รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบ รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และเห็นชอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และสำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการในระยะต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานว่า
1. พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2565 โดยมาตรา 165 บัญญัติให้ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ภายในวันที่ 16 ตุลาคม 2567) ให้ประธาน ก.พ.ร. เชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาร่วมกันพิจารณา เพื่อดำเนินการให้หน่วยงานดังกล่าวรับผิดชอบในการป้องกันและปราบปราม การสืบสวน และการสอบสวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายนั้นๆ ทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่จะได้ตกลงกัน โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและการบูรณาการในการปฏิบัติหน้าที่และการแบ่งเบาภารกิจของ ตช. โดยให้สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานความคืบหน้าต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบทุกสามเดือน
2. การดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 มีความคืบหน้าการดำเนินการ คือ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการหารือร่วมกันระหว่าง ทส. กรมประมง กษ. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อก. ตช. และ สคก. เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการและความพร้อมในการรับโอนภารกิจการป้องกันและการปราบปราม การสืบสวน และการสอบสวน การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีผลการหารือ ดังนี้
2.1 ภารกิจที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมรับโอนจาก ตช. เพิ่มเติม
2.1.1 กฎหมายว่าด้วยการประมง ภายใต้กรอบกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ. 2482 และพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ของ กษ. เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
กรมประมงพิจารณาแล้วเห็นว่า มีความพร้อมในการรับโอนภารกิจในการป้องกัน การปราบปราม การสืบสวน (ก่อนการจับกุม) และการจับกุมได้ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจภายใต้ความรับผิดชอบของกรมประมงที่ปฏิบัติเดิมอยู่แล้ว ทั้งนี้ เห็นควรยังคงให้ตำรวจช่วยดำเนินการในกรณีปฏิบัติการในภารกิจฉุกเฉิน เร่งด่วน หรือปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง
2.1.2 กฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอื่น คือ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ของ อก. เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่พิจารณาแล้วเห็นว่า มีความพร้อมในการรับโอนภารกิจในการป้องกัน การปราบปราม การสืบสวน (ก่อนการจับกุม) และการจับกุมได้ ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจภายใต้ความรับผิดชอบของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ที่ปฏิบัติเดิมอยู่แล้ว ทั้งนี้ เห็นควรยังคงให้ตำรวจช่วยดำเนินการในกรณีปฏิบัติการในภารกิจฉุกเฉิน เร่งด่วน หรือปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง
2.2 ภารกิจที่ควรคงไว้ที่ ตช.
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2515 (กิจการประปาสัมปทาน) ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในสถานประกอบกิจการ ยึดหรืออายัดเอกสารหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไว้เพื่อประกอบการดำเนินคดีได้
ทส. พิจารณาแล้วเห็นว่า ภารกิจดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา จึงเห็นควรคงภารกิจการป้องกัน การปราบปรามการสืบสวน และการสอบสวนการกระทำความผิดให้ตำรวจปฏิบัติต่อไป
3. การดำเนินการในระยะต่อไป
เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติพ.ศ. 2565 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เห็นควรดำเนินการ ดังนี้
3.1 ให้ ตช. เร่งรัดดำเนินการปรับโครงสร้างและอัตรากำลังของ บก.ปทส. ให้สอดคล้องกับภารกิจที่ลดลง และเกลี่ยอัตรากำลังพลไปปฏิบัติงานในภารกิจที่ขาดแคลนและมีความจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งให้ ตช. ยกร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อยุบหรือเปลี่ยนแปลง บก.ปทส. ให้สอดคล้องกันให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเมษายน 2567 ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกำหนดเวลาตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565
3.2 ให้ กษ. และ อก. จัดทำแนวปฏิบัติการทำงานสำหรับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานภายใต้กรอบกฎหมายว่าด้วยการประมง และพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ที่รับโอนจาก ตช. เพิ่มเติมภายในเดือนเมษายน 2567 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ และให้สำนักงาน ก.พ.ร. ติดตามประเมินผลการดำเนินงานเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
3.3 ให้สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมร่วมกันระหว่างประธาน ก.พ.ร. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดขั้นตอนการถ่ายโอนการป้องกัน การปราบปราม การสืบสวน (ก่อนการจับกุม) และการจับกุมการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ ทส. กษ. และ อก. ภายใต้กรอบกฎหมายตามที่ได้ข้อยุติร่วมกัน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 6 สิงหาคม 2567
8195