายมีแค่สีเดียวเป็นชุดจงซานยุคเหมาเจ๋อตุง’
และจำได้ว่าเมื่อบอกให้ผู้จัดการโรงงานไปสั่งอาหารก็มีอาการตัวสั่นแต่วันนี้จีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้เพราะความขยันและผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ทำให้ทุกวันนี้ จีน เปลี่ยนจากประเทศ’ยากจนที่สุด’สู่’โรงงานของโลก’ที่ผลิตสินค้าได้รวดเร็วมีคุณภาพ และต้นทุนต่ำที่สุดในโลกทั้งในด้านการแพทย์ อาวุธและอิเล็กทรอนิกส์
หากพูดถึงด้านเศรษฐกิจต้องยอมรับว่าไม่มีใครเทียบจีนได้จนถึงปัจจุบันต้องเรียกว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าป้อนตลาดโลกที่มีต้นทุนต่ำที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดแม้ในบางส่วนยังจำหน่ายสินค้าด้อยคุณภาพแต่ในด้านที่มีคุณภาพอย่างสินค้าทางการแพทย์หรือหากพูดถึงอาวุธอุปกรณ์ไม่ได้แพ้ใคร
30 ปีที่แล้ว ศรีไทยฯนอกเหนือจากลงทุนภาชนะจานชามในปักกิ่งแล้วยังเป็นหุ้นส่วนกับพันธมิตรชาวฮ่องกงสร้างโรงงานผลิตของเด็กเล่นรายแรกในไทยชื่อว่าไทยทอย…ยุคนั้นใครที่อยู่ในอุตสาหกรรมของเด็กเล่นถือว่าเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่มากแต่หลังจากที่จีนมีการเปิดประเทศขณะนั้นแรงงานที่ผลิตของเล่นไม่เพียงพอ
และไทยยังเป็นตลาดที่เล็กมากจึงได้ตัดสินใจย้ายกลับไปทำตลาดในจีนโดยลงทุนสร้างโรงงานที่เซินเจิ้นจากคนงาน 100 คนภายใน 10 ปีคนงานเพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นคน ซึ่งจะเห็นว่าความรวดเร็วของจีนสุดยอดมากแม้ภาษาอังกฤษไม่ดีแต่เนื่องจากมีความสามารถส่งสินค้าได้ตามต้องการคุณภาพดี ราคาถูก และค่าแรงถูกจึงทำเงินได้อย่างน่าทึ่งมาก
โอกาสในสมรภูมิเศรษฐกิจใหม่ :
ในยุคที่จีนเผชิญกับสงครามการค้ากับสหรัฐ’สนั่น’มองว่า ไทยคือ ฐานการผลิตทางเลือกที่สำคัญผ่านโครงการอีอีซีหรือพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษโดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จีนให้ความสนใจมากที่สุดเห็นได้จากในปี 67 จากสถิติข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)พบว่า 1 ใน 3 ประเทศที่มาลงทุนในไทยมากที่สุดคือ สิงคโปร์ ฮ่องกง และจีน
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทุนจีนถึง 73% ของต่างชาติที่มาลงทุนในไทยโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้า(EV)ที่จีนลงทุนในไทยแล้วประสบความสำเร็จอย่างสูงแต่ไทยต้องไม่เป็นแค่ฐานการผลิตแต่ควร ‘เรียนรู้เทคโนโลยีสร้างซัพพลายเชน และจ้างงานคนไทย’เพื่อให้การลงทุนยั่งยืนโดยอย่าเป็นแค่ทางผ่านของเงินทุนแต่ต้องเป็นผู้ร่วมเดินทางไปสู่อนาคต
ต้องแฟร์จริงไม่ใช่ฟรี :
'สนั่น' กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าปัญหาสินค้าจีนราคาถูกบางส่วนไม่ได้มาตรฐานและไม่เสียภาษีจากการขายออนไลน์ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งสองประเทศดังนั้นจำเป็นที่ไทยต้อง’ส่งสัญญาณชัดเจน’ ถึงจีนว่าต้องมีการแข่งขันที่ยุติธรรมซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจีนและรัฐบาลไทยพร้อมที่จะจัดการจัดระเบียบการค้าการลงทุนเพื่อให้สามารถเติบโตไปพร้อมกันและต่อยอดไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตได้ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสร้างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆเพื่อให้ไทยไม่กลายเป็น’เสือหลับ’ ที่ตกขบวนเศรษฐกิจโลก
ร่วมทุน–เรียนรู้–เติบโต :
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรเปิดใจร่วมทุนกับจีนโดยดึงจุดแข็งอย่าง'ความเร็วในการผลิต'และ 'เทคโนโลยีล้ำสมัย'มาประยุกต์เข้ากับแรงงานไทยเช่นเดียวกับที่เคยเรียนรู้จากญี่ปุ่นในอดีตจนทุกวันนี้ประเทศไทยเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ผลิตและส่งออกสินค้าซึ่งหากมีจีนเข้ามาลงทุนก็สามารถทำการค้าแบบผสมผสานเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศได้
ปีแห่งมิตรภาพที่แท้จริง :
สุดท้าย 'สนั่น' ได้กล่าวว่าทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนทุกฝ่ายจึงต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนให้อยู่อย่างใกล้ชิดแน่นแฟ้นเช่นเดียวกับความสัมพันธ์ในหลายด้านที่ไม่มีทางตัดขาดกันได้ และในโอกาสฉลองความสัมพันธ์ 50 ปีระหว่างไทย-จีนยังจะมีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญ คือ การเสด็จเยือนประเทศจีนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีซึ่งจะเป็นกษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์จักรีที่เสด็จเยือนจีนอย่างเป็นทางการ
ความสัมพันธ์ในทุกระดับเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นระหว่างชาวไทยและชาวจีนมีแต่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นและจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทุกมิติที่สามารถช่วยกันทำได้และปีนี้ทางหอการค้าไทยร่วมกับเครือข่ายชาวไทยเชื้อสายจีนยังได้สร้าง ‘ซุ้มประตูวชิรสถิต 72 พรรษา’ และ’วชิรธำรง 72พรรษา’พร้อมรับมอบประติมากรรมจากรัฐบาลจีนเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสายสัมพันธ์นิรันดร์
สายสัมพันธ์ไทย-จีนในวันนี้ไม่ได้ยืนอยู่แค่บนพื้นฐานของการค้าแต่เป็นความผูกพันในทุกมิติจากบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน จากคนธรรมดาสู่ราชวงศ์และรัฐบุรุษจนถึงตอนนี้ เราเอื้อเฟื้อสนับสนุนกันดั่งคำที่ว่า… ‘จงไท่อี้เจียชิน จีน–ไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน’
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2568